รำลึกถึง เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้เปิดโลกทัศน์ของคนดูหนังในไทย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

รำลึกถึง เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้เปิดโลกทัศน์ของคนดูหนังในไทย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

รำลึกถึง เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้เปิดโลกทัศน์ของคนดูหนังในไทย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เขียนขอใช้พื้นที่นี้ เพื่อรำลึกถึงผู้มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์และละเวทีไทย เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้จากพวกเราไปอย่างกะทันหันด้วยโรคประจำตัว เมื่อวันอาทิตย์ที่  27 มีนาคม 2565 ด้วยวัย 54 ปี เป็นความสูญเสียอันน่าตกใจของเพื่อนๆ ในวงคนรักหนังและวงการละครเวทีจำนวนมาก

เกรียงศักดิ์ หรือที่คนมักรู้จักในชื่อเล่นว่า เกรียง หรือ วิคเตอร์ (ชื่อฝรั่ง เพราะแกบอกว่าฝรั่งจะได้เรียกง่ายๆ) เป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์ World Film Festival of Bangkok ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ ค.ศ. 2003 – 2017 ถึงจะไม่ใช่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งแรกในเมืองไทย แต่ World Film Festival เป็นงานที่อยู่ยั้งยืนยง มีเอกลักษณ์ และเป็นงานที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์อันหลากหลาย ท้าทาย และเปิดโลกทัศน์ให้ผู้ชมในเมืองไทย พูดได้เลยว่า ถ้าไม่มีงาน World Film Festival ของเกรียงศักดิ์ เส้นขอบฟ้าของผู้ชมไทยคงคับแคบกว่านี้มากอีกหลายเท่า

ข่าวการจากไปของเกรียงศักดิ์ ทำให้เพื่อนๆ และคนดูหนังทั่วไปที่รู้จักเขาแม้เพียงผ่านๆ ต่างพรั่งพรูแสดงความเสียใจกับข่าวร้ายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะเกรียงศักดิ์ เป็นคนกว้างขวาง โอบอ้อม เป็นมิตรกับทุกคน มีอารมณ์ขันที่ทำให้คนรอบข้างหัวเราะร่วนไปกับเขาได้ในทุกเรื่อง บุคลิกต่างๆ ที่ว่านี้ ถูกถ่ายทอดลงไปในบุคลิกของเทศกาล World Film Festival อันเป็นงานหนังที่มีหนังหลากหลายมากๆ ทั้งหนังศิลปะดูยาก หนังภูมิภาคแปลกๆ หนังของผู้กำกับปรมาจารย์ และหนังใหม่เอี่ยมของผู้กำกับที่ไม่มีชื่อเสียง ทั้งไทยและเทศ ผู้กำกับไทยรุ่นใหม่หลายๆ คนก็ได้รับโอกาสฉายหนังที่งานของเขา ที่สำคัญคือ เกรียงศักดิ์เป็น “character” หนึ่งของงาน เพราะเขาจะอยู่ที่โรง คอยคุยกับคนดู แนะนำหนัง ต้อนรับแขก มีความกระตือรือร้น เต็มไปด้วยพลังงานที่ส่งผ่านให้คนดูตลอดเวลา จะชอบหรือไม่ชอบหนังที่เขาเลือกมาฉาย สามารถเดินไปคุยกับเขาได้ เกรียงศักดิ์พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเป็นมิตรตลอดเวลา

เกรียงศักดิ์ ศิลากอง เป็นคนเบตง จังหวัดยะลา เรียนหนังสือที่เบตง ก่อนจะย้ายมาเรียนมัธยมที่กรุงเทพ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในปี 1992 แต่ระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย สถานที่ที่เกรียงศักดิ์ไปบ่อยที่สุด คือสมาคมฝรั่งเศส ถนนสาทร เพื่อไปอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูละคร และฝึกปรือภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่เขาชื่นชอบ เขาไปสมาคมฝรั่งเศสบ่อยชนาดที่เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้จัก เอ็นดู และในที่สุด สมาคมฝรั่งเศสและสถานทูตฝรั่งเศสตัดสินใจให้ทุนเขาไปเรียนต่อด้านการกำกับละครเวที ที่มหาวิทยาลัยที่กรุงปารีส

ความหลงใหลในศิลปะทุกแขนง ทั้งดนตรี ภาพยนตร์ โอเปรา ละครเวที ทำให้เกรียงศักดิ์คุยได้ทุกเรื่อง และมีบทบาทในวงการศิลปะหลายอย่าง เขากำกับละครเวทีหลายเรื่อง ที่โด่งดังก็มีเช่น ซูสีไทเฮา และ เรยา The Musical รวมทั้งยังเป็นนักแสดงเองในหลายเรื่อง ส่วนงาน World Film Festival เป็นงานที่แสดงออกถึงความรักในภาพยนตร์ของเขา มันยากมากในตอนนั้นที่จะเปลี่ยนความชอบและความสนใจส่วนตัว ให้เป็นงานในระดับที่ฉายหนัง 70-80 เรื่อง โดยงบประมาณอันจำกัด (โดยการสนับสนุนของเครือเนชั่น) งานเทศกาลหนังของเกรียงศักดิ์ ไม่เน้นความหรูหราฟู่ฟ่า ไม่มีพรมแดงเว่อวัง แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็สามารถเชิญคนทำหนังคนสำคัญมากของโลกให้มาร่วมงานได้ เช่น อันเยส วาดาร์ (นี่เป็นแขกเชิญที่แทบไม่น่าเชื่อว่าเกรียงศักดิ์ เอามาได้) โรมัน โปลันสกี้ (มีการเลี้ยงอาหารกันที่ภัตตาคารใต้โรงหนังสกาลา) มิเกล โกเมซ ผู้กำกับโปรตุเกส, ไฉมิ่งเหลียง ผู้กำกับคนสำคัญชาวไต้หวัน (เกรียงศักดิ์สามารถจ้อภาษาจีนกับเขาได้สบายๆ) เมื่องาน World Film Festival หยุดลงในปี 2017 ด้วยหลายสาเหตุ คนดูหนังไม่น้อยที่ผิดหวังและเฝ้ารอให้เกรียงศักดิ์ ปลุกงานสำคัญนี้กลับมาอีกครั้ง แม้กระทั่งในยุคแพลทฟอร์มครองเมืองก็ตาม

ในยุคที่คนดูหนังสามารถเข้าถึงหนังทุกเรื่องในโลกได้ ทำให้เราอาจจะลืมไปว่าเพียงแค่ 10 กว่าปีก่อน ทุกอย่างไม่ได้เป็นแบบนี้ การรอดูหนังยุโรป หนังไต้หวัน หรือหนังอเมริกาใต้ ที่โด่งดังในโลก เป็นสิ่งที่คนดูหนังไทยต้องอดทนและเฝ้าภาวนาว่าจะมีคนนำมาฉายในโรงในงานอะไรสักงาน หรือโอกาสพิเศษอะไรบางอย่าง ดังนั้นงานหนังประจำปีอย่าง World Film Festival จึงมีความสำคัญมากสำหรับคนชอบดูหนังสายแข็งที่อยากทดลองรสชาติอื่นนอกเหนือจากหนังฮอลลีวูด เป็นดั่งตาน้ำกลางทะเลทรายที่ดับกระหายให้คนดูหนังในเมืองไทยได้อย่างดี และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ cinephilia (หรือความคลั่งหนัง) ของเมืองไทย

ผู้เขียนรู้จักเกรียงศักดิ์ หรือที่เรียกติดปากว่า “พี่วิคเตอร์” มากว่า 20 ปี ในฐานะเพื่อนรุ่นพี่ และคนที่มีความชอบในศิลปะเหมือนกัน (ถึงแม้จะไม่ได้มีรสนิยมในภาพยนตร์ตรงกันหมดทุกเรื่องก็ตาม) ที่มากไปกว่าเรื่องภาพยนตร์หรือละครเวที คือความเป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง แต่เอาจริงเอาจังกับงานของเกรียงศักดิ์ ที่ทำให้ทุกบทสนทนา ไม่ว่าจะต่อหน้า ทางโทรศัพท์ หรือทางไลน์ เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาและสาระ

การจากไปของเกรียงศักดิ์ เป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ แต่สำหรับเพื่อนๆ และคนดูหนังที่เติบโตมาพร้อมกับเทศกาลของเขา ความรักในภาพยนตร์และเชื้อไฟแห่งศิลปะที่เกรียงศักดิ์ได้สร้างไว้ จะยังคงลุกโชนอยู่ตลอดไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook