One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ แด่นิยามของคำว่า "เพื่อน" ?

One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ แด่นิยามของคำว่า "เพื่อน" ?

One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ แด่นิยามของคำว่า "เพื่อน" ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางกระแสภาพยนตร์ที่ดูเหมือนว่าจะมีทั้งฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบ One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ เหนืออื่นใดคือ หนังเรื่องนี้มีจุดเด่นที่สำคัญประการใหญ่ นั่นคือการพาคนดูไปสำรวจแก่นของคำว่า “มิตรภาพ” ระหว่างสองตัวเอก และคุณล่ะ เห็นสิ่งเหล่านี้แบบที่เราเห็นหรือเปล่า

One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ “บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” และได้ผู้กำกับระดับตำนานอย่าง “หว่องกาไว” มานั่งแท่นเป็นอยู่อำนวยการสร้าง นอกจากนี้ตัวหนังยังไปคว้ารางวัล World Dramatic Special Jury Award จาก Sundance Film Festival 2021 มาแล้วอีกด้วย

One for the Road หรือ วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ บอกเล่าเรื่องราวของอู๊ด (ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) พบว่าตัวเองอยู่ในสภาพใกล้ตาย หลังจากที่การทำคีโมบำบัดเพื่อรักษามะเร็งไม่ช่วยให้เขาอาการดีขึ้น มิหนำซ้ำเขาเองยังรู้สึกว่า “กรรมพันธุ์” ดังกล่าวที่ถูกส่งต่อมาจากพ่อของเขาเอง จะทำให้อายุขัยของเขาน่าจะสิ้นสุดในอีกไม่ช้า

เมื่ออู๊ดรู้ตัวว่าโอกาสในการใช้ชีวิตจะเหลืออีกไม่นานนัก เขาจึงตัดสินใจไล่โทรศัพท์หาคนที่เขารู้จักในชีวิต แต่มีไม่กี่คนที่เขาจัดลำดับความสำคัญเอาไว้ให้เป็นบุคคลพิเศษ โดยตัวอู๊ดเองอยากจะพบหน้าข้าตาแบบตัวเป็นๆ คงหนีไม่พ้นบรรดาแฟนเก่าของตัวเองที่จบสิ้นความสัมพันธ์ไปแล้ว เขาจึงโทรศัพท์ไปร้องขอบอส (ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร) เพื่อนสนิท ซึ่งเปิดกิจการร้านบาร์เหล้าค็อกเทลในมหานครนิวยอร์กให้ช่วยปิดร้านเป็นการชั่วคราว เพื่อมาช่วยเขา “ขับรถ” พาอู๊ดเดินทางขึ้นเหนือลงใต้ไปหาบรรดาแฟนเก่า เพื่อกล่าวคำขอโทษและบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย

คนดูจึงได้เข้าใจทันทีว่าความสัมพันธ์ระหว่างอู๊ดและบอสนั้น เรียกได้ว่าน่าจะเป็นมิตรแท้ในระดับเพื่อนรัก ที่ยอมละทิ้งกิจการของตัวเองกลับมาเพื่อเป็นขุมกำลังใจให้เพื่อนตัวเอง ออกเดินทางไปขอโทษแฟนเก่า แน่นอนมันอาจจะดูเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อนชายที่ดูทรงพลัง แต่ในขณะเดียวกันมันจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วทำไมคนอย่างอู๊ดที่อยากจะเดินทางไปขอโทษแฟนเก่า จึงทำให้เรื่องง่ายๆต้องกลายเป็นภาระของเพื่อนคนสนิทถึงขนาดต้องบินข้ามซีกโลกมา เพื่อกิจเช่นนี้ หากเราพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่า สิ่งที่อู๊ดกำลังทำอยู่นั้นเป็นความเห็นแก่ตัวของเขาหรือเปล่า

แฟนคนแรกที่อู๊ดร้องขอให้บอสเดินทางไปพบ คืออลิซ (พลอย หอวัง) เจ้าของโรงเรียนสอนเต้น โดยช่วงเวลาที่ทั้งสองคบหากัน แม้จะจบลงอย่างไม่ค่อยราบรื่น แต่ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของแฟนคนนี้ ดูจะไม่มาคุและไม่เผาพริกเกลือกันเท่าหนูนา (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ซึ่งตอนนี้เธอได้กลายเป็นดาราละครไทยที่กำลังได้รับความนิยม ส่วน รุ้ง (นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) ช่างภาพหญิงที่ตอนนี้ได้แต่งงานมีครอบครัวและลูกสาวแล้ว ก็ดูเหมือนว่าเธอไม่อยากจะพบหน้ากับอู๊ดสักเท่าไหร่

เบี้ยบ้ายรายทาง เราอาจจะเห็นความพยายามแก้ไขความผิดของอู๊ดตลอดการเดินทางไปขอโทษเหล่าบรรดาแฟนเก่า ในขณะเดียวกันหนังได้พยายามใส่ฉากย้อนเวลากลับไปสู่ห้วงคำนึงที่อู๊ดได้ใช้ชีวิตอยู่กับอลิซ หนูนา และพี่รุ้ง ว่าทำไมคนอย่างอู๊ดจึงเลือกที่จะจดจำเหตุการณ์สำคัญเหล่านั้นเอาไว้

จากบรรทัดนี้ไปมีการเปิดเผยเหตุการณ์สำคัญในภาพยนตร์ ผู้ที่ยังไม่ได้รับชมควรปิดบทความหรืออ่านจุดนี้ไปเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังมากขึ้นก็ได้

 

