2 สารคดี สกาลาในความทรงจำ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ภาพเศษอิฐเศษปูนจากการทุบตึกโรงภาพยนตร์สกาลาจนราบ ที่เผยแพร่กันในโซเชียลมีเดียเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นภาพแห่งความเป็นจริงที่สะเทือนใจผู้ที่มีความผูกพันกับโรงภาพยนตร์นี้ไม่น้อย ผ่านไปเกือบ 2 ปีหลังโรงสกาลาปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ ความหวังที่จะเก็บรักษา “สกาลา” – ในฐานะอาคารทางกายภาพ – ดับสูญลงอย่างสิ้นเชิง
แต่การเก็บ “สกาลา” ในฐานะความทรงจำของผู้คนยังคงดำเนินต่อไป อย่างน้อยในร่างของสารคดี 2 เรื่อง
เมื่อต้นเดือนนี้ Netflix ได้ซื้อลิขสิทธิ์และเผยแพร่สารคดีเรื่อง The Scala โดยอาทิตย์ อัสสรัตน์ งานปี 2015 เรื่องนี้ถูกนำมาฉายอีกครั้งในช่วงเวลาที่ข่าวการสร้างห้างใหม่บริเวณที่เคยเป็นโรงสกาลาเดิมกลับมาอยู่ในข่าวพอดี แต่นอกจากสารคดีเรื่องนี้ ยังมีงานสารคดีใหม่ล่าสุดอีกเรื่อง ชื่อ Scala โดยอนันตา ธิตานัตต์ (สังเกตุว่าเรื่องนี้ ในชื่อเรื่องไม่มีคำว่า “The”) ซึ่งได้รับเลือกไปฉายเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นการเปิดตัวในงานใหญ่มากงานหนึ่งของสารบบเทศกาลหนังยุโรป และผู้กำกับมีแผนจะนำหนังออกเผยแพร่ในไทยเร็วๆ นี้
ว่ากันที่งานเก่า The Scala ของอาทิตย์ ที่พร้อมให้ทุกคนดูกันได้ใน Netflix หนังเรื่องนี้ตั้งใจทำให้เราเห็นว่าสกาลาเป็นมากกว่าเพียงตีกหรือสถานที่เท่านั้น แต่เป็น “ผู้คน” ที่เป่าชีวิตให้ตัวตึกมีวิญญาณและความเป็นมนุษย์ขึ้นมา หนังความยาวเพียง 50 นาทีนี้เล่าเรื่องผ่านคนสำคัญ 4 คนของสกาลา เรียกชื่อตามตำแหน่งของพวกเขาได้แก่ The Technician หรือช่างเทคนิค The Manager หรือผู้จัดการ The Caretaker หรือคนดูแล และ The Projectionist คนฉายหนัง การเล่าเรื่องผ่านบุคคลเหล่านี้ แทนที่จะเล่าถึงประวัติของโรงหรือของพื้นที่ ทำให้หนังมีหัวจิตหัวใจและเน้นย้ำให้เห็นว่า เวลาเราพูดหรือรำลึกถึง “สกาลา” เราไม่ได้พูดถึงเพียงความสวยงามของสถาปัตยกรรม เราไม่ได้พูดถึงแค่หนัง เราไม่ได้พูดถึงเพียงสิ่งของทางกายภาพที่จับต้องได้ แต่เรากำลังพูดถึงคนและลมหายใจของพวกเขาที่ทำให้สถานที่แห่งนี้มีชีวิต
The Scala พาไปพบกับคนดูแลโรงที่อาศัยอยู่บนดดาดฟ้าของสกาลา พอไปเจอช่างฉายหนังที่ต้องเรียนรู้ปรับตัวเมื่อระบบฉายเปลี่ยนเป็นดิจิทัล พาไปเจอผู้จัดการโรงที่ดูแลโรงมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นต่อเนื่องมาเกือบครึ่งศตวรรษ แต่ฉากสำคัญของสารคดีเรื่องนี้ คือฉากการร่วมแรงของพนักงานหลายสิบชีวิต เพื่อถอดโคมไฟระย้า ณ โถงทางเข้า อันเป็นสัญลักษณ์คู่โรงสกาลามาตลอด 50 กว่าปี นำลงมาล้างทำความสะอาด นี่เป็นงานใหญ่ประจำปีของสกาลา คล้ายดั่งพิธีกรรมที่เป็นศูนย์รวมแรงกายแรงใจของพนักงานทุกคน
สารคดีเรื่อง The Scala ออกฉายครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์ปูซาน และเคยฉายทางช่องทีวีไทยเมื่อหลายปีก่อน แต่การฉายหนังเรื่องนี้ที่น่าจดจำที่สุด คือเมื่อ The Scala ได้รับโอกาสฉายในงานปิดตัวเพื่ออำลาโรงสกาลา เมื่อเดือนกรกฎาคมเมื่อสองปีก่อน และถึงแม้หนังเรื่องนี้จะสร้างมา 7 ปีแล้ว แต่ความทรงจำเกี่ยวกับสกาลากลับยิ่งแจ่มชัด และอาจจะถึงขั้นขมขื่น เมื่อภาพล่าสุดของตำแหน่งที่เคยเป็นสกาลา กลับราบคาบและว่างเปล่าราวกับไม่เคยมีอะไรอยู่ตรงนั้นมาก่อน
ส่วนสารคดี Scala เรื่องใหม่ล่าสุดของ อนันตา ธิตานัตต์ ผู้เขียนยังไม่ได้ดู แต่เห็นการทำงานของทีมคนทำมานาน และเห็นว่ามีการบันทึกภาพถ่ายทำมาแล้วอย่างน้อยสองถึงสามปีก่อนสกาลาจะปิด ตามเก็บไม่เพียงเฉพาะภาพภายในโรงสกาลา หรือภาพในงานวันอำลา แต่ถ่ายทำส่วนประกอบอื่นๆ เช่นงานสัมนาความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์โรง และงานวิชาการอื่นๆ (ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้อยู่ในหนังหรือเปล่า) อันแสดงให้เห็นถึงความละเอียดลออในการหาข้อมูลของคนทำ
ทั้ง The Scala และ Scala เป็นบันทึกสุดท้ายของโรงภาพยนตร์อันเป็นสัญลักษณ์ของคนรักหนังและรักบรรยากาศของโรงหนัง หนังทั้งสองเรื่องอาจจะมีส่วนผสมของอารมณ์ถวิลหา แต่ที่สำคัญกว่านั้น มันคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งในแง่กายภาพและความทรงจำร่วมของคนในสังคมที่มีต่อโรงภาพยนตร์สแตนอะโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพ