โค้งสุดท้ายรางวัลออสการ์ Coda, Belfast หรือ พลังสุนัข โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ความผกผันของ “กระแส” ในช่วงสามเดือนหลังที่ผ่านมา ทำให้รางวัล Best Picture ของออสการ์ในปี 2022 เป็นปีที่เดาทางยาก และอาจจะต้องไปวัดกันถึงพรมแดงหน้าเวที
ลองไล่เรียงกันดู ปลายปีที่แล้วหนังที่เป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งคือ Belfast หนังขาวดำว่าด้วยครอบครัวในไอร์แลนด์เหนือท่ามกลางความรุนแรงทางการเมืองในปี 1969 โดยผู้กำกับ เคนเนธ บรานาห์ Belfast ได้รางวัล People’s Choice Award ที่เทศกาลโตรอนโตเมื่อเดือนกันยายนที่แล้ว ซึ่งเป็นรางวัลชี้เป็นชี้ตายให้กับหนังมาแล้วมากมาย เพราะหนังที่ได้รางวัลนี้แล้วมักจะได้รับแรงส่งให้ไปต่อได้ถึง Best Picture ของออสการ์ (เช่นปีที่แล้ว Nomadland ก่อนหน้านี้ก็เช่น 12 Years a Slave)
แต่พอมาถึงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หนังที่แทรกขึ้นมาเป็นตัวเต็งคือ The Power of the Dog หนังคาวบอยท้าทายขนบ โดยผู้กำกับ เจน แคมเปียน หนังเป็นขวัญใจนักวิจารณ์และได้รับรางวัลจากสมาคมนักข่าวในอเมริกามากมาย นอกเหนือจากความเด่นในตัวหนังเอง โดยเฉพาะการกำกับที่ละเอียด บทที่ลึกซึ้ง และการที่หนังแหวกกฎของหนังคาวบอยตะวันตกอันเคยมีมา ทั้งๆ ที่เป็นตระกูลหนังที่ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ของชาติอเมริกันและประวัติศาสตร์หนังอเมริกัน การที่ The Power of the Dog มีผู้กำกับเป็นผู้หญิง (รวมถึงตากล้อง อารี เวกเนอร์) ทำให้หนังมี “เรื่องเล่า” หรือบริบทแบบที่ฮอลลีวูดชอบ เพราะหากหนังของแคมเปียนเรื่องนี้ได้รางวัล Best Picture นี่จะเป็นเพียงครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์เกือบ 100 ปีของรางวัลออสการ์ที่หนังที่กำกับโดยผู้หญิงได้รางวัลนี้ (ก่อนหน้าคือ The Hurt Locker)
แต่ยังไม่จบ มาถึงกลางเดือนมีนาคม กลายเป็นว่ากระแสความตื่นเต้นกลับหอบมายังหนังเรื่อง Coda อันว่าด้วยชีวิตและการต่อสู้ของครอบครัวคนหูหนวก โดยผู้กำกับ เซอาน เฮดเดอร์ อีกหนึ่งผู้กำกับหญิงที่พาหนังเข้าชิงปีนี้ ถ้านับถึงสัปดาห์นี้ นักข่าวหลายสำนักในอเมริกาเชื่อว่า Coda มีสิทธิ์เบียดเอาชนะทั้ง The Power of the Dog และ Belfast ได้ ด้วยคุณภาพของหนังเอง และด้วยปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่นการที่หนังเรื่องนี้จะช่วยเสริมสร้างภาพการโอบรับความหลากหลายที่ฮอลลีวูดพยายามให้ความสำคัญในช่วงหลัง
ที่น่าสนใจคือ หนังทั้ง 3 เรื่องที่เป็นตัวเต็งนี้ ไม่มีเรื่องไหนเป็นหนังทำเงินถล่มทลายเลย ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าฮอลลีวูดพยายามชุบชีวิตให้ออสการ์เป็นรางวัลที่เน้นความ “ป๊อปปูลาร์” โดยผลักให้หนังดังที่ทำเงินเยอะๆ ได้ขึ้นเวทีรับรางวัล ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมใดๆ และยังคงเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงกันต่อไป
นอกเหนือไปจากรางวัล Best Picture ที่ยังลุ้นกันหยดสุดท้าย รางวัลอื่นๆ ที่อาจจะยังหายใจรดต้นคอกันคือ นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม Best Actress เพราะก่อนหน้านี้ไม่ถึงเดือน ที่นำฝูงมาเลยคือ คริสเตน สจ๊วร์ต ในบทเจ้าหญิงไดอาน่า ใน Spencer แต่มาวันนี้ สำนักข่าวต่างๆ กลับดรอปเธอไปอยู่หลัง เจสสิกา เชสเทน จาก The Eyes of Tammy Faye (ว่าด้วยนักเทศน์ทางโทรทัศน์ หนังยังไม่เข้าไทย) และน่าจะไปอยู่หลัง เพเนโลเป ครูซ จาก Parallel Mothers หนังสเปนที่เบียดเข้ามาชิงด้วย ชั่วโมงนี้ต้องลุ้นว่า สจ๊วร์ตจะพลิกกลับมาได้รางวัล ตามเสียงกองเชียร์ได้หรือเปล่า
รางวัลอื่นๆ อาจจะไม่ต้องลุ้นหนัก ดารานำชายน่าจะไปทาง วิล สมิธ จาก King Richard ในบทพ่อที่ผลักดันลูกสาวสองคน วีนัส และ เซเรน่า วิลเลียมส์ จนกลายเป็นนักเทนนิสระดับโลก ดาราสมทบชายน่าจะเป็น ทรอย คอตเซอร์ นักแสดงใบ้จาก Coda (และจำทำให้เขาเป็นดาราผู้มีความบกพร่องทางร่างกายคนที่สองที่ได้รางวัลการแสดงของออสการ์ หลังจาก มาร์ลี แมตลิน เคยทำได้ในปี 1986 รางวัลที่น่าจะยังพอเชือดเฉือนกันได้อีกรางวัล คือนักแสดงสมทบหญิง ที่ต้องวัดกันระหว่าง อาเรียนา เดอโบส จาก West Side Story และ เคิร์สเตน ดันสท์ จาก The Power of the Dog ดูทรงแล้วเดอโบสน่าจะนำอยู่นิดๆ แต่ดันสท์ก็เด่นในบทเมียอมทุกข์ และอาจจะพอมีลุ้นถึงวันสุดท้าย
อีกรางวัลที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีเซอร์ไพรส์ คือ Best International Feature หรือหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม เพราะ Drive My Car หนังญี่ปุ่นของ ริวสุเกะ ฮามากูจิ แทบจะนอนมาหลังจากกวาดรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ก่อนหน้านี้ไปนับสิบรางวัล แถมยังเป็นหนังที่ทั้งนักวิจารณ์และคนดูก็เชียร์กัน ก่อนหน้านี้หนังญี่ปุ่นที่ชนะรางวัลออสการ์คือ Departures หนังปี 2009 ว่าด้วยนักเชลโลหนุ่มที่รับจ๊อบเป็นคนแต่งหน้าศพ ตอนเข้าฉายในไทยหนังเรื่องนี้โด่งดังและมีคนดูมากพอสมควร
ไม่ว่าหนังเรื่องไหนจะได้รางวัลอะไรหรือพลาดอะไร ออสการ์ปีนี้ถือลุ้นสนุกพอใช้ได้ งานแจกรางวัลจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 28 มีนาคมนี้เวลาเมืองไทย