ซีรีส์-ละครไทย กับการไปสู่ Soft Power ที่ไกลหรือผ่านไปแล้ว โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
กะเทยนิวส์เอง ก็รีวิวละคร ซีรีส์ ทั้งไทยและเทศ ชวนดู ชวนเมาท์ พาระลึกถึงคอนเทนต์ดีดีมาก็หลายครั้ง แต่ประเด็นที่ถูกนำมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ ก็คือซีรีส์ไทย ของไทยแท้ๆ จะสามารถเป็น Soft Power ที่ทรงพลังได้หรือไม่ สามารถเทียบชั้นซีรีส์ของต่างประเทศที่ส่งออกไปกี่เรื่องๆ ก็ปังทุกเรื่องได้หรือไม่ คราวนี้เรามาดูกันว่ามันมีอะไร ติดตรงไหน เอาปากกามาวงกันหน่อยซิ
ซีรีส์ละครไทย จะไปสู่การเป็น Soft Power ได้หรือไม่
การจะบอกว่าละคร หรือซีรีส์ไทย ล้าหลัง ไม่ไปกับโลก โลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว ก็อาจจะเป็นการพูดที่กำปั้นทุบดินไปเสียหน่อย เพราะจริงๆแล้วอาจจะมีที่มา เรื่องราว บนถนนสายอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ที่มีพลวัฒน์ มีวิวัฒนาการที่มาไกล และตลาดคอนเทนต์ไทย อาจจะเคยมีอิทธิพล เคยก้าวหน้า และรุ่งเรืองสุดๆมาแล้วเลยก็เป็นได้
แต่พอมายุคใหม่ ที่ใครๆก็บอกว่าละครไทยมันไม่ไปไหน ปัญหาของมันอยู่ที่ตรงไหนกันล่ะ เทยก็เลยคิดว่าเราอาจจะต้องไล่ไปเป็นประเด็นๆเลยก็ได้นะเออ
-
Soft Power ที่มากกว่าแค่ละคร
เวลาเราพูดถึง Soft Power หรือการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีพลังในการพูดแบบไม่รุนแรง ซึ่งมักจะหมายถึงสื่อ และคอนเทนต์นั้น มันไม่ได้ถูกหมวดหมู่เพียงแค่ละคร แต่มันจำเป็นต้องไปพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม และยืนพื้นอยู่บนอิสระของการนำเสนอ เพราะหากเรามองไปที่ Soft Power ที่ประสบความสำเร็จในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี เราจะพบว่ามันไม่ใช่แค่ทำสื่อออกมาให้สนุก แต่เขาไปพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม และมันนำเสนอความเป็นชนชาตินั้นๆที่ไปด้วยกันกับโลกสากล ที่พร้อมซื้อ พร้อมเข้ามาเสพย์คอนเทนต์ของชาตินั้นๆ โดยไม่รู้สึกว่าความเป็นชาตินั้น เป็นอุปสรรค
สิ่งที่ญี่ปุ่น ทำแล้วประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน คือการขายทั้งหนัง ละคร เพลง เกมส์ การ์ตูน ซึ่งทุกอย่าง เมื่อแปลเป็นภาษาสากลแล้ว ไม่รู้สึกตะขิดตะขวง หรือกลายเป็นกำแพงที่ทำให้คอนเทนต์นั้นเข้าไม่ถึง หากแต่มีการปรับ และได้อิสระในการเข้าถึงและนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย ทางฝั่งเกาหลีใต้ก็ประสบความสำเร็จตามมาติดๆ ทั้งวงการ K-Pop และภาพยนตร์เกาหลีที่ไปได้รางวัลออสการ์ กับการนำเสนอความ Pop ที่เป็นภาษาสากล หรือหนังที่ชูประเด็นชนชั้นทางสังคม ที่เป็นภาษาเดียวกันในทุกประเทศ
ดังนั้น หากไทยเราจะนำเสนอ Soft Power ได้บ้าง เราอาจจะต้องมองว่าความเป็นไทยอันไหน ที่พอไปเป็นภาษาเดียวกับระดับสากลแล้ว ไม่กลายเป็นกำแพง หรืออุปสรรคที่ทำให้คอนเทนต์จะถูกปัดเป็นเนื้อหาที่ไม่ได้รับการยอมรับ อาจจะต้องคำนวณกันใหม่ทั้งหมด ทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพศ ค่านิยมและสไตล์ที่ทั่วโลกมองเป็นมูลค่าตรงกัน และนำเสนอความเป็นไทยผ่านเรื่องราวที่เป็นค่าเดียวกันเหล่านั้น
แน่นอนว่ารัฐต้องลงมาสนับสนุนอย่างเปิดกว้าง และไม่บีบบังคับจนมันแปลงร่างเป็น Propaganda ไปเสียก่อน
-
ละคร กับ ซีรีส์ หลักคิดหลักทำมันต่างกัน
ย้อนเวลากลับไปซักหน่อย ก่อนที่เราจะเข้าสู่ยุคดิจิตอล วงการคอนเทนต์บ้านเรา ไม่เคยมีการใช้หลักคิดแบบ “ซีรีส์” หรือการถ่ายแบบภาพยนตร์ชุดขนาดยาว แต่เป็นการถ่ายแบบ “ถ่ายไป-ออนไป” ให้มีละครลงตามตารางฉาย และยืดหดเนื้อเรื่องได้ตามเรตติ้ง เพราะฉะนั้น การคิดโปรดักชั่นแบบเน้นทำบทให้จบ เน้นคิดโปรดักชั่นดีไซน์ให้จบ งานประกอบศิลป์ที่ละเอียด ก็ต้องพักไปก่อน เพราะสิ่งที่ละครทีวีบ้านเราทำมาก่อน คือการทำยังไงก็ได้ให้มีของออนแอร์ ความจอแก้ว ความยัดเด็กให้มีคิวถ่าย เพราะดาราประจำช่องต้องมีงานป้อนตลอด จะมีบทหรือไม่มีขึ้นอยู่กับปลายปากกาของคนอยู่หลังกองถ่ายนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น
ดังนั้น ผลงานคอนเทนต์ไทยแต่โบราณ จึงไม่ปรากฏผลงานประเภทซีรีส์ขึ้นหิ้ง หากแต่เป็นผลงานละครที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมขายดีเป็นส่วนใหญ่ และเป็นวรรณกรรมที่ถูกนำมาทำซ้ำๆ รีเมคซ้ำๆ เพื่อป้อนการออนแอร์ มากกว่าจะไปเสาะหาวรรณกรรมเรื่องใหม่มาทำใหม่ เพราะมันกินเวลาเตรียมงานโปรดักชั่นที่สั้นกว่า มาขยายจากโครงเดิมที่มีอยู่แล้ว และปั้นนักแสดงใหม่ ลงฉายเลย มันกินเวลาน้อยกว่าการตั้งทีมปั้นโปรเจ็คใหม่ทั้งก้อนนั่นเอง
หากจะยกตัวอย่าง เช่น “มงกุฎดอกส้ม” ที่ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นช่อง 7 หรือ ช่อง 3 ต่างใช้โลเกชั่นเดิม บทยึดตามโครงเดิม เปลี่ยนเพียงแค่นักแสดงเท่านั้น จึงทำให้มงกุฎดอกส้ม ไม่อาจจะหยิบมาพูดว่าเป็นซีรีส์น้ำดีได้ เพราะมีมากกว่าหนึ่งเวอร์ชั่นขึ้นไป หรือแม้แต่เมียหลวงก็ตาม ที่จะหาความเป็นต้นฉบับอันเลอค่า ก็ยากเหลือเกิน เพราะรีเมคจนช้ำไปหมดแล้ว
เมื่อหลักคิดตั้งต้นของการทำงานเลือกเอาไว ป้อนช่องเข้าว่า รายละเอียดที่เหลือก็จะเป็นเรื่องรองลงมา ละครที่ป้อนสำหรับฉายต้องมีออนแอร์ให้ไว ให้พอสำหรับโฆษณาลงได้ไม่ขาดตอนสำหรับช่อง สายป่านการมองเนื้อคอนเทนต์ก็ยิ่งสั้นลง มองเหลือเพียงแค่ความเป็นละครช่อง ให้รับกับโฆษณาที่จะมาลงตามเวลาเรตติ้งเท่านั้น ไม่ได้คิดเผื่อสำหรับการเป็นคอนเทนต์ระยะยาว เพื่อส่งขายต่อไป
-
เนื้อหาที่ดีมี แต่มันจากเราไปแล้ว
ต้องยอมรับว่าจริงๆแล้ว แม้จะเป็นละครตบตีก็ตาม แต่เนื้อหาบางอย่าง ก็บอกเล่าเรื่องราวที่เป็นหมุดไมล์แห่ยุคสมัย เช่น “คนเริงเมือง” ที่บอกเล่าเรื่องราวของพริ้ง ผู้หญิงที่ใช้เรือนร่างตักตวงผลประโยชน์จากผู้ชายในช่วงหลังสงครามโลก และยุคที่ประเทศไทยกลายเป็น “ประเทศนางบำเรอ” ก็เป็นเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นจริงในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ทิศทางการนำเสนอเมื่อถูกเบนไปสู่แว่นศีลธรรม หรือทำซ้ำให้เพิ่มอรรถรสที่การตบตี จึงหันเหตัวเนื้อหาที่พยายามนำเสนอประเด็นที่หนักหน่วงกว่าออกไป และยิ่งถูกทำซ้ำในทิศทางเดิม ก็ยิ่งทำให้เนื้อหาตั้งต้นที่แม้จะดี แต่มันก็ไม่ได้เปิดมุมมองที่ได้ไปต่อได้ในอนาคตเสียอย่างนั้น
