สายลมในดงมะกอก: หนังไตรภาคของ อับบาส เคียรอสตามี โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

สายลมในดงมะกอก: หนังไตรภาคของ อับบาส เคียรอสตามี โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

สายลมในดงมะกอก: หนังไตรภาคของ อับบาส เคียรอสตามี โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่ Doc Club & Pub จะนำภาพยนตร์ไตรภาคจากผู้กำกับอิหร่าน อับบาส เคียรอสตามี มาฉายให้ผู้ชมในไทยได้รับชม ผู้ที่คุ้นเคยกับเคียรอสตามีและหนังของเขา คงดีใจที่จะได้ชมหนังทั้งสามเรื่องบนจอใหญ่เสียที ส่วนผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ร่วมสมัย หรือแม้แต่ผู้ชมที่ชอบหนังซึ้ง ๆ กินใจแต่ไม่เคยดูหนังฝั่งอิหร่านมาก่อน หนังทั้งสามเรื่องนี้จะเปิดโลกทัศน์และประสาทสัมผัส เพราะกาลเวลาที่ผ่านไปไม่ได้ลดทอดคุณค่าและความมัศจรรย์ของหนังทั้งสามเรื่องนี้เลย

 หนังทั้งสามเรื่องมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า ไตรภาคโกเกอร์ (The Koker Trilogy) ตามชื่อจังหวัดหรือแคว้นของอิหร่านที่เกิดเหตุการณ์ในหนัง ส่วนชื่อหนังทั้งสามเรื่องได้แก่ Where’s the Friend’s Home?, Life and Nothing More และ Through the Olive Trees

ว่ากันง่าย ๆ หนังทั้งสามเรื่องนี้ของเคียรอสตามี (เขาเสียชีวิตไปเมื่อปี 2016 ในวัน 76 ปี) เป็นหนังที่เล่าเรื่องชีวิตในชนบท เรียบง่าย ลึกซึ้ง อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นธรรมชาติในการจดจ้องมองตัวละครทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่กลับมองเห็นปรัชญามนุษย์นิยมสุดแสนจับใจ อีกทั้งยังมีความ “สมัยใหม่” ในการเล่นกับรูปแบบของภาพยนตร์ การใช้หนังซ้อนหนัง การซ้อนทับความจริงกับหนัง หรือหนังกับความจริง และการใช้ศักยภาพ “การรู้ตัวว่าเป็นภาพยนตร์” ในแบบที่นักทฤษฎีทั้งหลายต่างเขียนหนังสือออกมาเป็นเล่ม ๆ เพื่อพยายามเข้าใจกระบวนการความคิดของคนทำ

ใน Where’s the Friend’s Home (1987) พล็อตเรื่องนั้นง่ายแสนง่ายตามสไตล์อิหร่าน คือเด็กน้อยในประถมดันเผลอเอาสมุดการบ้านเพื่อนกลับมาบ้าน ด้วยความที่กลัวครูจะดุเพื่อน เด็กชายจึงออกตามหาบ้านเพื่อนที่อยู่อีกหมู่บ้าน เท่านั้นเอง ทั้งเรื่องคือการตามหาบ้านเพื่อน จนพบเจอกับตัวละครคนอื่น ๆ ก่อนจะที่ฉากจบของหนังจะเล่นเอาคนดูอึ้ง เป็นฉากจบที่น่าจะมีคนจำได้มากที่สุดฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก

ส่วนในอีกสองเรื่อง Life, And Nothing More (1992) และ Through the Olive Trees (1994) เคียรอสตามีเริ่มสร้างภาพทับซ้อนระหว่างหนังที่เรากำลังดู หนังเรื่องก่อนหน้า หนังเรื่องถัดไปในไตรภาค และกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแคว้นโกเกอร์ ฟังแล้วไม่ต้องงงครับ ใน Life, And Nothing More เรื่องราวในหนังว่าด้วยผู้กำกับหนังที่เดินทางไปตามหาเด็กชายที่แสดงในเรื่อง Where’s the Friend’s Home เพื่อดูว่าเขาเป็นอย่างไรหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในจังหวัดโกเกอร์ (อันเป็นเหตุการณ์จริงในอิหร่านเมื่อปี 1990) ส่วนหนังเรื่องที่สาม Through the Olive Trees ก็เล่าเรื่องการถ่ายหนังของผู้กำกับในหมู่บ้านที่กำลังฟื้นตัวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

การ “เล่น” กับความเป็นภาพยนตร์ที่ว่ามานี้ ไม่ได้เป็นการโชว์เหนือ หรือเป็นการทดลองอันแข็งกระด้างของนักทฤษฎีภาพยนตร์ ตรงกันข้าม ต่อให้เราไม่สนใจเรื่องว่านี่เป็นหนัง หรือสารคดี หรือหนังซ้อนหนัง หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม สิ่งที่หนังถ่ายทอดออกมาคือความจริงใจ อารมณ์ขันซื่อๆ และตัวละครที่ช่างมีชีวิตเหมือนจริงจนจับต้องได้ (ทั้ง ๆ ที่ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่นักแสดงอาชีพ) รวมทั้งภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ต้องต่อสู้กับอารมณ์ ความรัก ความไม่สมหวัง ภัยธรรมชาติ ฯลฯ ในแบบที่ทั้งเศร้าสร้อย และอิ่มอกอิ่มใจ

อับบาส เคียรอสตามี เป็นคนทำหนังอิหร่านที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งที่เติบโตทางอาชีพหลังการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 ที่เปลี่ยนระบอบการปกครองของอิหร่านจากพระเจ้าชาห์ มาเป็นสาธารณรัฐ ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างศาสนาอิสลามและศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์กันยาว เพราะโดยปกติแล้วประเทศอนุรักษ์นิยมที่เคร่งศาสนา มักจะไม่สามารถผลิตศิลปินหรือคนทำหนังที่หัวก้าวหน้า หรือที่โด่งดังในระดับโลกมากนัก แต่อิหร่านเป็นกรณีพิเศษจริง ๆ เพราะอิหร่านมีคนทำหนังหลายคนที่ก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงในระดับโลก เช่น เคียรอสตามี, โมเชน มัคบาสบาฟ, จาฟฟา พานาฮี, อัชการ์ ฟาฮาดี, โมฮัมเมด ราซุลลอฟ และอื่น ๆ อีกมาก และต่างเป็นคนทำหนังที่มีล้วนผสมผสานแนวคิดมนุษย์นิยมเข้ากับการใคร่ครวญเรื่องสังคม การเมือง และศิลปะ มีความเป็นกวีนิพนธ์ในน้ำเสียงและลีลา ที่สามารถก้าวข้ามพรมแดนวัฒนธรรมจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

หนังสามเรื่องนี้ของ อับบาส เคียรอสตามี เป็นดวงแก้วแห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เป็นการต่อยอดจากงานยุคนีโอเรียลลิสม์ของยุโรปและเอเชีย ประสานไปกับความลื่นไหลของถ้อยคำอย่างเปอร์เซีย และความก้าวหน้าของแนวคิดโมเดินนิสท์ จนผู้กำกับหนังชาวฝรั่งเศสคนสำคัญ ฌอง-ลุค โกดาร์ เคยกล่าวไว้ (อย่างจริงจัง) ว่า “ภาพยนตร์เริ่มต้นที่กริฟฟิธ และจบลงที่เคียรอสตามี” หมายความว่า หนังของเคียรอสตามี ได้พิสูจน์ศักยภาพของภาพยนตร์ไปจนสุดทางของมันแล้ว

ชอมหนังไตรภาคชุดสำคัญนี้ได้ที่ Doc Club

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook