The Woman in the House.. อวสานชะนีข้างบ้านจอมเผือกทาง Netflix

The Woman in the House.. อวสานชะนีข้างบ้านจอมเผือกทาง Netflix

The Woman in the House.. อวสานชะนีข้างบ้านจอมเผือกทาง Netflix
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ซีรีส์ความยาว 8 ตอนว่าด้วย สาวม่ายที่บังเอิญพลันเห็นคนบ้านตรงข้ามถูกปาดคอเลือดสาดกระจาย แต่พอแจ้งตำรวจให้มาตรวจตรากลับกลายเป็นว่าไม่พบอะไร จนกลายเป็นว่าสาวเจ้าโดนข้อหาแจ้งความเท็จ ว่าแต่ตกลงแล้วนางเห็นจริงหรือคิดไปเองกันแน่นะ!

แอนนา (คริสเทน เบลล์) จิตรกรหญิงที่กำลังเผชิญมรสุมของชีวิตหลังจากที่เธอตัดสินใจแยกทางกับสามี เพราะความตายอันแสนเหวอรับประทานของลูกสาวตัวเอง หลังจากที่เธอตรอมใจอยู่กับตัวเองและบรรดาไวน์แดงอันเปรียบเสมือนเพื่อนคู่ใจยามเศร้า จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนบ้านคนใหม่อย่างนีล (ทอม ไรลีย์) คุณพ่อสุดเข้มพร้อมลูกสาวได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านตรงข้าม

กิจวัตรประจำวันของแอนนามักจะวนเวียนอยู่กับการอ่านนิยายฆาตกรรม พลางแอบมองเพื่อนบ้าน พูดง่ายๆว่านางเองก็ชอบเผือกส่องเพื่อนบ้านตัวเองแก้เซ็งไปวันๆ ตามประสา จนกระทั่งวันหนึ่งเธอพบว่าหนุ่มบ้านตรงข้ามกำลังคบหาดูใจอยู่กับลิซ่า (เชลลีย์ เฮนนิก) แฮร์โฮสเตสที่ดูจะไม่ชอบขี้หน้าแอนนาสักเท่าไหร่ จนตัวแอนนาเองก็สัมผัสได้ถึงรังสีอำมหิตจนเจ้าหล่อนก็อยากจะสาปส่งให้นางมารหัวใจตายตกไปตามๆกัน

ใครจะไปคิดว่าไม่กี่วันต่อมาแอนนาจะพลันเห็นฉากระทึกขวัญ ผ่านหน้าต่างบานกระจกของตัวเองเมื่อลิซ่าโดนเชือดคอดิ้นทุรนทุรายที่บ้านของนีล คร้านจะข้ามไปช่วยแอนนาก็มีอาการของโรคกลัวฝน จนเมื่อเธอตัดสินใจแจ้งตำรวจกลับกลายเป็นว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางมาถึงที่บ้านของนีลกลับไม่พบร่างของลิซ่าและทำให้นีลเองหัวเสียกับแอนนาอย่างมาก ทุกอย่างได้นำไปสู่การคลี่คลายปริศนาเมื่อแอนนาเริ่มสวมบทนางนักสืบเพื่อคลี่คลายเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น

The Woman in the House Across the Street from the Girl in the Window ชื่อเต็มๆของซีรีส์ที่ยาวเฟื้อยประหนึ่ง รวมบรรดาหนังตัวละครจอมเผือกแอบถ้ำมองเพื่อนบ้านตัวเองจนนำเรื่องราวระทึกขวัญมาใส่กบาลของตัวเอง โดยจุดเริ่มต้นของหนังในสไตล์นี้คงต้องย้อนกลับไปไกลถึงปี 1954 ผลงานการกำกับของอัลเฟรด ฮิชคอกเรื่อง Rear Window บอกเล่าเรื่องราวของตากล้องหนุ่มที่ขาหักจนต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ติดอยู่ในอพาร์ทเมนต์ของตัวเอง จนกระทั่งเขาเริ่มหากิจกรรมแก้เบื่อด้วยการเอากล้องถ่ายรูปของตัวเองไล่ซูมสอดส่องเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม จนกระทั่งเขาได้ไปรู้เห็นเหตุการณ์ฆาตกรรม

ด้วยสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้หนังได้สร้างข้อจำกัดบางประการให้ตัวละครต้องกลายเป็นบุคคลที่สาม ที่ทำได้เพียงสอดส่องตัวละครอื่นและตัวหนังเองยังดำเนินเรื่องราวทั้งหมดผ่านจากห้องของตัวเอกเพียงฉากเดียวเท่านั้น (Single Set) ซึ่งเรียกได้ว่าแปลกใหม่ โดดเด่น ล้ำสมัยมากในยุคนั้น

จนกระทั่งปีก่อนผู้กำกับอย่าง โจ ไรท์ ตัดสินใจที่จะดัดแปลงวรรณกรรมเรื่อง The Woman in the Window ผลงานการเขียนของเอ.เจ.ฟินน์ มาเป็นภาพยนตร์ โดยตัวเรื่องราวนั้นเล่าถึงแอนนา ฟ็อกซ์ที่เป็นโรคกลัวสังคมจนไม่กล้าออกนอกบ้าน กิจกรรมยามว่างคือการสอดแนวเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม จนกระทั่งเธอพลันเห็นเหตุการณ์ฆาตกรรมสุดระทึก จะเห็นได้ว่าวิธีการเล่าเรื่องนั้นมีเอกลักษณ์และสไตล์ที่ได้อิทธิพลมาจาก Rear Window แบบเต็มๆ

ตอนแรก The Woman in the Window มีโปรแกรมจะฉายจอใหญ่แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้สตูดิโอฟ็อกซ์ตัดสินใจขายหนังเรื่องนี้ให้กับทาง Netflix และหลังจากที่หนังได้ฤกษ์ปล่อยฉายทางสตรีมมิ่ง บรรดาคำวิจารณ์ในแง่ลบก็รุมถล่มหนังชนิดเละเทะ มิหนำซ้ำล่าสุดหนังยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลราซซี่อวอร์สร่วม 5 รางวัลไม่ว่าจะเป็นสาขาภาพยนตร์ยอดแย่ นักแสดงนำหญิงยอดแย่ ภาคต่อหรือสร้างใหม่ยอดแย่ ผู้กำกับยอดแย่ และบทภาพยนตร์ยอดแย่อีกต่างหาก

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์ The Woman in the House Across the Street from the Girl in the Window จึงเป็นความพยายามยั่วล้อกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง The Woman in the Window ด้วยการเอาสภาพตัวละครที่มีปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตมาขยี้ให้หนักข้อมากกว่าเดิมด้วยมุกตลกร้าย และการสร้างปมตกค้างในจิตใจในระดับที่คนดูเองก็คาดไม่ถึงว่าหนังจะกวนโอ้ยเบอร์นี้

นอกจากความพยายามจะจิกกัดสูตรสำเร็จของหนังตัวละครขี้เผือก และการสร้างปมระทึกขวัญว่าตกลงแล้วตัวเอกของเรื่องมีอาการทางจิตหรือว่าจริงๆแล้วเหตุการณ์ฆาตกรรมได้เกิดขึ้นจริงและมี “ใครสักคน” ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมดนี้ ตัวซีรีส์จึงพาผู้ชมร่วม “เผือก” ไปกับตัวเอกอย่างแอนนา ว่าเธอจะพยายามคลายปมปริศนา หรือว่าสร้างข้อแก้ต่างให้กับตัวเองขึ้นมาใหม่กันแน่

สิ่งที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้สนุกสนานจรรโลงใจเกินคาด คือการแสดงของคริสเทน เบลล์ที่มีความน่ารักในตัวเองเป็นทุนเดิม ซึ่งตัวละครแอนนาเป็นคาแรกเตอร์ที่ยืนอยู่บนเส้นแบ่งของความน่ารำคาญกับความน่าสนใจ ซึ่งถ้าเล่นเกินเบอร์ไปมากกว่านี้ ผู้ชมคงหมดความอดทนไปกับตัวละครก่อนที่เรื่องราวทั้งหมดจะคลี่คลายลงในตอนท้าย

ข้อดีประการสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้คือมีความยาวแค่เพียง 8 ตอนและแต่ละตอนนั้นความยาวไม่เกิน 30 นาที ซึ่งสั้นกระชับไม่เยิ่นเย้อจนเกินไป เรียกว่าไม่กี่ชั่วโมงก็ดูรวดเดียวจบได้โดยไม่ต้องอดหลับอดนอนเป็นหมีแพนด้ากว่าจะรู้ว่าคนร้ายตัวจริงของเรื่องคือใครกันแน่

ใครที่ชอบซีรีส์แนวสืบสวน แกะรอบปมปริศนา ก็ไม่ควรพลาดนะจ๊ะ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook