The Batman กับการตีความใหม่ให้รัตติกาลนี้ยาวนานและมืดมิดกว่าที่เคย

The Batman กับการตีความใหม่ให้รัตติกาลนี้ยาวนานและมืดมิดกว่าที่เคย

The Batman กับการตีความใหม่ให้รัตติกาลนี้ยาวนานและมืดมิดกว่าที่เคย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การตีความใหม่กับเรื่องราวเดิมๆ ถือเป็นสิ่งที่วงการ “วรรณกรรม” ทั่วโลกต้องการ เพราะบางครั้งสิ่งที่ผู้ชมคุ้นเคย รู้จักกันดีอยู่แล้ว บางทีมันอาจจะมีแง่มุมที่น่าสนใจ รอคอยให้เราไปสำรวจตรวจตราอยู่เสมอๆ เช่นเดียวกันกับ The Batman ของผู้กำกับแมตต์ รีฟส์ ได้ปลดล็อคอะไรหลายๆอย่างในหนังซูเปอร์ฮีโร่

สไตล์การกำกับภาพยนตร์ของแมตต์ รีฟส์เอง เรียกได้ว่า ตัวเขาชอบความอ้อยอิ่งอยู่กับตัวละครในเรื่อง ทั้งที่เหตุการณ์นั้นๆสามารถรวบรัดตัดตอนให้กระชับฉับไวตามสูตรนิยมของหนังฮอลลีวูดที่เน้นความ เร็ว เร้าใจคนดูเป็นหลัก เราจะได้เห็นได้ว่าผลงานหนังรีเมกอย่าง Let me In หรือสองภาคหลังของมหากาพย์พิภพวานร Dawn of the Planet of the Apes (2014) และ War for the Planet of the Apes (2017) มีความพยายามในการนำพาผู้ชมเข้าไปอยู่ในโลกของสิ่งที่ตัวละครต้องเผชิญชะตากรรมได้อย่างละเอียดรอบด้าน จนเราเองรู้สึกเข้าอกเข้าใจหัวอกของตัวละครทั้งฝ่ายดีและร้ายไปพร้อมๆกัน

สไตล์ดังกล่าวได้รับการมาใช้อีกครั้งกับ The Batman โดยคราวนี้ ตัวละครซูเปอร์ฮีโร่อย่าง “แบทแมน” ได้รับการตีความใหม่ ผ่านตระกูลของหนังอย่างแนว “ฟิล์มนัวร์” ซึ่งสอดรับกับเหตุการณ์ในฉากหลังที่บรรดาคนใหญ่คนโตของเมืองก็อตแธมถูกฆาตกรรม โดยฆาตกรต่อเนื่องอย่าง “เดอะริดเดิ้ล”

เมื่อเราลองวิเคราะห์ลักษณะของตัวเมืองก็อตแธมนั้น เราคงจะนึกภาพเมืองที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม มีความชั่วร้ายซุกซ่อนอยู่ทั่วทุกมุมถนน ตั้งแต่ขโมยรากหญ้าไปจนถึงเหล่านักการเมืองคอรัปชั่น ซึ่งยังไม่เคยมีแบทแมนในเวอร์ชั่นไหนที่พยายามเน้นภาพความขะมุกขะมอมเท่า The Batman ของแมตต์ รีฟส์ ซึ่งคงต้องบอกว่าความเป็น “ฟิล์มนัวร์” (Film Noir) ชัดเจนที่สุด

สำหรับคำจำกัดความของหนังฟิล์มนัวร์นั้น ถ้าเราจะแปลความหมายกันตรงตัว คำว่า Noir นั้นมาจากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่ามืดดำ โดยเอกลักษณ์อันโดดเด่นของหนังตระกูลนี้คือ ตัวละครที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนั้นมักจะอยู่ในเฉดสีเทาๆ เป็นคนดีก็ไม่ใช่เป็นคนร้ายก็ไม่เชิง เรื่องราวมักข้องเกี่ยวกับอาชญากรรม ความรุนแรง และอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของหนังแนวนี้คือ “วิธีการจัดแสงแบบ Low Key” ที่เน้นเงามืด เล่าเหตุการณ์ในห้วงเวลากลางคืนเป็นหลัก

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ฉากแรกที่แบทแมนได้นิยามตัวตนของเขาว่า เมื่อใดก็ตามที่ไฟสัญญาณเรียกแบทแมนถูกส่องขึ้นฟ้า เหล่าอาชญากรในเมืองก็อตแธมจะรู้สึกเสียวสันหลังวาบทันที ว่าในมุมมืดที่แสงไฟของถนนสาดส่องไม่ถึงนั้น จะมีใครสักคนที่หลบอยู่ในเงามืดนั้นออกมาจัดการกับพวกเขาหรือเปล่า

ความน่าสนใจประการถัดมาคือ The Batman ในฉบับนี้เขาสวมบทบาทเป็นนักสืบคดีฆาตกรรม มากกว่าจะเล่นลิเกเป็นมนุษย์ค้างคาวที่สนุกอยู่กับบรรดาของเล่นไฮเทคในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ที่เราเคยผ่านตากันมา ขนาดฉากโชว์รถแบทโมบิลในเวอร์ชั่นนี้ ฉากการขับรถไล่ล่า (Car Chasing) ยังให้อารมณ์ที่ดูสมจริง เป็นการไล่ล่าอันสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง ความเร็วดูไม่ได้ผิดแผกไปจากเครื่องยนต์ในท้องถนนของโลกมนุษย์ปัจจุบันนี้นัก ยิ่งทำให้ผู้ชมเห็นว่า แบทแมนในฉบับนี้ดูใกล้เคียงความเป็นมนุษย์มากที่สุดเวอร์ชั่นหนึ่งเลยก็ว่าได้

เช่นเดียวกันกับตัวละครหญิงอย่างเซลิน่า ไคล์หรือ แคทวูแมน (โซอี้ คราวิตซ์) ที่ในเวอร์ชั่นนี้ เราอาจจะพอเดาได้ว่าทักษะการต่อสู้และฝีมือในการห้อยโหนของเธอนั้น น่าจะมาจากการฝึกฝนศิลปะดังกล่าวมา หาใช่พลังพิเศษจากการถูกวิญญาณแมวเข้าสิง หรือแค่อยากจะแต่งตัวให้ดูเปรี้ยงปังยั่วเพศแบบในเวอร์ชั่นที่ผ่านมา ยังไม่รวมไปถึงเครื่องแต่งกายที่ดู “เรียบง่าย” เหลือแค่เพียงหน้ากากไอ้โม่งที่มีหูเล็กๆพอไว้ลายให้คนดูได้อนุมานกันเอาเองว่าเธอนี่แหละแคทวูแมน

ไม่เพียงเท่านั้นหนังยังเลือกใช้ประโยชน์จากตัวละครเซลิน่า ไคล์ในฐานะของตัวละครประเภทนางนกต่อ เมื่ออาชีพการงานของเธอคือสาวเสิร์ฟในไนท์คลับในระดับไฮแอนด์ของเมืองก็อตแธม แน่นอนว่าเมื่อแบทแมนรู้ถึงสิ่งที่เขาจะใช้เธอเพื่อสืบคดีและสาวไปถึงตัวของเดอะริดเลอร์ได้ เซลิน่าจึงกลายเป็นหน่วยกล้าตายในตอนที่เธอต้องไปควานหาเบาะแส เพื่อนสาวคนสนิทที่หายตัวไป และใครกันที่มีเอี่ยวกับอัยการเขตกิล โคลสัน (ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด)

เมื่อหนังตัดสินใจที่จะยกความ “ขี้โม้ โอเว่อร์” ในแบบก่อนหน้านี้ทิ้งไป หรือแม้กระทั่งจะพยายามฉีกตัวเองออกมาจากเวอร์ชั่นไตรภาคผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลนมากแค่ไหน แต่องค์ประกอบหนึ่งที่หนังตัดสินใจทำให้มันมีความยาวจนเกือบ 3 ชั่วโมงนั้น กลายเป็นว่ามันกลายเป็นยานอนหลับชั้นดี สำหรับผู้ชมที่ไม่ได้เตรียมใจว่า พวกเขากำลังจะต้องมานั่งดูหนังสืบสวนสอบสวน ทริลเลอร์ หาใช่หนังฉะปะดะ ต่อยตี แบบใน Batman v Superman: Dawn of Justice

ปฏิเสธไม่ได้เลยเช่นเดียวกันว่า The Batman ในเวอร์ชั่นนี้ ได้ทำให้ผู้ชมเห็นทิศทางใหม่ๆของการเล่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ ให้หลุดออกมาจากกรอบเดิมๆในแบบฉบับความนิยมของตลาด กลายเป็นหนังนำเสนอด้านต่างๆของตัวละคร มีความเนิบช้าอ่อยอิ่ง (และเอาใจตลาดน้อยกว่าที่เคย) หลายคนอาจจะไม่ได้ปลื้มหนังในเวอร์ชั่นนี้นัก (ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้ชอบสักเท่าไหร่) แต่เมื่อพิจารณาถึงเนื้องานการออกแบบ สไตล์ การแสดง แล้ว คงต้องบอกว่า The Batman ถือเป็นงานหนังซูเปอร์ฮีโร่ในมุมมองใหม่ๆที่เราไม่ได้เห็นบ่อยนักในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อหนังซูเปอร์ฮีโร่จำเป็นต้องเอนเตอร์เทน ป๊ะเท่งป๊ะ แบบที่ค่ายอย่างมาร์เวลขีดเส้นมาตรฐานในยุคนี้ไว้

The Batman ถือเป็นความกล้าหาญชาญชัยของตัวผู้กำกับอย่างแมตต์ รีฟส์และสตูดิโออย่างวอร์เนอร์ฯ กล้าที่จะให้คนดูได้ทดลองเสพย์อะไรใหม่ๆดูบ้าง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook