รีวิว Juvenile Justice ผู้พิพากษา VS.เด็กเปรต ในมุมชีวิตการทำงานของนางมารร้าย
Juvenile Justice ออริจินัลซีรีส์เกาหลีเรื่องล่าสุดจาก Netflix ว่าด้วยเรื่องราวการขึ้นโรงขึ้นศาล พิจารณาคดีอาชญากรรม ซึ่งโดยปกติแล้วตัวละครที่กระทำความผิดมักจะเป็นผู้ใหญ่วัยบรรลุนิติภาวะ แต่ซีรีส์เรื่องนี้เลือกจะเล่าในมุมจำกัดให้กระชับลงมา ว่าถ้าหากอาชญากรเหล่านี้เป็นเพียงเยาวชนล่ะ ผู้พิพากษาคดีจะพลิกเกมและเอาผิดพวกเขาอย่างไร
คงต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ชมในบ้านเรา นิยมซีรีส์จากแดนกิมจิกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเมื่อมีซีรีส์เรื่องไหนที่ถูกส่งตรงลงสตรีมมิ่งปั๊บ ถ้าหากเรื่องราวนั้นน่าสนใจจนกลายเป็นกระแสปากต่อปาก ไม่นานซีรีส์เรื่องนั้นๆก็จะติดอันดับซีรีส์ยอดนิยมทันที เช่นเดียวกับ Juvenile Justice หรือ หญิงเหล็กศาลเยาวชน นำแสดงโดย คิมฮเยซู และ คิมมูยอล
“เพราะฉันเกลียดอาชญากรเด็ก” คือคำกล่าวชวนสะดุ้ง หลังจากที่ชิมอึนซอก (คิมฮเยซู) ผู้พิพากษามาดขรึม นิ่ง แต่พร้อมฟาดด้วยหลักความตรงไปตรงมา ซึ่งเธอยึดถือมาตลอดอาชีพการทำงานในสายงานนิติศาสตร์ หลังจากที่เธอย้ายมาทำงานศาลเยาวชนในเขตยอนฮวา ด้วยความเป็นคนชัดเจนและเฮี้ยบทำให้ชื่อเสียงของเธอได้รับการกล่าวถึง จนกระทั่งไปถึงนินทาของเหล่าผู้ร่วมงาน
อย่างไรก็ตามที่ศาลเยาวชนเขตฮยอนวา ยังมีผู้พิพากษาหนุ่มชาแทจู (คิมมูยอล) ชายผู้โอบอ้อมอารีและเป็นที่รักของบรรดาเยาวชนที่ถูกตัดสินพิจารณาคดี ให้อยู่ภายใต้การดูแลปรับปรุงพฤติกรรมจนกว่าจะครบวาระ และคังวอนจุน (อีซองมิน) หัวหน้าผู้พิพากษาคดีอาญาที่กำลังจะเปลี่ยนเส้นทางการทำงานด้วยการลงสมัครเล่นการเมือง เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเยาวชน ตามเจตนารมณ์ที่ตัวเองเชื่อว่าการสร้างบทลงโทษที่รุนแรงนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่การดูแล ทำความเข้าใจและเอาใจใส่เยาวชนให้ถูกที่ถูกเวลาเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า
ซีรีส์ความยาว 10 ตอนในซีซั่นแรกนี้ ถ้าจะให้แยกเป็นตอนย่อยๆจะอยู่ที่ประมาณ 1 คดีต่อ 1-2 ตอน โดยมีเส้นเรื่องหลักเป็นความสัมพันธ์ของตัวละครในที่ทำงาน อุปนิสัย พื้นเพของตัวละคร และสไตล์การทำงานของพวกเขา โดยคดีแรกที่เรียกได้ว่าเปิดเรื่องมาอย่างใหญ่โต สะเทือนขวัญ และพยายามจะส่งสารต่อคนดูว่า Juvenile Justice ไม่ใช่ซีรีส์โอนอ่อน ผ่อนปรนและพยายามประนีประนอมกับผู้ชมนัก
คดีฆาตกรรมเด็กประถมยอนฮวา คือเหตุการณ์สะเทือนขวัญเปิดเรื่อง เมื่อแบคซองอู เด็กชายวัย 13 ปีที่อ้างตัวว่าเขามีอาการทางจิตเภท ทำให้ตัวเองเกิดพลั้งมือฆ่าหั่นศพเด็กชายวัย 9 ปีและทิ้งชิ้นส่วนของเหยื่อเอาไว้บนดาดฟ้า และสิ่งที่น่าขนลุกขนพองกว่าคือการที่แบคซองอูได้กล่าวว่า “ก็เพราะผมยังอายุไม่ถึง 14 ปียังไงก็ไม่ติดคุก” ได้สะท้อนถึงข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้เหล่าเยาวชนมองว่าพวกเขาจะกระทำต่อผู้อื่นอย่างไรก็ได้ โดยไม่มีท่าทีของการสำนึกผิด
งานและชีวิตส่วนตัว
คดีคุ้มครองเยาวชนและคดีอาญาเยาวชนเป็นงานหลักของบรรดาตัวละคร เราจะได้เห็นว่าชิมอึนซอก ชาแทจู และคังวอนจุนต่างก็มีงานกองพะเนินเทินทึกเต็มโต๊ะ จนเรียกได้ว่า ตัวละครเหล่านี้มีโอกาสโดนกองเอกสารบนโต๊ะทับตายมากกว่าจะเกิดอุบัติเหตุในชีวิตด้วยซ้ำไป ยังไม่รวมไปถึงคดีอีกมากมายที่ชาแทจูบอกกับชิมอึนซอกว่า ในแต่ละเดือนนั้นมีคดีความที่พวกเขาต้องอ่านไม่ต่ำกว่า 300 คดี!
