สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ กับวงการบันเทิงไทยที่วนในอ่าง โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ กับวงการบันเทิงไทยที่วนในอ่าง โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ กับวงการบันเทิงไทยที่วนในอ่าง โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นช่วงอาทิตย์ที่ดราม่าของการสูญเสียบุคคลในวงการบันเทิงไปนั้น ลากยาวกลายเป็นสิ่งที่ใครๆ หลายคนก็จับตา ตั้งคำถาม และเหมือนเป็นการเอาวงการบันเทิงมาวางแบให้เห็นเลยว่า ภายใต้ความสวยงามนี้ มันมีอะไรอยู่บ้าง จนอาจจะลากยาวไปถึงคำถามสำคัญกว่า ที่เทยคิดว่าสัปดาห์นี้จะขอพักการรีวิวซีรีส์ แล้วมาชวนคุยกันซักหน่อย

 

สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ กับวงการบันเทิงไทยที่วนในอ่าง

 

“ทำไม ละครบ้านเรา ถึงสู้ของเมืองนอกไม่ได้ซะที”

คำถามนี้ ถูกวางจั่วหัวเอาไว้ให้ชาวติดซีรีส์รุ่นใหม่ได้ตั้งคำถาม นับตั้งแต่วันที่ต่อ ธนภพ ให้สัมภาษณ์จนเกิดประเด็นว่า “คนดูไม่เปิดใจ” จนมาถึงวันที่ “แตงโม” ได้จากไปแล้ว ปรากฏการณ์ที่สังคมไทยมองเข้าไปในวงการบันเทิง ก็ทำให้เห็นสิ่งต่างๆเด่นชัดอยู่นะเธอ หรือบางทีมันอาจจะเป็นคำตอบให้กับหลายๆสิ่งที่รันคอนเทนต์อยู่ด้วยเหมือนกัน

สิ่งที่น่าคิดคือ เราไม่เคยได้ยินคำพูดของผู้จัด หรือช่อง ออกมาให้ความเห็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพของคอนเทนต์ไทยเลย เรามักจะได้ยินคำพูดของนักแสดงตามสื่อที่สัมภาษณ์หรือให้ความเห็นเรื่องนี้กันเสียมากกว่า ซึ่งก็อาจจะพอสรุปได้เลยว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นักแสดงจะเป็นสิ่งที่คอยตอบคำถาม และเป็นนางแบกหน้าโรงตลอดมา

ทีนี้คุณภาพของคอนเทนต์ “ที่ดี” นั้น จะสามารถฝากฝังให้อยู่แค่ตัวนักแสดงได้หรือไม่ ผลงานการแสดงของนักแสดงที่ผ่านมา ยังอยู่ และของนักแสดงที่จากไป จะพอเป็นผลงานที่ช่วยขับเคลื่อนวงการบันเทิงไทยให้ไปสู่ระดับสากลได้หรือไม่นั้น นี่ก็เป็นอีกส่วนที่เราต้องมองเรื่องนี้กันลึกๆ

 

ซึ่งในวงการซีรีส์ต่างประเทศ มักจะประกอบกันสามส่วนหลักๆด้วยกันคือ

 

“ผู้ผลิต” 

จะมีคอนเทนต์ให้เราได้ ก็ต้องมีผู้ผลิต ซึ่งการมองไปยังแวดวงของผู้ผลิตละครไทย แน่นอนว่ามองแค่นักแสดงไม่ได้ แต่ยังรวมถึงเบื้องหลัง ทีมงาน สตูดิโอโปรดักชั่นเฮาส์ หรือช่องและบริษัทที่ผลิตผลงานด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ในอุตสาหกรรมบันเทิง และเมื่อมองว่าทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ คือ “ผู้ผลิต” นั่นหมายความว่า ต้องมองว่าพวกเขาคือ “อาชีพ” เป็นอาชีพที่อยู่ในฟันเฟืองของสังคม และมีส่วนในการพัฒนาสื่อของสังคมไปพร้อมๆกัน

แต่ในไทย หลายๆครั้ง แม้แต่ในคนในอุตสาหกรรมเอง ก็ไม่ได้มองว่าตัวเองคือ “อาชีพ” แต่ความสวยงามของวงการ เป็นใบเบิกทางให้ตัวเองประสบความสำเร็จในช่องทางต่างๆ เพราะฉะนั้นหลายๆครั้งผู้ผลิต ไม่ได้มองว่าจะผลิตเพื่อดันวงการไปข้างหน้า แต่อยู่กันด้วยความคิดที่ว่า “เราจะต้องรอด” 

ตัวผู้ผลิตทุกคน มีสิ่งที่ต้องแบกและรับผิดชอบแน่นอนล่ะ เราเห็นๆกันอยู่ แต่ตัวนักแสดง หรือทุกคนที่อยู่ปลายสายการผลิต ต่างก็ต้องเจอกับการต้องทำทุกอย่าง “เพื่อให้มีงาน” การกระโจนตัวเองเข้าหาคอนเทนต์ทุกแบบเพื่อให้มีแอร์ไทม์ หรือแม้แต่การลงไปเล่นกับนักข่าวสายบันเทิง ขายเรื่องชีวิตส่วนตัวไปเลยก็มี เพราะต้นทาง ไม่มีสิ่งใดเหลือให้ไปต่อ กรอบคำสำคัญของนักแสดงหลายๆครั้งกับการใช้คำว่า “เป็นนักแสดง ต้องเล่นได้ทุกบทบาท” นั้น เป็นเหมือนภาระหนักอึ้งที่นักแสดงหลายคนต้องแบก และอาจจะต้องลงท้ายที่การต้องรับบทตบตีมาหลายร้อยเรื่อง จนกระทั่งออกจากวงการไป

บทที่ซ้ำจนจำได้ การแสดงที่เดาทางถูก ล้วนเป็นสิ่งที่มาจากคำว่า “เราจะต้องรอด” ทั้งสิ้น เพราะผู้ผลิต แบกความเสี่ยงทุกอย่างกันเอง จนต้องทำสิ่งเดิมๆ เพื่ออย่างน้อยเอาให้รอดก่อน และเมื่อทำไปหลายๆครั้งเข้า ก็พบว่าวงการเริ่มถอยหลังลง ในแว่นของความเป็น “อาชีพ” เริ่มน้อยลง ความเป็นมืออาชีพของคนในอุตสาหกรรมก็ถดถอยตาม ทุกคนเริ่มให้เวลากับการปั้นสิ่งใหม่น้อยลง และขอเบียดเวลาไปหาสิ่งที่ได้เงินไวกว่า ปิดงานไวกว่า เช่นโฆษณาหรืออีเวนท์นั่นเอง



“ผู้ชม”

เป็นปัจจัยสำคัญมากๆของวงจรนี้ สำคัญถึงขนาดมีการถูกยกเอามาพูดเลยว่า “ไม่เปิดใจ” รับคอนเทนต์ที่ทางผู้ผลิตตั้งใจทำก็ว่า ดังนั้นเราคงต้องกลับมาสำรวจกันว่า “ผู้ชม” เขาดูอะไรกัน

ยุคของการเสพย์ทีวีนั้นเปลี่ยนไปมาก ยุคของฟรีทีวีแทบจะหมดไปแล้ว ฉีกให้คนดูออนไลน์ กับดูออนแอร์นั้น แทบจะเป็นคนละกลุ่มกัน และเมื่อตลาดคอนเทนต์ออนไลน์ดันเชื่อมกันทีเดียวทั้งโลก การดูซีรีส์จากต่างประเทศ สามารถดูพร้อมกับประเทศต้นทางได้เลย เมื่อมีบริการ Streaming ทางเลือกของผู้ชมจึงมากขึ้นตาม และเมื่อผู้ผลิต เลือกจะทำงานแบบ “เราจะต้องรอด” การไม่สนใจตลาด Steaming และเลือกฐานผู้ชมออนแอร์ฐานเดิม ที่มีจำนวนมากกว่า จึงเป็นทางเลือกที่เซฟกว่านั่นเอง

ฐานคนดูคนไทย ละครเมโลดราม่า ความรัก ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน อาจจะสามเศร้า แย่งผัวเมียหรือแย่งสมบัติ จะชวนจิ้นแบบซีรีส์วาย ทุกคอนเทนต์ ไม่ใช่แค่ไทยที่ทำ แต่ทุกประเทศที่เชื่อมกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่างลงมาทำคอนเทนต์ในลักษณะเดียวกันทั้งหมด ซึ่งหลายครั้ง ตัวคอนเทนต์มีโปรดักชั่นที่ดีกว่า บทที่เข้มข้นกว่า เพลงประกอบที่เพราะกว่า หรือแม้แต่นักแสดงที่หล่อไม่ได้ต่างกัน แต่เขาการแสดงดีกว่าด้วยบทและทีมงานที่ส่งเสริม ฉะนั้นจึงไม่แปลก ที่คนดูมีสิทธิ์ที่จะเลือกเสพย์อะไรที่เข้มข้นกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้สังคมไทยและสังคมออนไลน์ จะโหยหาการดูคอนเทนต์ที่เป็นมาตรฐานระดับโลก มากกว่าละครตบตีไร้สาระ แต่การที่คนดูจะเลือกเสพย์อะไร มันก็มีความขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเมืองรอบๆตัวผู้ชมด้วยเหมือนกัน หากสภาพสังคมมันเต็มไปด้วยเรื่องราวที่เครียด และหดหู่ การจะเลือกดูซีรีส์สืบสวน ใช้สมองหนักๆ จึงเป็นทางเลือกที่น้อยคนนักจะเลือก สังคมไทยยังคงเป็นสังคมที่คนเอนจอยกับการเสพย์คอนเทนต์แบบ “บันเทิงกึ่งเรื่องจริง” เรื่องฉาว เรื่องคาว เรื่องของชาวบ้าน ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองได้ลงไปเสพย์ ไปสนุกด้วย จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากกว่า

ฉะนั้นละครตบตี ใต้เตียง อาจจะไม่ใช่ปัญหา ตราบเท่าที่เราคิดว่าสังคมยังมีเรื่องผัวๆเมียๆ และเรื่องใต้เตียงอยู่ในระดับโครงสร้างให้เราไว้ใช้เม้าท์ ผู้ผลิตก็แค่เสพย์ตามสิ่งที่เราต้องการเท่านั้นเอง และความไว ปิดงานให้ไว ฉายให้ไว จึงตามมา ฉายก่อน ค่อยรีรันลง Netflix ทีหลังก็ได้

เพราะสุดท้าย กลุ่มคนดูออนไลน์กับทีวีตามบ้าน ก็เป็นคนละกลุ่มอย่างชัดเจน



“แรงสนับสนุน”

ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตและคนผู้ชมเกิดความคิดแบบนี้ คือขาดปัจจัยการสนับสนุน และปล่อยให้ทุกๆคนดิ้นรนกันเอง ผู้ผลิตจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองรอด ส่วนผู้รับชม มีอะไรให้ดูก็ดู แต่ถ้ามีโอกาส หาทางเลือกอื่นๆดูได้ ฉันก็จะไปดูอย่างอื่น

เป็นการสะท้อนว่า อุตสาหกรรมบันเทิงไทยนั้น ไร้ทิศทางในการบริหารจัดการ หรือมีนโยบาย งบประมาณ หรือการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ทุกๆอย่างมาจากการที่มือใครยาว สาวถึงสปอนเซอร์และการขายได้ก่อน คนนั้นชนะ

การจะส่งออกคอนเทนต์ออกไปในระดับโลกเช่น K-Pop หรือ J-Pop ที่มีทั้งศิลปิน นักแสดง ซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลง และแอนิเมชั่น ไม่ใช่สิ่งที่จะสนับสนุนกันเองแล้วเกิดขึ้นได้ เงินทุนจำนวนมหาศาลในการจะลงทุนสร้างคอนเทนต์ดีดีนั้น เป็นแรงสนับสนุนมาจากรัฐบาลทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อจ่ายลงมาแล้ว สตูดิโอผู้ผลิต ก็จะมีสิทธิ์กำหนดนโยบายที่จะเป็นทิศทางการนำเสนอคอนเทนต์นั้นๆออกไป ข้อดีคือการที่ผู้ผลิต จะได้รับการอุ้มชู และมีโอกาสสร้างสรรค์งานที่ดีได้ตามปัจจัยที่จะเอื้อ หรือสนับสนุนให้คอนเทนต์ไปอุ้มชูนโยบายอื่นๆของรัฐ เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยว ให้ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ก็เป็นไปได้ ก็จะได้คอนเทนต์ที่มีโลเกชั่นสวยๆ ผู้ผลิตก็ได้รับความสะดวกสบายในการถ่ายทำ

แต่ข้อเสียก็คือ ถ้ารัฐเป็นตัวกำหนดทิศทาง ทุกอย่างก็อาจจะขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะกำหนดให้มันไปทางไหน เช่นในเกาหลีใต้ คอนเทนต์ก็จะกรอบความคิดผู้ชายผู้หญิงแบบชายเป็นใหญ่แน่น เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ก็อาจจะไม่เท่าของไทย แต่ของไทย แม้จะหลากหลาย แต่รัฐก็จะกำหนดให้แนวทางไปในทางชาตินิยม รักชาติ หรือสนับสนุนเรื่องต่างๆตามที่รัฐวางมานั่นเอง

ตอนนี้อุตสาหกรรมบันเทิงไทย อยู่ในช่วงเวลาแห่งการผกผัน ทั้งการแข่งขันที่ไม่หยุดนิ่ง การถ่ายทำที่ต้องขึ้นอยู่กับโรคระบาด การสูญเสียบุคคลในวงการ รวมไปถึงการสนับสนุนที่ต้องดิ้นรนกันเอง อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เห็นว่า ลำพังประสิทธิภาพและคุณภาพของคนในอุตสาหกรรมนั้น ไม่ได้เป็นที่กังขา แต่มันมีระบบ และการกดทับบางอย่างให้คนในวงการไม่ก้าวไปไหน

 

บางคนเลือกที่จะยอมรับมันและอยู่ให้รอดต่อไป บางคนก็เลือกที่จะสู้ จะเข็นมันก็มี

ส่วนคนดู ก็เลือกได้ ว่าจะสนับสนุนกันอย่างไรค่ะ

เหยี่ยวเทย รายงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook