เทอมสอง สยองขวัญ "ผี" กับระบอบในมหาวิทยาลัย
เป็นเดือนแห่งหนังผีไทยจริงๆ สำหรับเดือนมีนาคม พ.ศ.2565 โดยในสัปดาห์นี้ “เทอมสอง สยองขวัญ” กลายเป็นหนังทำเงินประจำสัปดาห์ ได้รับความสนใจจากเหล่าวัยรุ่นแบบอุ่นหนาฝาคั่ง ซึ่งภายใต้ความน่ากลัวของ “ผี” หนังไทยเรื่องนี้แทรกสอดประเด็นเรื่องใน “รั้วมหาวิทยาลัย” เอาไว้อย่างน่าสนใจไม่น้อย
บทความนี้มีการเปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์ ไม่เหมาะสำหรับคนยังไม่ได้รับชม
ถึงแม้เทอมสอง สยองขวัญจะประกอบไปด้วยหนังสั้นจำนวน 3 เรื่องที่แยกออกจากกันอย่างเป็นเอกเทศ ไม่มีความเกี่ยวโยงกันระหว่างเรื่องแต่ถึงอย่างนั้นธีมที่หนังเกาะเกี่ยวกันอย่างแน่นแฟ้น คือเรื่อง “ระบบ” บางอย่างที่ฝังตัวอยู่กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาอย่างช้านาน
“เชียร์ปีสุดท้าย” ตอนเปิดเรื่องราวที่ผู้เขียนเองก็ชอบที่สุดในบรรดาหนังทั้งสามเรื่อง เมื่อหนังบอกเล่าประเพณีการเข้าห้องเชียร์ของคณะสถาปัตยกรรมรุ่นที่ 37 โดยโฟกัสไปที่ เมษา (มิวสิค BNK48) และต่าย (แคร์ ปาณิสรา) รุ่นน้องปี 1 ประจำคณะที่ต้องเข้าร่วมพิธีกรรมดังกล่าวตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่แล้วเมื่อเมษาได้มองเห็น “สิ่งลึกลับ” ในห้องเชียร์ส่งผลให้เกิดบรรยากาศบางอย่างที่สั่นประสาทเพื่อนร่วมคณะคนอื่นๆท่ามกลางสายตาการตั้งคำถามของรุ่นพี่ปีสองและรุ่นพี่บัณฑิตที่มาคอยดูกิจกรรมครั้งนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
แม้หนังในตอนนี้จะดำเนินเรื่องราวภายใต้สถานที่เพียงไม่กี่พื้นที่ อาทิดาดฟ้าตึกของคณะ ห้องเชียร์บริเวณใต้ถุนคณะ และพื้นที่รอบตัวตึก แต่หนังสามารถสะท้อนภาพของ “ระบบโซตัส” ที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายคนคงมีโอกาสได้เคยสัมผัสเองมากับตัว
ปรากฏการณ์ “เห็นผี” ของเมษา ที่เห็นได้ชัดเลยว่ามันไม่ใช่พลังพิเศษที่เธออยากได้ มิหนำซ้ำมันกลายเปรียบเสมือนเนื้อร้ายและโรคร้ายที่ทำให้เธอ “ผิดแผกและแปลกแยก” ออกจากเพื่อนๆคนอื่นในโรงเรียน มีแค่เพียงต่ายเท่านั้นที่เข้าใจและรับรู้ได้ถึงความลำบากของเพื่อนตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นหนังก็เผยให้คนดูได้เห็นและเข้าใจว่า เมื่อต่ายเข้าสู่มหาวิทยาลัยและได้พบกับเพื่อนใหม่ๆ ตัวเธอเองที่มีใบหน้าสะสวย ดูน่าจะป๊อปปูล่าร์ได้ไม่ยาก เธอจึงอยากจะลองคบเพื่อนกลุ่มใหม่ๆที่ชักชวนเธอให้ไปเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะ
การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้นี่เองที่ทำให้เมษาเริ่มรู้สึกว่า เพื่อนสนิทของตัวเองกำลังจะตีตัวออกห่างเธอไป แต่เมื่อการมองเห็น “ผี” ในห้องเชียร์ทำให้เธอแสดงพฤติกรรมแปลกประหลาดต่อหน้าเพื่อนๆและรุ่นพี่ของคณะ ทำให้เมษาเองถูกมองด้วยสายตาตั้งคำถามจากคนรอบตัว
จุดพีคของ “เชียร์ปีสุดท้าย” คือการที่เมษาถูกรุ่นพี่บัณฑิตเรียกขึ้นมาที่หน้ากิจกรรมและตั้งคำถามว่า การที่เธออ้างว่าเห็นผีและไม่อยากจะร่วมกิจกรรมเชียร์ต่อ เธออยากกลับบ้าน แล้วถ้ามีเพื่อนๆคนอื่นๆขอทำแบบเธอบ้างกิจกรรมนี้ยังสมควรจะมีอยู่ไหม รุ่นพี่บัณฑิตหันหน้าไปถามน้องๆว่าชอบกันไม่ใช่เหรอระบอบประชาธิปไตยน่ะ งั้นเรามาโหวตกันดีกว่าไหมว่าใครอยากจะอยู่หรือใครอยากจะกลับ ด้วยน้ำเสียงข่มขู่มากกว่าจะเป็นการถามเพื่อขอความเห็นเสียด้วยซ้ำไป จากเหตุการณ์นี้ทำให้ทุกอย่างลุกลามบานปลายไปสู่จุดที่ไม่อาจจะหวนคืนอีกต่อไป
“เชียร์ปีสุดท้าย” คือการใช้ “ผี” เอากลับมาตั้งคำถามถึงคนที่มองเห็นต่าง เห็นความไม่ชอบธรรมในระบบโซตัสและอยากจะปลีกตัวออกมา แต่ผลของการกระทำนั้นกลับกลายเป็นคมหอกดาบกลับมาทิ่มแทงตัวเองและกลายเป็นว่า คนที่อยากจะอยู่ร่วมสังคม (กับเพื่อนร่วมคณะ) จึงต้องทำตัวตามน้ำและยอมรับในพิธีกรรมดังกล่าวต่อไป ประเด็นเหล่านี้คือการชี้ชวนคนดูคิดและตั้งคำถามว่าท้ายที่สุดแล้ว สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเลือกทางไหน ตัวละครทุกตัวที่อยู่ในห้องเชียร์ครั้งนี้ก็มีตราบาปติดตัวไปด้วยกันทั้งนั้น
ในตอน “เดอะซี” ที่เล่าถึงตำนานของผีนักศึกษาแพทย์ที่จะกลับมายังหอพักที่มีเตียงซีในคืนวันสถาปนา ทว่าในคืนนั้นเองแทน (เจมส์ ธีรดนย์) นักศึกษาแพทย์ที่อยู่หอพักเพียงคนเดียวในคืนดังกล่าวต้องเผชิญหน้ากับความกลัวขั้นสุดขีด เมื่อเตียงที่เขานอนอยู่นั้นอาจจะเป็นเตียงในเรื่องเล่าก็เป็นได้
สิ่งที่ตัวละครของแทนต้องเผชิญนั้นคือจรรยาบรรณวิชาชีพแพทย์ที่เขาเองรู้อยู่แก่ใจว่าอาการป่วยเป็นโรคลมชักนั้น จะทำให้เขาขาดคุณสมบัติในการประกอบวิชาชีพที่ตัวเองฝันไว้ แต่ด้วยความหวังว่าถ้าหากว่าเขาเองสามารถรักษาโรคนี้ได้ บางทีมันอาจจะมีลู่ทางให้เขาได้ไปต่อ แต่เมื่อเขาต้องเอาตัวรอดจาก “ผี” ที่กลับมาทวงเตียงและไล่ล่าแทนอย่างเอาเป็นเอาตาย วินาทีนั้นแทนเองก็มีโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจตัวเองไปพร้อมๆกับการทำให้ผีจากอดีตได้ปล่อยวางจากสิ่งที่ไม่มีวันเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน
ส่วนตอนสุดท้ายอย่าง “ตึกวิทย์เก่า” ที่มาในโทนของหนังตลกวิ่งหนีผี บอกเล่าเรื่องราวของกอล์ฟ (กิต Three Man Down) น้องชายของมีน (เบลล์ เขมิศรา) พี่สาวสุดห้าวที่ไหว้วานให้กอล์ฟเอาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คมาให้เธอที่ตึกคณะวิทย์ ตึกใหม่ แต่กอล์ฟดันเลี้ยวผิดไปตึกเก่าที่มีตำนานของวิญญาณนักศึกษาที่กระโดดตึกตายในชุดบัณฑิต ผีป้ายนางตะเคียน และอาจารย์ผู้ตามหาขวดยารักษาโรค!
ถึง “ตึกวิทย์เก่า” จะเป็นตอนที่ตั้งใจพาคนดูหัวเราะคลายเครียดก่อนกลับบ้าน แต่เมื่อเราสำรวจประเด็น “เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา” อย่างกอล์ฟ ถึงแม้เขาจะดูเป็นไรเดอร์ตามจีบหญิงดูไร้อนาคตไปวันๆ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การเอาชีวิตรอด (จากผี) บางครั้งทักษะชีวิตก็มีความจำเป็นมากกว่าความรู้ทางวิชาการ เมื่อสุดท้ายการปราบผีของกอล์ฟนั้นคือ การทำความเข้าใจกับเงื่อนไขต่างๆ และตอบคำถามที่ว่าทำไมผีเหล่านี้ถึงไม่ยอม “ละทิ้ง” ความพยาบาทนั้นไป
บางครั้งเรื่องเล็กๆที่คนอื่นมองว่าไร้สาระ บางครั้งมันอาจจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากสำหรับบางคน เขาอาจจะแค่ต้องการคนมองเห็นและเข้าใจในสิ่งๆนั้น แม้กระทั่ง “ผี” ก็ตาม
ท้ายที่สุดแล้ว เทอมสอง สยองขวัญ อาจจะเป็นหนังผี 3 เรื่องที่มัดรวมกันมาเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมได้ลุ้นหายใจหายคอไม่ทั่วท้อง แต่ถึงอย่างนั้นหนังก็มาพร้อมประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว