พี่นาค 3 กับปรากฏการณ์หนังผีภาคต่อที่พยายามขยายจักรวาลของตัวเอง

พี่นาค 3 กับปรากฏการณ์หนังผีภาคต่อที่พยายามขยายจักรวาลของตัวเอง

พี่นาค 3 กับปรากฏการณ์หนังผีภาคต่อที่พยายามขยายจักรวาลของตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2562 พี่นาคกลายเป็นหนังผีปนตลกที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย กลายเป็นหนังไทยที่ทำรายได้เกิน 150 ล้านบาทในปีดังกล่าว ทำให้โครงการสร้างภาคต่อตามมา ในปี 2563 และยังคงประสบความสำเร็จเช่นเคย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาค 3 จะตามออกมาโกยเงินจากผู้ชมอีกครั้ง

มีการเปิดเผยประเด็นสำคัญในหนังพี่นาคทุกภาค ถ้าไม่อยากโดนสปอยล์กรุณาปิดบทความนี้

ตลอดช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าหนังไทยที่พอจะสร้างภาคต่อ และมีจักรวาลเป็นของตัวเองนั้นคือหนังอย่างไทบ้าน เดอะซีรีส์ ซึ่งภาคล่าสุดอย่างหมอปลาวาฬก็เพิ่งจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน จะว่าไปแล้วความเหนียวแน่นของกลุ่มผู้ชมที่เป็นแฟนหนัง ก็จัดได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในความสำเร็จอยู่ไม่น้อย และถึงอย่างนั้น ดูเหมือนว่าหนังอย่างพี่นาคเอง ก็จะมีองค์ประกอบที่จับตลาดผู้ชมในยุค Youtuber และ Tiktok แบบอยู่หมัดอยู่เช่นกัน

จะว่าไปเมื่อเราย้อนกลับไปที่ความสำเร็จของ “พี่นาค” ภาคแรกนั้น ถือว่าค่ายหนังอย่างไฟว์สตาร์โปรดักชั่น เองก็ตัดสินใจเลือกนักแสดงนำจากการนำยูทูบเบอร์ที่เป็นกระแสในห้วงเวลานั้นอย่าง เอม-วิทวัส รัตนบุญบารมี หรือ เอม ตามใจตุ๊ด ซึ่งมียอดวิวในแต่ละคลิปทะลุหลักล้าน โดยตัวเลขเหล่านี้น่าจะพอการันตีให้กับนายทุนได้ ว่าถ้าเลือกเขามารับบทนำ แฟนรายการของเอมก็น่าจะมีความรู้สึกสนใจและอยากจะชมการแสดง และรายได้ของหนังภาคแรกก็คือคำตอบทั้งหมด

ไม่ใช่แค่นักเพียงนักแสดงนำเท่านั้น องค์ประกอบหนังแนวตลกวิ่งหนีผี ถือเป็นหนังที่ผู้ชมชาวไทยให้การตอบรับอยู่เสมอ นอกจากนี้คงต้องยอมรับว่าวิธีการกำกับเรื่องราวของ ไมค์-ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ สามารถหลอมรวมความตลกโปกฮาในสถานการณ์วาบป่วง เข้ากับฉากบรรยากาศขมุกขมัวชวนหลอนได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งในหลายๆครั้งถ้าหากหนังเรื่องนี้กลายร่างเป็นหนังสยองขวัญแบบเต็มสตรีม อาจจะมีความมืดหม่นและถึงเลือดถึงเนื้อมากกว่าที่เราได้เห็นอย่างแน่นอน

อีกหนึ่งความน่าสนใจของพี่นาค คือการหยิบเอาประเด็นเรื่องผีไม่กลัวพระ และความเชื่อเรื่องการบวชนาค เอามาบอกเล่าได้อย่างน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆในแต่ละภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคแรกที่ตัวละครของออกัส-วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์ ถูกพ่อบังคับให้บวช ทั้งที่ตัวเองไม่ได้อยากจะมาอยู่ในวัด แต่แล้วระหว่างทาง (และระหว่างหนีผี) เขาก็ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่จะอยู่ภายใต้ผ้าเหลือด้วยความเข้าใจ และหนังยังอาศัยการเปรียบเทียบระหว่าง “ผี” และ “คน” ที่ฝ่ายแรกอยากจะบวชแต่ไม่มีโอกาส ในขณะที่อีกฝั่งมีโอกาสแต่ไม่ใส่ใจ

จะว่าไปทัศนคติในหนังเรื่องพี่นาคถือได้ว่าเป็นแนวคิดแบบหัวโบราณ (Old Fashioned) ตามครรลองของศาสนาพุทธ ที่ว่าด้วยการบวชของชายหนุ่ม คือ “หน้าที่” ของลูกผู้ชายอะไรประมาณนั้น ซึ่งระหว่างทางการใส่สถานการณ์หนีผี หรือฉากตลกทั้งหมดทั้งมวลเข้ามาก็เพื่อจะนำพาคนดูจากเหตุการณ์แรกไปสู่เหตุการณ์ต่อๆมา ซึ่งถามว่าสลักสำคัญกับตัวเรื่องมากแค่ไหนก็อาจจะบอกว่าบางส่วนนั้นสามารถริบออกและตัดทอนได้ เพราะใจความสำคัญของหนังอยู่แค่เพียงต้นเรื่อง และปลายท้ายที่จะขมวดปมเรื่องราว