หรือแม้แต่ละครน้ำดีอย่าง “กาหลมหรทึก” ที่ว่ากันว่าเป็นละครน้ำดี สมัยใหม่ เหมือนเป็น The DaVinci Code เมืองไทย แต่เมื่อถูกนำเสนอด้วยหลักการทำงานแบบ “ละครช่อง” ไม่ใช่ “ซีรีส์” แว่นการมองคอนเทนต์ที่ดีก็จะมาแล้วไป เพราะมันไม่คุ้มทุนช่องทางที่จะไปต่อ มันไม่ได้ถูกคิดมาเพื่อทำเป็น Soft Power แต่แรก
และหากเราไปส่องดูวรรณกรรม บทต้นฉบับของคนไทย มีหลายเรื่องที่มีคุณค่า เหมาะแก่การนำเสนอสะท้อนปัญหาของเมืองไทย ที่ในตลาดคอนเทนต์สามารถสู้กับเมืองนอกได้อย่างดีทั้งนั้น สยองขวัญไซไฟอย่าง “ศีรษะมาร” ที่แทบจะเป็นแนวสยองขวัญแบบใหม่ที่มาก่อนในหลายชาติรอบๆเรา ก็เคยทำมาแล้ว เรื่องราววัยรุ่นโสมมที่ก่อนจะมีฮอร์โมน เกาะสวาท หาดสวรรค์ เราก็เคยทำมาแล้ว เรื่องเพศที่จบลงอย่างขมขื่นหรือชื่นมื่นอย่างตลาดซีรีส์วาย หรือแม้แต่การสร้างจักรวาลให้ทุกเรื่องเชื่อมต่อกัน เราก็มีมาตั้งแต่สมัย จิตสังหาร-เดือนเดือด-คมคน หรือแม้แต่จักรวาลนครสวรรค์อย่าง กรงกรรม-สุดแค้นแสนรัก ก็มีมาแล้วทั้งสิ้น
แต่ทว่าเนื้อหาที่ทรงคุณค่าเหล่านั้น กลับหายไปตามกาลเวลา หรือถูกหยิบกลับมาทำใหม่ในแว่นที่ตอกย้ำค่านิยมเดิมๆ จนทำให้เนื้อหาตัน และไม่ถูกนำเสนอในรูปแบบใหม่เสียที
-
ไม่มีระบบ Streaming ที่แข็งแรง
การปิดตัวของ LINETV นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ระบบ Streaming ที่จะอยู่รอดไปได้ของบ้านเรานั้นไม่มีเป็นของตัวเอง เราล้วนต้องฝากการฉายในยุคที่ระบบ Digital เข้ามา Distrup ตลาดคอนเทนต์อย่างดุเดือดไว้ที่เจ้าอื่นๆเสมอ คอนเทนต์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะมองเป็น Soft Power หรือเป็นแค่ละครป้อนออนแอร์ที่มาแล้วก็ไป การจะหาดูย้อนหลัง หรือวัดเรตติ้งดิจิตอลนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน
เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พฤติกรรมการดูคอนเทนต์ของคนสมัยปัจจุบันเปลี่ยนไปมากเหลือเกิน
ดังนั้นเมื่อเราต้องฝากคอนเทนต์ไว้กับระบบ Streaming ที่เป็นระบบแข็งขันในตลาดสากล หากเจ้าของงานไม่มองคอนเทนต์เป็นโปรดักส์ระยะยาวแล้วล่ะก็ เราก็คงต้องทำละครประเภท “เผื่อฟลุ๊ค” ว่ามันจะดัง แล้วรอกอบโกยในระดับสากลเท่านั้น
ส่วนเนื้อหาแบบ Original Content ที่จะต้องใช้เวลาลงทุน ก็ดันจำกัดจำเขี่ย ทำให้หลายๆเรื่องออกมาเหมือนจะดี แต่ลงท้ายแบบกลับตาลปัตรไปมาก แทนที่จะเสียเวลาดูเรื่องนี้ ไปหา Original Content ที่ลงทุนเยอะกว่า และมีเนื้อหาแบบไม่กั๊กดีกว่านั่นเอง
ดังนั้นหากมองภาพรวมแล้ว ศักยภาพของคอนเทนต์ไทยนั้นของดีดีมีเยอะมากมาย แต่การได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ และมองเป็นคอนเทนต์ที่กว้างไกล ตีความได้แตกต่างหลากหลายนั้น ยังอยู่ในวงที่จำกัดอยู่มาก หากจะดันให้ไปสู่ตลาด Soft Power แล้วล่ะก็ คงต้องมีการสังคยนาระบบกันยกใหญ่เลยทีเดียวแม่
เหยี่ยวเทย รายงาน