เป็นใครก็ร้อง... เมื่อน้อง "โคทาโร่อยู่คนเดียว" โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
เป็นกระแสฮือฮาและถูกพูดถึงอีกครั้งกับคอนเทนต์น้ำดีจากฝั่งญี่ปุ่น ที่ครั้งนี้มาเรียกน้ำตาและความอบอุ่นหัวใจจากคอการ์ตูนและซีรีส์แบบ Live Action และขึ้นแท่นเป็นการ์ตูนสอนใจนอกกระแสไปในที่สุด สัปดาห์นี้ เทยเลยอยากพาเมาท์กับซีรีส์สองรสชาติเนื้อเรื่องเดียวกัน
Kotaro Lives Alone โคทาโร่ อยู่คนเดียว
การ์ตูนเรื่องนี้ เป็นมังงะที่ถูกตีพิมพ์เอาไว้ในปี 2015 และถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ในช่วงปี 2021 และตามมาด้วยเวอร์ชั่นอนิเมะที่เดินเนื้อเรื่องตามมังงะในปี 2022 นี้เอง โดย Kotaro Lives Alone เป็นเรื่องราวของเด็กอายุ 4 ขวบ ที่ตัดสินใจมาเช่าอพาร์ทเมนต์ชิมิซึห้อง 203 อยู่เพียงลำพัง และ ชิน คาริโนะ นักเขียนการ์ตูนไส้แห้งที่อยู่ห้อง 202 ข้างกัน เมื่อได้รับกล่องทิชชู่จากเด็กชายโคทาโร่มาเป็นของฝากเพื่อนบ้าน ก็เกิดความกังวลว่าเด็กอายุแค่ 4 ขวบ จะมาเช่าอยู่อพาร์ทเมนต์คนเดียวได้อย่างไร
และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก 4 ขวบ และพลพรรคผู้เข้าพักของอพาร์ทเมนต์ชิมิซึห้องต่างๆ ที่ต่างแวะเวียนมามีเรื่องราวกับน้องโคทาโร่ จนเกิดเป็นเหตุการณ์อบอุ่นสุดประทับใจ ในขณะเดียวกัน น้องโคทาโร่ก็มีอดีตที่เป็นขมขื่น ไม่อาจจะเปิดเผยกับใครได้อยู่เบื้องหลัง ส่งผลให้น้องโคทาโร่เป็นเด็กที่มีบุคลิกที่แปลกประหลาด การพูดจาที่โตเกินวัย การตัดสินใจ การกระทำต่างๆของน้องกลายเป็นความเข้มแข็งที่เกินจำเป็นกว่าที่เด็กอายุแค่ 4 ขวบจะต้องมาแบกเอาไว้นั่นเอง
ตัวการ์ตูนแม้จะเป็นลายเส้นที่ดูน่ารักสดใส ประหนึ่งดูการ์ตูนเด็กอยู่ก็ไม่ปาน แต่เนื้อเรื่องนั้นหน่วงและมีความเป็นผู้ใหญ่อยู่มาก ดังนั้น Kotaro Lives Alone ฉบับการ์ตูนนั้น จึงถูกจัดเรทอยู่ที่ 13+ ไม่ใช่การ์ตูนเด็กอย่างที่เราเข้าใจกัน
ซึ่งฉากซึ้งกินใจที่กลายเป็นกระแสถูกพูดถึงอย่างฉากที่น้องโคทาโร่ ค่อยๆปลอมตัวไปขอลูกโป่งหลายๆรอบจากพนักงานแจกฟรีได้คนละลูก น้องเอามาวาดเป็นหน้าคนและเขียนคำว่าคุณพ่อ คุณแม่ น้องสาวและน้องชายเอาไว้ และพกไปเล่นด้วยที่สวนสาธารณะ หรือแม้แต่ตอนการรับหนังสือพิมพ์วันละ 5 ฉบับแต่เช้า เพื่อให้มีคนคอยมาส่งหนังสือพิมพ์ได้เห็นว่าหากมีหนังสือพิมพ์ค้างอยู่ที่ช่องรับมากกว่า 2 วัน น้องอาจจะเป็นอะไรไปก็ได้
ทั้งหมดเพียงเพราะว่า น้องอยู่คนเดียว ไม่มีพ่อแม่คอยดูแล
เนื้อหาของ Kotaro Lives Alone นั้น พยายามให้คนดูซึมซับบรรยากาศของความสุขและเศร้าปะปนกันไป โดยไม่เปิดเผยรายละเอียดที่มาของตัวละครน้องมากนัก แต่คนดูก็จะพอคาดเดากันได้ว่า ในอดีตอาจจะมีเรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับน้องมากเอาการเลยทีเดียว ถึงทำให้น้องต้องกลายเป็นเด็กที่อยู่เพียงลำพังแบบนี้ รวมถึงตัวการ์ตูนยังปลอบประโลมคนดูให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีขึ้น และยอมรับเด็กเป็นเหมือนเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ที่เราควรจะใส่ใจ ให้เขาได้เติบโตไปในโลกนี้อย่างปลอดภัยนั่นเอง
ซึ่งถึงแม้ตัวการ์ตูนจะมีความหนักหน่วงของเนื้อหา แต่ในเวอร์ชั่น Live Action นั้นต่างออกไป ตัวละคร Kotaro Lives Alone ที่ออกมาก่อนในปี 2021 นั้น ปรับเนื้อหาให้อบอุ่นและรวบรัดมากขึ้น เป็นหนึ่งในละครที่โด่งดังมาก่อนเป็นอนิเมะเพราะถูกสร้างมาก่อน บรรยากาศและมุกตลกของละคร ชวนให้นึกถึง Gokusen ลูกสาวเจ้าพ่อขอเป็นครู ที่เคยฉายช่อง 7 บ้านเรา
ในเวอร์ชั่น Live Action น้องโคทาโร่ถูกปรับให้อายุกลายเป็น 5 ขวบ และเพิ่มความสมเหตุสมผลของเหตุการณ์มากขึ้นด้วยการให้สองตายายเจ้าของตึกมีภาวะหลงๆลืมๆ จึงเกิดการอนุญาตให้น้องมาเช่าห้องได้เพียงลำพัง รวมถึงมีการปรับเนื้อเรื่องให้ใกล้เคียงการบังคับใช้ทางกฎหมายของญี่ปุ่นมากขึ้น พร้อมทั้งขึ้นข้อความ “เรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้น” เพื่อให้เป็นละครที่สามารถรับชมได้ทุกวัย
Kotaro Live Alone เป็นเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของญี่ปุ่น ปัญหาการทอดทิ้งเด็ก และผลจากการปล่อยให้เด็กไม่ได้รับการดูแลอย่างสมวัยและไปลงเอยที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ซึ่งโคทาโร่ เป็นเหมือนเด็กที่รวมเอาพฤติกรรมของเด็กจากสามอย่างนี้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ทั้งยังสะท้อนสภาพสังคมเมืองของญี่ปุ่นอีกมุมหนึ่ง ที่เป็นซอกหลืบของปัญหาหลายอย่างที่ถูกซุกเอาไว้ ในอพาร์ทเมนต์แบบเก่าที่แทบจะหายไปจากสังคมเมืองญี่ปุ่นแล้ว
ทั้งนักเขียนการ์ตูนที่ไม่ประสบความสำเร็จ เด็กสาวในบาร์โฮสต์ ลุงลุคยากูซ่าที่ถูกตัดสินจากการแต่งตัว หรือแม้แต่เด็กน้อยที่ถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง แต่ละคนจึงเป็นภาพแทนของการอยู่คนเดียวในสังคมที่คับแคบ และต่างต้องลุกขึ้นมาดูแลกันเอง เรียนรู้เรื่องราวของกันและกันเอง เกิดเป็นมิตรภาพระหว่างความชายขอบของกันและกัน
นอกจากนี้ Kotaro Live Alone ยังสะท้อนค่านิยมทางสังคมที่เป็นเหมือนกรอบกับดักทางความคิดของญี่ปุ่นอยู่ในเนื้อเรื่อง ทั้งการมองปัญหาครอบครัวที่ผูกให้ผู้ชายเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดของครอบครัว ผู้หญิงที่ไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมสำหรับการเป็นแม่ หรือแม้แต่ค่านิยม “เกรงใจความรู้สึกคนอื่น” ที่มีความเป็นตะวันออกอยู่สูงมาก กับการเก็บปัญหาทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง เพื่อหวังว่าคนรอบข้างจะมีความสุขจากตัวเองมากกว่า โดยไม่สนว่าตัวเองจะต้องแบกรับปัญหาต่างๆไว้มากมายแค่ไหน
ด้วยองค์ประกอบและความครบครันแบบเลือกดูได้ Kotaro Live Alone จึงกลายเป็นเรื่องราวที่ประทับใจกลุ่มคนดูไปทั่วโลกรวมถึงในบ้านเราด้วย แม้จะเพิ่งทำออกมาเป็นคอนเทนต์ได้ในช่วงปีสองปีนี้เอง โดยฉบับการ์ตูนและซีรีส์มีความยาวอย่างละ 10 ตอน แต่มีสไตล์การเล่าที่แตกต่างกันออกไป โดยการ์ตูนนำเสนอตามมังงะ มีทั้งเรื่องราวหลัก เรื่องราวเป็น Gag ย่อยๆ และมีอิสระในการเล่าขยี้ความรู้สึกได้ลึกกว่า ในขณะที่ตัวละคร จะมีความรวบรัด และมีคติสอนใจคนดูที่ชัดเจนกว่า
เวอร์ชั่นละครนั้น ยังได้ Yu Yokoyama หนึ่งในสมาชิกวง Kanjini Eight มารับบทเป็นชิน คากาโนะ นักเขียนการ์ตูนไส้แห้ง ซึ่งตัวเขาและวง ยังมาร้องเพลงประกอบ “Hitori Ni Shinai Yo” ให้กับเรื่องด้วย เป็นการร้องเพลงเพื่อน้อง ด้วยความหมายว่า “ฉันจะไม่อยู่คนเดียว”
Kotoro Lives Alone สามารถรับชมทั้งเวอร์ชั่นการ์ตูน และละครได้ทาง Netflix นะคะ แล้วเราไปโอบกอดน้องโคทาโร่ไว้ด้วยกัน
เหยี่ยวเทย รายงาน
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