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งเรื่องแรก เป็นเหมือนส่วนเติมเต็มให้กับเรื่องราวในช่วงครึ่งหลัง เมื่อหนังหันกลับมาเล่าเรื่องราวของบอส ที่ดูเหมือนเป็นตัวละครสมทบให้กับอู๊ดในช่วงครึ่งแรก ว่าจริงๆแล้วแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้บอสไปใช้ชีวิตเป็น “เด็กนอก” นั้นเริ่มต้นขึ้นจากจุดไหน

หนังพาเราย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่แม่ของบอส (รฐา โพธิ์งาม) ที่ตัดสินใจแต่งงานกับเจ้าของโรงแรมชื่อดังในพัทยา โดยเธอได้ตกลงกับลูกชายอย่างบอสว่าให้เรียกเธอว่าเป็นพี่สาวไม่ใช่ “แม่” เราพอจะคาดเดาได้ว่าด้วย “สถานภาพทางอาชีพ” ของแม่บอสนั้น คงจะดีกว่าถ้าหากเธอกลายเป็นพี่สาว มากกว่าเป็นแม่ที่มีลูกชายติดสอยห้อยตามมาด้วยหนึ่งคน และเมื่อมองในแง่ของฝั่งสามีนักธุรกิจ การจดทะเบียนสมรสน่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับการชุบตัวครั้งใหม่ครั้งนี้

แม้จะเป็นฉากสั้นๆที่ชี้ชวนให้คนดูตีความไปต่างๆนานา แต่การที่ตัวบอสถูกผลักไสไล่ส่งทางอ้อมจากครอบครัวใหม่ น่าจะเป็นปมเล็กๆในจิตใจที่ทำให้ตัวละครนี้ “เหงา” กว่าที่คิด เมื่อเขาอยากจะลิ้มลองรสชาติของค็อกเทล ทั้งที่ตัวเองอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่เมื่อเขาได้พบกับพริม (วี-วิโอเลต วอเทียร์) ผู้หญิงรุ่นพี่คนนี้จึงเป็นทั้งคนที่เปิดโลกให้กับบอสและยังเป็นความรักที่เขาโหยหามาตลอดชีวิตด้วย

จุดพลิกผันประการสำคัญคือห้วงเวลาที่บอสและพริมเดินทางไปอยู่ที่นิวยอร์ก เพื่อทำตามความฝันของตัวเอง บอสเดินทางมาเรียนต่อในขณะที่พริมก็ใฝ่ฝันที่จะบาร์เทนเดอร์ที่มีฝีมือในระดับโลก ซึ่งตรงจุดนี้เองที่หนังเริ่มเผยความสัมพันธ์ระหว่าง บอส พริม และอู๊ดในแบบที่เราเองก็คาดไม่ถึงเช่นกัน

สิ่งที่ตัวอู๊ดกระทำต่อบอสและพริมเอง มองมุมหนึ่งอาจจะเป็นความเห็นแก่ตัว แต่ด้วยความเป็นวัยรุ่นและคิดตื้น ว่าเขาอยากจะลองใช้ชีวิตในแบบที่บอสเป็น (มีคนส่งเงินมาให้ใช้โดยไม่ต้องเหนื่อยยากตรากตรำนัก) เมื่อเทียบกับชีวิตของเขาเองที่ต้องหารายได้พิเศษจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร แต่ถึงอย่างนั้น หนังก็ทำให้คนดูพอจะเข้าใจได้ว่า ตัวอู๊ดเองก็รู้สึกผิดและเป็นตราบาปอยู่ในใจเขาเสมอมา และเมื่อเขารู้ว่าเวลาในชีวิตอันสั้นงวดและใกล้จะหมดลง สิ่งที่เขาอยากจะสารภาพเพื่อไม่เหลือให้สิ่งเหล่านี้ติดค้างในใจก่อนจะลาโลกนี้ไปก็ตาม

แม้ปลายทางของเรื่องเราอาจจะไม่รู้อย่างแน่ชัดก็ตามทีว่าบอส “ยกโทษ” ให้กับอู๊ดหรือไม่ แต่ม้วนเทปจัดรายการที่เปรียบเสมือนจดหมายบอกลาครั้งสุดท้ายของอู๊ดที่ถูกส่งตรงมาให้บอสฟังนั้น อย่างน้อยมันก็ทำให้เราได้เข้าใจว่าชีวิตมนุษย์เรานั้นช่างสั้นเหลือเกินที่จะโกรธเกลียดกัน หรือแม้กระทั่งคำขอโทษที่เป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกินที่ใครสักคนจะพูดมันออกมา และปล่อยให้เรื่องราวคาราคาซังบานปลายไม่รู้จบ 

ความเห็นแก่ตัว ความผิดพลาด ล้วนแล้วแต่กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ตัวละครอย่างอู๊ดอาจจะเคยเป็นเพื่อนรักของบอสในห้วงเวลาหนึ่ง ถามว่าเขาเป็นมิตรแท้หรือไม่ บอสเองอาจจะรู้สึกเช่นนั้นในยามที่เขาไม่เหลือใคร แต่สำหรับอู๊ดในช่วงเวลาดังกล่าวบอสเปรียบได้กับมิตรภาพที่มาพร้อมผลประโยชน์ แต่เมื่อวันสุดท้ายของชีวิตมาถึงอู๊ดก็รู้ดีว่า สิ่งที่เขาควรจะทำนั้น คือการ “ขอโทษ” เพื่อน เป็นครั้งสุดท้ายนั่นเอง ว่าสิ่งที่เขาเคยทำลงไปกับคนรอบตัวนั้นมันผิด!

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ ของ One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ แด่นิยามของคำว่า "เพื่อน" ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook