"ผิดล้างผิด ไม่เท่ากับถูก" บทเรียนจากเหตุการณ์ "วิลล์ สมิธ" ตบ "คริส ร็อก"
น้อยคนนักที่จะรู้ว่าหนังเรื่อง ‘CODA’ ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ทุกคนทั่วโลกรู้ว่า “วิลล์ สมิธ เดินขึ้นเวทีไปตบหน้าคริส ร็อก” บนเวทีออสการ์ที่ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก สาเหตุที่สมิธกระทำเช่นนั้นก็เพราะเขารู้สึกเดือดดาลที่ร็อกไปพูดจาเสียดสี เจดา พิงคิตต์ สมิธ ภรรยาของเขาที่เป็นโรคผมร่วงมานานหลายปี ด้วยการปล่อยมุกแซวบนเวทีว่า “อยากเห็นคุณไปเล่น ‘G.I. Jane’ ภาคสอง”
เหตุการณ์ “วิลล์ สมิธ ตบหน้า คริส ร็อก” กลายเป็นประเด็นดราม่าในโลกโซเชียลไปทั่วโลก ตามมาด้วยข้อถกเถียงว่าใครกันแน่ที่ผิด ใครกันแน่ที่ถูก หรือใครกันแน่ที่ผิดกว่า
การกระทำของคริส ร็อก เห็นได้ชัดว่าเป็นการปล่อยมุกจน “ล้ำเส้น” โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนเลิกพูดจาเหยียดคนอื่น (Verbal Bullying) เลิกวิจารณ์รูปร่างและภาพลักษณ์ของคนอื่น (Body Shaming) ตรงนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของร็อกและน่าจะเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ให้กับเขา รวมทั้งผู้ดำเนินรายการคนอื่น ๆ ในการปล่อยมุกแซวแขกมาร่วมงาน เพราะ “บางเรื่องก็ไม่ตลก”
แต่การที่วิลล์ สมิธ ฟิวส์ขาด เดินขึ้นไปตบหน้าคริส ร็อก บนเวทีแล้วลงมานั่งตะโกนด่า (ด้วยคำที่มีตัวอักษร F) อีกสองประโยค ถือเป็นการปกป้องภรรยาในทางที่ถูกต้องและสมควรแล้วหรือ?
หลายคนในโลกโซเชียล (โดยเฉพาะในบ้านเรา) มีความเห็นส่วนใหญ่ออกมาในทางเห็นด้วยกับการกระทำของวิลล์ สมิธ ถือว่าการเดินขึ้นไปตบหน้าเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีของภรรยา และคริส ร็อก สมควรแล้วที่ถูกตบหน้า เนื่องจากปากเสียปล่อยมุกตลกที่กระทบกระเทือนจิตใจภรรยาเขา
ในขณะเดียวกันหลายคนในโลกโซเชียล (ส่วนใหญ่เป็นโลกตะวันตก) รับไม่ได้กับการใช้ความรุนแรงของสมิธ แม้จะไม่ได้เห็นด้วยกับมุกตลกของร็อกก็จริง แต่สมิธมีวิธีแก้ไขปัญหาและแสดงความไม่พอใจได้อีกหลากหลายวิธี เช่น เดินจูงมือเจดาลุกเดินออกไปนอกฮอลล์ หากทำแบบนั้นทุกคนจะทราบดีว่าเขาและภรรยาไม่พอใจ หรือสมิธอาจทนไม่ไหวจริง ๆ เดินขึ้นไปบนเวที บอกร็อกและผู้ชมทุกคนว่า “เธอเป็นโรคนะ อย่ามาล้อเล่น” หรือกระทั่งตอนที่สมิธได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก ‘King Richard’ เขาสามารถพูดอธิบายเรื่องนี้ได้ วิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะทำให้เขาดูเป็นสุภาพชน เป็นสามีที่ดี เป็นพ่อที่น่ายกย่อง และเป็นนักแสดงรางวัลออสการ์ที่มีความเป็น “มืออาชีพ” (อย่างน้อย คริส ร็อก ก็ยังแสดงความเป็นมืออาชีพในการดำเนินรายการต่อหลังจากที่โดนตบบนเวที)
ไม่ผิดหรอกหากคุณจะเห็นใจสมิธและภรรยา รู้สึกเกลียดคอเมเดียนปากเสียคนนี้เต็มที แต่หากคุณรู้สึกถึงขั้นว่าคนที่พูดจาไม่ดี สมควรแก่การโดนตบ รู้สึกสะใจที่เห็นคนถูกกระทำด้วยความรุนแรงแบบนี้ นั่นเท่ากับคุณสนับสนุนความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว
มีสุภาษิตของฝรั่งที่พูดว่า “Two wrongs don’t make it right” แปลเป็นไทยประมาณว่า “การใช้ความผิดไปล้างผิด ไม่เท่ากับถูก” อย่างในกรณีนี้หากสมิธไม่โต้กลับด้วยความรุนแรง สมิธจะเป็นฝ่ายถูกทันที และร็อกจะถูกประณามจากคนทั่วโลกมากกว่านี้ แต่สมิธเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการเดินขึ้นไปตบหน้า ทำให้เหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่ “ผิดเท่ากัน” แต่สมิธยัง “ผิดมากกว่า” ด้วย เพราะการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย เป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการพูดจาไม่ดีใส่กัน
ที่สำคัญ วิลล์ สมิธ เป็นนักแสดงวัย 53 ปี อยู่ในวงการบันเทิงมานาน มีภรรยา มีลูกสามคน และเขารู้ดีว่างานประกาศผลรางวัลออสการ์เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีเกียรติ และถ่ายทอดสดไปยังผู้ชมทุกเพศทุกวัยที่อยู่ทั่วโลก ที่สำคัญบทที่ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์ตัวแรกคือ ริชาร์ด วิลเลียมส์ คุณพ่อตัวอย่างที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาชื่อดัง แต่การกระทำของเขาสวนทางกับคำว่า “คุณพ่อตัวอย่าง” โดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่ถึงวัน วิลล์ สมิธ ได้ออกมาเขียนขอโทษคริส ร็อก และสถาบันออสการ์ รวมทั้งครอบครัววิลเลียมส์อย่างเป็นทางการ เขายอมรับว่าการกระทำที่ใช้ความรุนแรงของเขาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นความน่าชื่นชมของสมิธที่ออกมากล้ายอมรับผิดในการกระทำของตนเองอย่างรวดเร็ว และเชื่อว่าคนทั้งโลกก็พร้อมที่จะให้อภัยผู้ชายคนนี้