ปริมาณงานมากมายขนาดนี้ เราจึงได้เห็นว่า “คนทำงาน” ในซีรีส์มีสภาพหลับฟุบคากองสำนวนคดี ทำงานจนท้องฟ้ามืดสนิท กว่าจะได้ทานข้าว กลับบ้าน จนเรียกได้ว่าขนาดจบเรื่องราวในซีซั่นแรก เรายังไม่ได้เห็นเลยว่างานอดิเรกของชิมอึนซอก ชาแทจูนั้นคืออะไร พวกเขามีวันหยุดพักผ่อนไหม เพราะตลอดเวลาเราเห็นพวกเขาอยู่กับ งาน งาน และงาน!
ระหว่างที่เราเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า งานผู้พิพากษาดูเป็นงานที่เครียด แถมสถานการณ์ที่ตัวละครอย่างชิมอึนซอกต้องประสบพบพานนั้นเรียกได้ว่ามีแต่เรื่องสติแตก (ไม่แพ้กับบรรดาตัวละครใน The Penthouse เลยทีเดียวเชียว) ตัวละครนี้จะแบกความอึด ทนทานได้นานแค่ไหนกันเชียว แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วซีรีส์ก็ไม่หลงลืมที่จะทำให้ผู้ชมได้เห็นว่า สุดท้ายแล้วชิมอินซอกก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์จากที่ไหน แต่เธอเจ็บได้และเกือบตายเป็นเช่นกัน ใครบอกงานหนักไม่ฆ่าคน Juvenile Justice ได้เผยแง่มุมนี้ให้กับคนดูเห็นเช่นกันว่า Work-Life Balance เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในชีวิตมนุษย์คนทำงานที่ทุกคนพึงมี
นางมารร้ายผู้แสนดี
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือตัวละครของของชิมอึนซอก ที่คนดูทุกคนคงไม่พลาดที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมเธอถึงเกลียดเหล่าอาชญากรเด็กเข้าไส้ ถึงขนาดตาเป็นสัปปะรดว่าต่อให้พวกเขาชำระล้างความผิดจากกระบวนการยุติธรรมมานานแค่ไหน ความชั่วร้ายในตัวของพวกเขาเหล่านี้ก็ยังไม่จางหายไปไหน แต่รอวันกลับมาสำแดงเดชอีกครั้ง
แม้จะดูว่าตัวละครอย่างชิมอึนซอกเป็นเหมือนตัวละครที่ไม่เชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์สักเท่าไหร่ แต่ในทุกโมเมนต์ที่เธอพยายามจะคลี่คลายคดีและหาคำตอบตัดสินที่ถูกต้องให้กับจำเลยและเหยื่อ ในแววตาและการกระทำของเธอนั้น คือความพยายามที่จะมอบความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง จนเราอยากจะกล่าวว่าต่อให้เธอเป็นคนที่ดูเย็นชาไร้หัวใจ แต่ลึกๆแล้วชิมอึนซอกคือคนที่ยืนหยัดในอุดมการณ์และหัวใจของเธอมันน่ากราบ แม้ว่าคนอื่นๆจะมองเห็นเธอเป็นแค่นางมารร้ายก็ตาม
ในโลกของการทำงานคนที่ตรงไปตรงมา สะท้อนปัญหา และทำให้เห็นจุดอ่อนของระบบ มักตกเป็นเป้าโจมตี จนถูกเกลียดชังจากบรรดาเพื่อนร่วมงาน ไม่มีมารยาท ข้ามหัวคนอื่น พูดจาไม่ไว้หน้าผู้อาวุโส คิดว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน คือคำด่าที่ชิมอึนซอกโดนตัวละครอื่นๆโจมตีตลอดทั้งเรื่อง ในทุกครั้งที่เธอพยายามจะทำให้เห็นช่องว่างของระบบกฎหมายเยาวชน หรือกระทั่งการทำงานของคนรอบตัวที่ดูน่ากังขา แต่ท้ายที่สุดแล้วการยืนหยัดในหลักการและความถูกต้องของตัวละครนี้ สุดท้ายแล้วเวลาจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้คนรอบตัวเห็นว่า สิ่งที่เธอเป็นและสิ่งที่เธอทำนั้นคือความถูกต้องที่แท้จริง
ท้ายที่สุดแล้วคำกล่าวที่ว่า “ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์” นั้นก็ดูเป็นสิ่งที่ยังใช้ในทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นวงการกฎหมาย คดีความ ไปจนถึงการทำงานในทุกๆวงการเลยก็ว่าได้