เฉกเช่นพี่นาคในภาคที่ 2 ตัวละครพระโหน่ง (ออกัส-วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์) ต้องเผชิญหน้ากับผีพี่นาคตนใหม่ (ธามไท แพลงศิลป์) โดยครั้งนี้ประเด็นหลักทั้งหมด ได้หวนกลับไปพูดถึงเรื่องราวในอดีตชาติอันเป็นกรรมเก่าของบรรดาตัวละครหลักไม่ว่าจะเป็น บอลลูน (เอม-วิทวัส รัตนบุญบารมี) เฟิร์ส (เจมส์-ภูริพรรธน์ เวชวงศาเตชาวัชร์) ที่ทำให้พี่นาคตนนี้ตามมารังควานและพูดประโยคเสียงแหลมๆอยู่ตลอดเวลาว่า “มึงสึก มึงตาย” ตลอดทั้งเรื่อง

การคลี่คลายเรื่องราวในหนังภาคที่ 2 พยายามสะท้อน เรื่องราวของกฎแห่งกรรมและการให้อภัยเพื่อปล่อยวาง แม้มันจะเป็นคำสอนที่ดูจงใจและตั้งใจสั่งสอนบทเรียนให้กับตัวละคร (และคนดู) แต่ถึงอย่างนั้น หนังภาคนี้ก็ได้ทิ้งเชื้อสำหรับการสร้างภาคต่อเอาไว้ เมื่ออ๊อด สัปเหร่อหนุ่ม (ปอนด์-คุณพัทธ์ พิเชษฐ์วรวุฒิ) ก็ดูเหมือนเคยจะทำเวรทำกรรมอะไรสักอย่างเอาไว้ จนน่าจะมีผีพี่นาคอีกตนตามมาเอาเรื่องเอาราว จนกลายมาเป็นเรื่องราวในหนังภาคล่าสุด

เหตุการณ์ในหนังภาคที่ 3 คือการตั้งเป้าในการล้างคำสาปของอ๊อด ที่ร่างกายของเขามีลักษณะเป็นเกล็ดเงินคล้ายกับงูลามไปทั่วตัว อันเป็นผลมาจากกำไลข้อเท้าต้องสาป โดยครั้งนี้ผองเพื่อนต้องเดินทางไปแก้คำสาปไกลถึงวัดริมน้ำโขงกันเลยทีเดียว หนังในภาคที่ 3 นี้จึงมีสไตล์โร้ดมูวี่ (Road Movie) ระหว่างทางตัวละครทั้งหมด ได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆรวมไปถึงการปรากฏตัวมาหลอกหลอนของผีพี่นาคคำ (แชมป์-ชนาธิปโพธิ์ทองคำ) ไปตลอดทาง

หนังภาคยังคงพูดถึงเรื่อง "กรรมเก่า" ต่างจากเดิมตรงที่เจตนาในการทำร้ายคนอื่นของผีพี่นาคนั้น ถือเป็นความอาฆาตพยาบาทและปรารถนาให้อ๊อดถึงแก่ความตาย เพียงเพื่อให้ตัวเองสะใจ ส่วนบรรดาฉากผีหลอกในภาคนี้ดูแผ่วไปหน่อยเมื่อเทียบกับสองภาคแรก ยังไม่รวมไปถึงบทสรุปที่คลี่คลายทุกอย่างตามสไตล์เดิมๆนั่นคือต้องมีพระผู้ใหญ่ผู้ทรงภูมิ (ลีโอ พุฒ) มาเทศนาสั่งสอนบทเรียนให้กับตัวละคร (และแน่นอนว่าคนดูด้วย) แต่คราวนี้หนังเลือกจะขายเทคนิคซีจีไอพญานาคแบบจัดเต็ม

ท้ายที่สุดแม้ว่าหนังจะทิ้งประเด็นใหม่ไว้ตอนท้ายเรื่อง ซึ่งคนดูก็คงจะจับไต๋ได้ตั้งแต่ที่ตัวละครอย่างโทมินจุน (มีน-พีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพร) ได้พบกับชายหนุ่มลึกลับในหมู่บ้านริมโขง (แปลน-รัฐวิทย์ กิจวรลักษณ์) ก็คงจะพอคาดเดากันต่อว่า ถ้าพี่นาค 4 ตามออกมาคงอาจจะกลายเป็นหนัง “คู่จิ้น” ระลึกชาติเป็นแน่แท้ และวี่แววในการทำเงินเพราะสาวกวายของคู่นี้ก็คงจะพร้อมอุดหนุนภาคต่อกันอย่างแน่นอน

เรียกได้ว่าไฟว์สตาร์โปรดักชั่น เองจับกระแสเทรนด์ “คนดู” คอนเทนท์ไทยได้ไวและน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook