รีวิว A Man and A Woman เปลือยอารมณ์รักของ กงยูและจอนโดยอน
ผลงานหนังเกาหลีนำแสดงโดยสามีแห่งชาติ กงยู ประกบกับจอนโดยอน ดัดแปลงมาจากหนังฝรั่งเศสในชื่อเดียวกัน มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของตัวละครหลายอย่าง ที่สำคัญคือหนังให้อารมณ์เปลี่ยวเหงามากกว่าจะโรแมนติก!
A Man and A Woman นั้นดัดแปลงมาจากหนังฝรั่งเศสเรื่อง Un homme et une femme ในปี 1966 ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์มาสองรางวัลด้วยกันคือสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพ่อม่ายและแม่ม่ายที่ตกหลุมรัก ซึ่งทั้งสองคนล้วนต้องฝ่าฟันอดีตอันเลวร้ายของตัวเองเพื่อเริ่มต้นความรักครั้งใหม่
สำหรับเวอร์ชั่นเกาหลีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตัวละครที่ตัวเอกทั้งสองคนยังมีครอบครัวเป็นปกติดีโดยกีฮง (กงยู) ได้พบกับซังมิน (จอนโดยอน) ทั้งคู่ได้เดินทางมาส่งลูกๆของตัวเองในแคมป์เด็กพิเศษที่ประเทศฟินแลนด์ ด้วยความเป็นคนชาติเดียวกันกีฮงจึงอาสาให้ซังมินติดรถเพื่อเดินทางกลับ แต่เมื่อหิมะตกหนักจนไม่สามารถเดินทางต่อได้ ทั้งคู่จึงต้องแวะพักโรงแรมระหว่างทาง ด้วยความเปลี่ยวเหงาและอารมณ์ปรารถนาบางอย่างทั้งสองคนจึงมีเซ็กส์กัน ก่อนที่วันรุ่งขึ้นต่างฝ่ายจะแยกจากกันไปใช้ชีวิตของตัวเองโดยที่ทั้งสองไม่รู้กระทั่งชื่อและที่อยู่ของกันและกันด้วยซ้ำไป
เมื่อเวลาผ่านเลยไป ทั้งสองได้หวนกลับมาพบกันที่ประเทศเกาหลีใต้อีกครั้ง ทั้งสองจึงกลับมาพยายามสานสัมพันธ์กันแบบลับๆ ราวกับว่าทุกครั้งที่กีฮงได้พบกับซังมิน สิ่งที่เรียกว่า “ความสุข” จะกลับเข้ามาในชีวิตของพวกเขาทั้งสองอีกครั้ง
ผู้ชมจะได้เห็นสภาพชีวิตครอบครัวของตัวละครทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งกีฮงที่ดูเหมือนเขาจะไม่มีความสุขเมื่อต้องอยู่กับภรรยาของตัวเองสักเท่าไหร่ แม้ว่าจะเขาจะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่อบอุ่นเสมอก็ตาม ทางฝั่งซังมินเองลูกชายของเธอที่มีภาวะออทิสติก ทำให้ชีวิตของเธอมีภาระมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว และดูอิดโรยกับชีวิตมากเหลือเกิน
หน้าที่การงานของกีฮงและซังมินจัดได้ว่าทั้งคู่เป็นชนชั้นกลางที่มีอาชีพที่รายได้สูง ฝ่ายชายเป็นสถาปนิก ส่วนฝ่ายหญิงเป็นผู้จัดการแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจจะเติมเต็มความสุขในชีวิตของพวกเขาได้เลย เมื่อสบโอกาสกีฮงจึงพยายามหาเวลามาเจอซังมินอยู่เสมอ ที่แม้เขาอาจจะพูดว่าเป็น “ความบังเอิญ” แต่จริงๆแล้วเขาโหยหาและปรารถนาห้วงเวลาแบบที่ทั้งคู่ได้มีกันและกันในฟินแลนด์ฉันใดฉันนั้น
คงต้องบอกว่า A Man and A Woman เป็นผลงานที่ขายการแสดงของสองพระนางล้วนๆ เพราะทั้งคู่พาผู้ชมดำดิ่งไปสู่ห้วงอารมณ์ของตัวละครที่เรียกได้ว่า ทั้งเหงา เปล่าเปลี่ยวและต้องการใครสักคนที่จะมาเติมเต็มชีวิตอันแสนไร้สิ้นความสุขสักที การที่หนังปรับเปลี่ยนประเด็นให้ตัวละครทั้งคู่มีครอบครัวแล้ว ยิ่งทำให้ฉากตอนจบของหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยความหม่นเศร้าที่ไม่ฟูมฟาย เมื่อบางครั้งต่อให้เราจะรักและมีใจให้กับอีกฝ่ายมากแค่ไหน บางครั้ง “หน้าที่” ของการดำรงไว้ซึ่งคำว่า “ครอบครัว” ก็ค้ำคออยู่ไม่น้อยเช่นกัน
A Man and A Woman เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้ววันนี้ (แต่รอบฉายอาจจะน้อยหน่อย)