The Hand of God: หัตถ์พระเจ้า (สาขาอิตาลี) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

The Hand of God: หัตถ์พระเจ้า (สาขาอิตาลี) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

The Hand of God: หัตถ์พระเจ้า (สาขาอิตาลี) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพยนตร์อิตาเลียนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศปีนี้ The Hand of God เป็นหนังใหม่ของผู้กำกับ เปาโล ซอเรนติโน คนทำหนังอิตาเลียนที่โด่งดังในระดับนานาชาติมานับสิบปี กลายเป็นหน้าเป็นตาของศิลปินภาพยนตร์อิตาลีร่วมสมัย ทั้งตามงานเทศกาลหนังต่างๆ รวมทั้งเขาเคยได้รับรางวัลออสการ์สาขาเดียวกันนี้ไปแล้วเมื่อปี 2014 จากหนังเรื่อง The Great Beauty

 ไม่แปลกใจหากคนดูไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นชื่อ เพราะหนังของซอเรนติโนก่อนหน้านี้แทบไม่เคยเข้าฉายในโรงไทย แต่ข่าวดีในยุคสตรีมมิ่ง คือ The Hand of God ลงใน Netflix มาหลายเดือนแล้ว และน่าจะเรียกคนดูได้อีกระลอกเมื่อหนังได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลออสการ์ (ตามโผ ไม่มีพลิก)

The Hand of God เป็นหนังประเภทที่ขนบทางยุโรปเรียกว่า bildungsroman หมายถึงนวนิยาย (หรือหนัง) ที่พูดถึงช่วงเวลาการเติบโตทางจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาว เมื่อตัวตนของเขาถูกทดสอบและประกอบสร้างขึ้น เรียกง่ายๆ ก็คือหนังอัตชีวประวัติ หรือเรียกแบบภาษาเพจหนังสมัยนี้ก็คือหนัง comingofage

ด้วยฉากหลังของเมืองเปีลส์ทางใต้ของอิตาลีและเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางของตัวเอกในยุคทศวรรษที่ 1980 The Hand of God ไม่ได้ปิดบังว่านี่คือหนังส่วนตัวว่าด้วยชีวิตในช่วงวัยรุ่นของผู้กำกับเอง เล่าผ่านตัวละครเด็กหนุ่มชื่อ ฟาบิเอตโต (แสดงโดย ฟิลิปโป สก๊อตตี้ ดาราอิตาลีผู้มีหน้าตาละม้าย ทิโมธี ชาลาเมต์) ทั้งความสัมพันธ์ของเขากับพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ในครอบครัวใหญ่เอะอะมะเทิ่งตามสไตล์อิตาเลียน ทั้งประสบการณ์ทางเพศอันน่าพิศวง และความฝันอยากเป็นคนทำหนัง  ล่วงเลยไปถึงโศกนาฏกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของฟาบิเอตโตตลอดไป

ออกตัวก่อนว่าที่ผ่านมา ผู้เขียนไม่ได้เป็นแฟนหนังของผู้กำกับ เปาโล ซอเรนติโน สักเท่าไหร่ คือได้ดูแทบทุกเรื่อง แต่มักจะจูนคลื่นไม่ตรงกัน 100 เปอร์เซ็นต์ หนังของเขามักจะมีความประดิดประดอย มีจริตแบบละครอิตาลี มีความพยายามจะเป็นเฟเดริโก เฟลลินี่ (ผู้กำกับตำนานของอิตาลี) แต่มักจะไม่มีความลึกซึ้งของอารมณ์ความรู้สึก แม้กระทั่ง The Great Beauty หนังดังที่สุดของซอเรนติโน ผู้เขียนก็รู้สึกว่ามันเว่อร์วังและหมกมุ่นกับตัวเองจนเกือบจะเกินงาม

ที่ว่ามาเช่นนั้นก็เพื่อจะบอกว่า สำหรับ The Hand of God ผู้เขียนปรับคลื่นได้ตรงกับแรงสั่นไหวของหนังมากกว่า และรู้สึกอบอุ่น โหวงเหวง และมีความหวังไปพร้อมๆ กับตัวละครฟาบิเอตโต ความน่ารำคาญที่เคยรู้สึกในหนังเรื่องอื่นๆ ของผู้กำกับคนนี้ มาคราวนี้กลับไม่ดูเสแสร้ง แต่มีความจริงใจและน่าเชื่อ ทั้งบรรดาตัวละครญาติพี่น้องของพระเอก รวมทั้งสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ หนังมีฉากดีๆ หลายฉาก เช่นตอนที่พระเอกไปหาผู้กำกับหนังคนดังที่เป็นไอดอลของเขา หรือฉากที่พระเอกไปตามหาพี่ชายที่เกาะในตอนท้าย ที่สำคัญคือการแสดงของฟิลิปโป ในบทฟาบิเอตโต ที่ทำให้ตัวละครนี้มีมิติ เป็นคนหนุ่มที่มองอนาคตของตัวเองอย่างมีความหวัง แต่กลับแฝงไว้ด้วยความโศกสลดลึกๆ ราวกับคนที่รู้ว่าชีวิตไม่เคยคลี่คลายออกมาอย่างที่เราคาดหวังเลย

แล้วชื่อหนัง The Hand of God มาจากไหน? ในหนังก็บอกชัดอยู่แล้วในฉากที่คนในครอบครัวของฟาบิเอตโต กำลังชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เม็กซิโก ในแมทช์ประวัติศาสตร์ระหว่างอาร์เจนตินากับอังกฤษ แมทช์ที่จารึกด้วยการที่ดิเอโก มาราโดนา เอามือปัดบอลเข้าประตูในจังหวะคลุมเครือ และจากนั้นเขาให้สัมภาษณ์อย่างภูมิใจว่าประตูนั้นคือ The Hand of God หรือ หัตถ์พระเจ้า

ถ้าจะให้เดา เชื่อได้ว่าผู้กำกับซอเรนติโน น่าจะฝังใจกับเหตุการณ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลในวันนั้น (คนอิตาลีบ้าบอลไม่แพ้ชาติใด) แต่คำว่า The Hand of God ที่กลายเป็นชื่อหนังอิงชีวประวัติของตัวเอง น่าจะหมายถึง ชะตาชีวิตที่คาดเดาไม่ได้ ราวกับมีมือที่มองไม่เห็นคอยพลิกผันเส้นทางชีวิตของคนเรา อะไรที่เคยคิดว่ามั่นคง แน่นอน อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ความฝัน ความหวังที่เคยมี บางสิ่งอาจไปได้ไกลกว่าที่เราคิด แต่บางสิ่งอาจะไม่มีวันเกิดขึ้น  อันเป็นบทเรียนชีวิตที่ฟาบิเอตโตไดรับรู้และเติบโตไปกันมัน

มาดูกันว่า The Hand of God จะทำให้ เปาโล ซอเรนติโน ได้ออสการ์ตัวที่สองหรือไม่ และจะฝ่าด่านตัวเต็งอย่าง Drive My Car จากญี่ปุ่น ได้หรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook