CODA กับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปีล่าสุด ทำไมคุณจึงไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้

CODA กับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปีล่าสุด ทำไมคุณจึงไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้

CODA กับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปีล่าสุด ทำไมคุณจึงไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่ไม่น้อยที่ตลอดห้วงวันจันทร์ที่ผ่านมา ข่าวภาพยนตร์ต่างประเทศแต่ละสำนักดูเหมือนจะให้พื้นที่กับ “ซีนตบ” ของนักแสดงอย่างวิลล์ สมิธเสียจนไม่เหลือพื้นที่อื่นๆให้พูดถึงงานประกาศผลรางวัลในครั้งนี้ จนเราอาจจะกล่าวได้เลยว่ารางวัลสูงสุดของเวทีออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้รับการกล่าวถึงน้อยกว่าโมเมนต์ฉาวชวนดราม่าเสียอีก

 

CODA กับเรื่องราวอันแสนน่าประทับใจ

ตัวหนังจะเล่าเรื่องราวของรูบี้ รอสซี่ (เอมิเลีย โจนส์) เด็กสาวมัธยมธรรมดาๆ  ที่โตมาในครอบครัวที่ พ่อแม่และพี่ชายหูหนวก ในทุกเช้ามืดเธอจะต้องตื่นนอนก่อนตะวันจะขึ้นเพื่อออกเดินทางไปกับครอบครัวผู้ประกอบอาชีพชาวประมง โดยรูบี้ต้องทำหน้าที่เป็นคนให้สัญญาณสื่อสารด้วยภาษามือให้กับพี่ชาย ลีโอ (แดเนียล ดูแรนต์) ผู้ที่หูหนวกเช่นเดียวกับพ่อแม่ นอกจากนี้เธอยังต้องคอยช่วยเหลือ แฟรงค์ ผู้เป็นพ่อ (ทรอย คอตเซอร์) และแจ็คกี้ ผู้เป็นแม่ (มาร์ลี แมตลิน นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์) สิ่งเดียวที่รูบี้ทำแล้วจะพอปลดปล่อยความทุกข์ในชีวิตได้คือการร้องเพลงบนดาดฟ้าเรือ

เมื่อสิ้นสุดภารกิจในยามเช้ากับการช่วยเหลือครอบครัวทำงาน รูบี้ต้องเดินทางไปโรงเรียนไฮสคูลตามวิถีวัยรุ่นทั่วไป อย่างไรก็ตามด้วยประสาความเป็นเด็กสาว เธอได้แอบชอบไมลส์ (เฟอร์เดีย วอลช์-พีโล) รูบี้จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมชมรมขับร้องประสานเสียง ตอนแรกเพียงเพราะเธออยากใกล้ชิดกับคนที่ชอบ แต่กลับกลายเป็นว่าครูสอนวิชาดนตรีอย่างเบอร์นาโด วิลลาโลโบส (ยูจินีโอ เดอร์เบซ) ได้เล็งเห็นความสามารถในการร้องเพลงของรูบี้ เขาจึงอยากจะผลักดันให้เธอได้มีโอกาสชิงทุนการศึกษาจากสถาบันดนตรีเบิร์กลีย์

เด็กสาวจากครอบครัวชาวประมงที่ตัวเองรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ว่าตัวเธอเองอยู่ในครอบครัวที่แปลกประหลาด ถูกล้อจากบรรดาเพื่อนในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นคาวปลาหรือกระทั่งสภาพครอบครัวของเธอที่เป็นใบ้ รูบี้กลายเป็นเด็กสาวที่หวาดกลัวอนาคต เธอลังเลกับโอกาสที่กำลังรอคอยเธออยู่ นอกจากนี้เมื่อรูบี้ เปรียบเสมือน “กระบอกเสียง” ของครอบครัว ทำให้เธอยืนอยู่ระหว่างทางแยกที่ตัวเองต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่า เธอจะเติมเต็มความฝันของตัวเอง หรือต้องอยู่ประคับประคองครอบครัวต่อไป

 

รู้หรือเปล่าว่า CODA จริงๆแล้วเป็นหนังรีเมค

CODA ดัดแปลงมาจากหนังฝรั่งเศสเรื่อง La Famille Bélie ในปี 2014 โดยมีการเปลี่ยนแปลงฉากหลังและอาชีพของครอบครัว แต่ยังคงไว้สำหรับการที่นางเอกของเรื่องเป็นสมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียวที่สามารถพูดได้ และสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆเป็นใบ้ทั้งหมด ซึ่งหนังในเวอร์ชั่นต้นฉบับนี้เข้าชิงรางวัล César Awards หรือเราอาจจะกล่าวได้ว่ามันคือรางวัลออสการ์ของประเทศฝรั่งเศสถึง 7 รางวัล แต่คว้ารางวัลติดไม้ติดมือกลับเพียงแค่ 1 รางวัลในสาขานักแสดงหญิงดาวรุ่งยอดเยี่ยม ลูอัน เอเมอร่า นักร้องสาววัย 18 ผู้ชนะการประกวดร้องเพลงจาก The Voice ของฝรั่งเศส

 

ความน่าสนใจของ CODA ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ฉายแววไม่ธรรมดามาตั้งแต่เทศกาลซันแดนซ์

จริงๆแล้วหลายคนอาจจะสงสัยชื่อของหนังว่า CODA แปลว่าอะไรกันแน่ จริงแล้วคำๆนี้เกิดจากตัวอักษรย่อที่สะกดออกมาเป็นเสียงอ่านจากคำเต็มๆว่า Child Of Deaf Adult(s) แปลว่า “ลูกของพ่อ-แม่ที่หูหนวก”

ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อ CODA เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ หนังได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามไปจนถึงคว้ารางวัลมาการันตีอาทิสาขา Grand Jury, รางวัลขวัญใจผู้ชม , รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และ รางวัลพิเศษสำหรับคณะนักแสดงของหนัง แต่ในบรรดานักแสดงทั้งหมด ทรอย คอตเชอร์ ผู้รับบท แฟรงค์ คุณพ่อจอมโวยวาย ถือเป็นบทบาทที่ดูฉายแววเป็นตัวเต็งรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม มาระยะใหญ่ๆ (และสุดท้ายเขาก็คว้ารางวัลนี้ไปจริงๆ)

หากย้อนไปดูประวัติของทรอย คอตเชอร์ เขาเป็นนักแสดงฝีมือดีในคณะละครของคนหูหนวกในลอสแองเจลิส หลังจากเขาทำความเข้าใจกับตัวละครที่เขาต้องแสดง เนื่องจากตัวละครแฟรงค์เป็นคุณพ่อที่ไม่เข้าใจว่าทำไมรูบีถึงรักในเสียงดนตรี เขาจึงพยายามค้นหาคำตอบดังกล่าว แต่แฟรงค์ก็ต้องใช้เวลาคิดและไตร่ตรองอยู่นาน กว่าจะค้นพบว่าจริงๆแล้วรูบี้ยังคงเป็นเด็กอยู่ แต่เธอไม่เคยได้ใช้ชีวิตของตัวเองให้สมกับวัยเลยด้วยซ้ำไป เธอต้องแบกรับภาระการเป็น “เสียง” ของครอบครัวเพื่อเป็นตัวแทนในการสื่อสารกับคนปกติ และเธอก็มีความฝันไม่ต่างจากวัยรุ่นคนอื่นๆในสังคมปกติ

ฉากที่เรียกได้ว่า เป็นฉากที่ทำให้แฟรงค์ได้เข้าใจความสุขของลูกสาวคือ ฉากที่รูบี้ได้ทำการแสดงร่วมกับไมลส์ ในการร้องเพลงคู่ หนังเลือกจะถ่ายทอด “เสียง” ที่แฟรงค์ไม่ได้ยิน แต่เมื่อเขาหันไปมองผู้คนอื่นๆในหอประชุมที่มีอารมณ์ร่วมไปกับบทเพลงของลูกสาวในแบบที่แตกต่างกัน เมื่อนั้นเขาก็เข้าใจว่าลูกสาวของเขามีพรสวรรค์บางอย่างที่เขาอาจจะไม่ได้ยิน แต่วันนี้เขารับรู้ได้ถึงความสุขนั้น

 

ท้ายที่สุดแล้วการเดินทางของ CODA ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ 3 รางวัลอันประกอบไปด้วยสาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม , นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม หนังสามารถกวาดรางวัลทั้งสามสาขาที่เข้าชิงกลับมากอดได้ทั้งหมด

และโอกาสสุดท้ายสำหรับคนยังไม่ได้ชม CODA ในโรงภาพยนตร์ ตอนนี้หนังจะกลับมาเข้าฉายอีกครั้งที่ เฮ้าส์ สามย่าน, เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า, เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า เชียงใหม่ และ เครือเมเจอร์ ซีนีเพลกซ์ ลองเช็ครอบแล้วอย่าปล่อยโอกาสไปชมเรื่องราวน่าประทับใจครั้งนี้กันนะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook