Wheel of Fortune and Fantasy: ในวงล้อของโชคชะตา โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Wheel of Fortune and Fantasy: ในวงล้อของโชคชะตา โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Wheel of Fortune and Fantasy: ในวงล้อของโชคชะตา โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชื่อ ริวสุเกะ ฮามากูจิ วนเวียนอยู่ในข่าวสารภาพยนตร์มาเกือบปีกับหนังดังของเขา Drive My Car (ซึ่งขึ้นแท่นรอรับรางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศปลายเดือนนี้ ไม่น่ามีพลิก)

 

แต่ปีที่แล้ว ฮามากูจิ มีหนังที่เขากำกับสองเรื่อง นอกเหนือจาก Drive My Car ยังมี Wheel of Fortune and Fantasy ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังเล็กกว่า ไม่เปรี้ยงปร้างเท่า และเป็นหนังที่ดูง่ายแสนง่ายจนกล่อมให้เรามองข้ามความซับซ้อนและสไตล์การทำหนังที่แม่นยำและแฝงไว้ด้วยองค์ประกอบทางวรรณกรรม เอาง่ายๆ ก็คือ ผู้เขียนคิดว่า Wheel of Fortune and Fantasy เป็นหนังที่มีเสน่ห์กว่า เฉียบแหลมกว่า และลงตัวกว่า Drive My Car หรือจะบอกทื่อๆ ว่า “ดีกว่า” ก็ยังได้

น่าดีใจที่หนังทั้งสองเรื่องนี้เข้าฉายในโรงเมืองไทย วันนี้แค่อยากกระซิบบอกว่า ถ้าดู Drive My Car แล้วก็อย่าลืม Wheel of Fortune and Fantasy ด้วย หรือถ้าไม่ได้ดู Drive My Car ก็ยิ่งไม่ควรพลาด Wheel of Fortune and Fantasy

ตามชื่อเรื่อง Wheel of Fortune and Fantasy ว่าด้วยวงล้อแห่งโชคชะตาที่พลิกผันและความฝันเพ้ออันบางครั้งแยกไม่ออกจากความจริงตรงหน้า จะบอกว่าเป็นหนังรักอกหักก็ได้ หรือจะบอกกว้างๆ ว่าเป็นหนังประเภทชีวิตเล่นตลก ก็ได้เช่นกัน ที่ผู้เขียนสนใจก่อนอื่น คือโครงสร้างของหนังที่แบ่งเป็น 3 ตอน เหมือนหนังสั้น 3 เรื่องที่ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกัน (ยกเว้นธีมอันว่าด้วยโชคชะตาดังกล่าว) แต่ละตอนมีตัวละครเพียง 2 ถึง 3 ตัว และใช้ฉากเพียง 2 ถึง 3 ฉาก ขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาเป็นหลัก ไม่มีอะไรเกินจำเป็น ไม่เวิ่น แต่ชัดเจนในความคิด ทั้งหมดนี้เป็นสไตล์ หรือ “ฟอร์ม” ที่เป็นความตั้งใจของฮามากูจิ และแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดทางภาษาภาพยนตร์ที่โดดเด่นของเขา คลับคล้ายกับสไตล์คนทำหนังฝรั่งเศสยุค 1960 ที่ถ่ายหนังเร็วๆ เป็นธรรมชาติ มีชีวิตชีวา และเล่าเรื่องความสัมพันธ์อันกระอักกระอ่วนและซับซ้อนได้ในเวลาสั้นๆ

ตอนแรกของหนังชื่อ Magic อันว่าด้วยเพื่อนหญิงสองคน ที่คนหนึ่งดันไปปิ๊งกับแฟนเก่าของอีกคน ตอนที่สองชื่อ Door Wide Open ตอนนี้ว่าด้วยหญิงสาวที่ถูกแฟนหนุ่ม ใช้ให้ไปหว่านเสน่ห์ใส่อาจารย์และนักเขียนรุ่นใหญ่ โดยหวังจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง  ตอนสุดท้ายชื่อ Once Again ว่าด้วยเลสเบียนสาวที่เดินสวนกับคนที่เธอคิดว่าเป็นแฟนเก่าบนบันไดเลื่อน นำมาซึ่งการเดินทางกลับไปหาความทรงจำที่ทั้งชัดเจนและขมุกขมัว

หนังทั้งสามตอนต้องการพูดถึงอะไร? ฟังจากพล็อท Wheel of Fortune and Fantasy ช่างฟรุ้งฟริ้งราวกับหนังวัยรุ่น แต่แท้จริงแล้วมันคือหนังที่ว่าด้วยอารมณ์ที่ผู้ใหญ่มากๆ เช่นแรงปราถนาอันควบคุมไม่ได้ ความรู้สึกหวานอมขมกลืนในความสัมพันธ์ โอกาสที่หลุดลอยและกลับมาหลอกหลอนเมื่อเวลาผ่านไปนับสิบปี รวมทั้งการพูดถึงพลังอำนาจทางเพศที่ต้องปะทะกับพลังอำนาจของวรรณกรรมและศิลปะ (เช่นในตอนที่ 2 ที่ผู้เขียนตะลึงเป็นพิเศษกับบท และการแสดง)

ฮามากูจิ มองเห็นมนต์เสน่ห์ของเสี้ยววินาทีที่คนคุยกัน มองหน้ากัน โกรธกัน ยั่วยวนกัน หรือสะกิดแผลความทรงจำซึ่งกันและกัน เสี้ยววินาทีแห่งความบังเอิญและ “ชะตาชีวิต” ที่มีแต่สื่อภาพยนตร์เท่านั้นที่บันทึกได้และถ่ายทอดได้ ถ้าผู้กำกับและนักแสดงเข้าใจมันเหมือนกัน ในขณะเดียวกัน การเขียนบทสนทนาของเขามีลักษณะของคนเขียนเรื่องสั้นเก่งๆ  ที่ทำให้ตัวละครมีเลือดเนื้อไปพร้อมๆ กับทำให้พวกเขาเป็นเครื่องมือในการเล่าถึงประสบการณ์และความคิดที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ ตอนที่สองในหนังที่ชื่อ Door Wide Open ประกอบด้วยฉากตอนกลางที่ยาวมากในห้องพักอาจารย์ ขณะที่หญิงสาวพยายามโปรยเสน่ห์และล่อลวงนักเขียนรุ่นลุงให้ตกหลุมพราง แต่กลับกลายเป็นว่าตัวเธอเองต่างหาก ที่พลาดพลั้งเสียทีให้กับความนิ่งและจริงใจของเหยื่อ หนังตอนนี้สามารถกลายเป็นหนังที่ดูโอ้อวดและไม่น่าเชื่อ หากผู้กำกับและนักแสดงไม่สามารถสะกดมวลอากาศระหว่างตัวละครทั้งสองได้ชัดเจนเช่นนี้

ในความเรียบง่ายของหนัง Wheel of Fortune and Fantasy เป็นตัวอย่างที่ดีมากของการทำหนังที่เล่าเรื่องแสนยิ่งใหญ่ด้วยฉากไม่กี่ฉาก ตัวละครไม่กี่ตัว ไม่ต้องโพทนาปรัชญาลุ่มลึก แต่กลับทิ้งความรู้สึกขมหวาน ความเบาหวิวและเปี่ยมด้วยความหวัง และทำให้เรามองย้อนกลับไปดูว่า ในชีวิตเรามีช่วงเวลาแบบในหนังหรือไม่ ช่วงเวลาเล็กๆ ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนมาจนทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook