ไขข้อสงสัย ทำไม 'ธอร์' จึงเป็นฮีโรยืนหนึ่งใน MCU ที่มีภาพยนตร์เดี่ยวของตัวเองถึง 4 ภาค
แม้ว่า ‘ธอร์’ (Thor) ที่รับบทโดย ‘คริส เฮมส์เวิร์ธ’ (Chris Hemsworth) จะไม่ใช่คาแรกเตอร์ซูเปอร์ฮีโรตัวแรกของ Marvel Cinematic Universe (MCU) ที่มีภาพยนตร์เดี่ยวมากพอจนสามารถเรียกว่าเป็นแฟรนไชส์ได้ แต่หลังจากที่ทาง มาร์เวลสตูดิโอส์ (Marvel Studios) ได้ทำการปล่อยทีเซอร์แรกของ ‘Thor: Love and Thunder’ (2022) ภาพยนตร์เดี่ยวลำดับที่ 4 ของซูเปอร์ฮีโรเทพเจ้าสายฟ้าคนนี้
นั่นทำให้ ณ เวลานี้ ธอร์จึงกลายเป็นซูเปอร์ฮีโรคนเดียวที่มีภาพยนตร์เดี่ยวมากที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรแยกเดี่ยว ๆ ของ MCU ทั้งหมด เรียกได้ว่า ธอร์กลายเป็นซูเปอร์ฮีโรที่มีภาคต่อมากกว่าซูเปอร์ฮีโรอื่น ๆ ของ MCU ทั้ง ‘กัปตันอเมริกา’ (Captain America) ‘ไอรอนแมน’ (Iron Man) หรือแม้แต่ ‘สไปเดอร์-แมน’ (Spider-Man) (ที่ตอนนี้มีเพียงแค่ 3 ภาคเท่า ๆ กัน) ด้วยซ้ำ
คริส เฮมส์เวิร์ธ ในบทบาทธอร์ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์ ‘Thor’ (2011) ที่กำกับโดย ‘เคนเนธ บรานาห์’ (Kenneth Branagh) แม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จถึงขั้นเปรี้ยง แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดตัวที่ดี ก่อนที่เขาจะปรากฏเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมอเวนเจอร์สครั้งแรกใน ‘The Avengers’ (2012) ก่อนจะกลับมาในภาคต่อ ‘Thor: The Dark World’ (2014) ที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดในบรรดาหนังเดี่ยวของเขา
แต่ในที่สุดเขาก็ยังกลับมาใน ‘Thor: Ragnarok’ (2018) ที่เติมกลิ่นอายโบ๊ะบ๊ะเฮฮาจากฝีมือการกำกับของ ‘ไทกา ไวติติ’ (Taika Waititi) ทำให้ได้รับความนิยม จนกวาดคะแนนบนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ไปได้ถึง 93% (ติดอันดับที่ 5 ของภาพยนตร์ใน MCU) และกลายมาเป็นธอร์หุ่นหมีน่ากอด (แต่อมทุกข์) ใน ‘Avengers: Endgame’ (2019)
ในขณะที่วันนี้ MCU เดินทางมาถึงเฟสที่ 4 ซูเปอร์ฮีโรเทพเจ้าอย่างธอร์ กลายเป็นซูเปอร์ฮีโรไม่กี่ตัวที่ยังคงได้มีโอกาสสานต่อตำนาน และได้มีโอกาสสานต่อเรื่องราวใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้นในภาคใหม่ที่กำลังจะฉายในอีกไม่นานนี้ ในขณะที่ซูเปอร์ฮีโรจากยุค ‘อินฟินิตีซากา’ (Infinity Saga) ส่วนใหญ่ล้วนหายไป หรือไม่ก็ถูกลดบทบาทลงอย่างน่าใจหาย นี่คือ 3 เหตุผลที่เทพเจ้าธอร์ยังคงแข็งแกร่ง และสร้างความตื่นเต้นให้แก่เหล่าแฟน ๆ มาจนถึงยุคมัลติเวิร์สในวันนี้
ความซับซ้อนของธอร์ ทำให้คาแรกเตอร์มีความน่าสนใจ
ธอร์เองก็ไม่ต่างจากซูเปอร์ฮีโรคนอื่น ๆ ที่มีพลังพิเศษ และมีเรื่องราวปูมหลังที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ทำให้ธอร์มีความแตกต่างก็คือ ความซับซ้อน ไม่คงที่ทางด้านอารมณ์ที่มีมากกว่าจากซูเปอร์ฮีโรตัวอื่น ๆ ของ MCU ในขณะที่ ‘สตีฟ โรเจอร์ส’ (Steve Rogers) ผู้เป็น ‘กัปตันอเมริกา’ และ ‘โทนี่ สตาร์ค’ (Tony Stark) ผู้เป็น ‘ไอรอนแมน’ ล้วนแล้วแต่มีคาแรกเตอร์ที่ถูกออกแบบเอาไว้ให้เป็นบุคคลที่มีบุคลิกและพฤติกรรมที่มั่นคง เช่นความเย่อหยิ่ง ความยึดมั่นในหน้าที่ของตัวเอง
ในขณะที่ธอร์ กลับมีบุคลิกและความรู้สึกที่ซับซ้อน เปลี่ยนไปไม่คงที่ ความซับซ้อนนี้เองที่ทำให้พัฒนาการและการเติบโตของคาแรกเตอร์นั้นเปลี่ยนไปในตลอดช่วงระยะเวลาของภาพยนตร์ในแต่ละภาค ในขณะที่ 2 ภาคแรก ‘Thor’ (2011) และ ‘Thor: The Dark World’ (2014) ได้ขับเน้นบุคลิกและพฤติกรรมที่ลึกลับและจริงจังของธอร์ ที่แม้อาจจะยังไม่ได้แตกต่างจากฮีโรตัวอื่นชัดเจน แต่ก็ถือว่าเป็นการเบิกทางให้รู้เรื่องราวปูมหลังได้พอสมควร
จนกระทั่งใน ‘Thor: Ragnarok’ (2018) ตัวภาพยนตร์ได้เผยมุมมองความตลกขบขันของธอร์ออกมา กลายเป็นมุมมองใหม่ ๆ ที่ทำให้เราได้เห็นว่า ในมุมจริงจังของเขาก็มีความเฮฮาซ่อนอยู่
ในขณะที่เราจะได้เห็นการรับมือของเขาในโศกนาฏกรรมใหญ่ถึง 2 ครั้ง 2 ครา ทั้งมุมโกรธแค้นหลังจากที่ ‘ธานอส’ (Thanos) สังหาร ‘โลกิ’ (Loki) น้องชายของเขาใน ‘Avengers: Infinity War’ (2018) และความรู้สึกใจสลาย จากความล้มเหลวในการยับยั้งธานอส ที่ทำให้เพื่อนฮีโรร่วมทีมอเวนเจอร์ส และผู้คนครึ่งจักรวาลกลายเป็นฝุ่นผงใน ‘Avengers: Endgame’ (2019) ที่ทำให้เขาปล่อยตัวจนกลายเป็นธอร์หุ่นหมี
ความไม่มั่นคงทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของธอร์ แม้จะดูแปลก ๆ และน่าขบขันอยู่สักหน่อย แต่ในเชิงของการสร้างคาแรกเตอร์ บทบาทของธอร์ก็ถือว่ามีความสมจริง มีพัฒนาการ และการเติบโตที่ผู้ชมจะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงได้อีกไม่รู้จบ อย่างที่แทบจะยังไม่มีตัวละครอื่น ๆ ใน MCU ทำได้แบบนี้
‘คริส เฮมส์เวิร์ธ’ “เอาอยู่” กับบทบาทเทพเจ้าสายฟ้า
และด้วยพื้นฐานคาแรกเตอร์ที่มีความซับซ้อนด้านอารมณ์และพฤติกรรม การรับบทบาทของนักแสดงฝีมืออย่าง ‘คริส เฮมสเวอร์ธ’ ก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญมาก ๆ ในการทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจ และเข้าถึงตัวละครที่มีบุคลิกซับซ้อนระดับนี้ในทุกครั้งที่ปรากฏขึ้นในภาพยนตร์ของ MCU
จริงอยู่ที่นักแสดงหลักหลาย ๆ คนของ MCU ต่างก็มีฝีไม้ลายมือการแสดงที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ในแง่ของการรับบทที่ผสมผสานเรื่องราวระหว่างความจริงจังซีเรียส และความตลกขบขัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ นั่นแหละว่า คริส เฮมสเวอร์ธ สามารถเอาอยู่กับบทเทพเจ้าธอร์ได้อย่างน่าทึ่ง อีกทั้งยังควบคุมร่างกายและอารมณ์ในการแสดงได้อยู่หมัด ไม่ว่าจะเป็นโหมดจริงจัง โกรธเกรี้ยว เศร้าสร้อย หรือตลกเฮฮาได้เอาอยู่จริง ๆ ไม่ว่าโทนของภาพยนตร์จะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม
อีกท้้งความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างเขากับ ‘ไทกา ไวติติ’ (Taika Waititi) ผู้กำกับ ‘Thor: Ragnarok’ (2018) ที่สามารถรื้อรูปแบบ บทบาท เรื่องราว และเติมคาแรกเตอร์เฮฮาโบ๊ะบ๊ะให้กับธอร์และตัวหนังอย่างพอเหมาะพอดี ทำให้ภาคนี้กลายเป็นภาคที่ประสบความสำเร็จที่สุดในบรรดาหนังเดี่ยวของธอร์ และเป็นใบเบิกทางให้ Marvel Studios สับไฟเขียวให้สร้าง’Thor: Love and Thunder’ และมั่นใจให้ผู้กำกับจอมฮาอย่างไทกา กลับมาร่วมกับคริส เติมลูกโบ๊ะบ๊ะ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับภาคที่ 4 ของเทพเจ้าอัสนี (ไม่มีวสันต์) อีกครั้งหนึ่ง
ธอร์จะเปลี่ยนไปแค่ไหน ใน ‘ความรักและอัสนี’
ในเมื่อธอร์มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดในหลาย ๆ ภาค คำถามที่ย่อมต้องมีตามมาก็คือ ในภาคนี้ ธอร์จะเปลี่ยนไปแบบไหน อย่างไรบ้างใน ‘Thor: Love and Thunder’
ถ้าอ้างอิงตามทีเซอร์แรกที่เพิ่งปล่อย เราจะได้เห็นว่า ในภาคที่ 4 ที่ใช้ชื่อไทยว่า ‘ธอร์: ด้วยรักและอัสนี’ จะพบว่า ธอร์ หลังเหตุการณ์ใน ‘Avengers: Endgame’ (2019) กำลังอยู่ในช่วงพักร้อนแบบจัดเต็ม และเขาเองก็กำลังพาตัวเองไปสู่โหมดสร้างสันติภาพ เริ่มรู้สึกอยากปล่อยวาง กลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง
ในขณะที่เขาก็อยากออกไปค้นพบตัวเอง ด้วยการเดินทางไปเที่ยวกับก๊วน ‘Guardians of the Galaxy’ พร้อมกับฝากเมืองแอสการ์ดเอาไว้กับวาลคีรี (Valkyrie) และค้นพบความรัก หลังจากที่ได้กลับมาเจอ ‘เจน ฟอสเตอร์’ (Jane Foster) อดีตคนรักของเขาในมาดของ ‘ไมตี ธอร์’ (Mighty Thor)
อาจเป็นการยากที่จะคาดเดาว่า ธอร์ในภาคนี้จะกลายเป็นคนแบบไหน หรือจะต้องเจอเหตุการณ์อะไรที่จะทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมและความรู้สึกข้างในไปอีกบ้าง แต่ก็อาจจะพอเดาได้ว่า จากความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกกลับด้านของ ‘Thor: Ragnarok’ อาจทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของธอร์อีกครั้ง
คาแรกเตอร์อีกแบบที่อาจจะเป็นไปได้ก็คือ ธอร์ในภาพยนตร์อาจคล้ายกับคาแรกเตอร์ของธอร์ในแอนิเมชันซีรีส์ ‘What If…?’ ในฐานะเทพเจ้าจอมสำราญผู้รักการเฮฮาปาร์ตี้ แต่นั่นก็อาจจะยืนยันอะไรไม่ได้นัก เพราะการตีความคาแรกเตอร์ของธอร์อาจมีได้หลากหลายแบบ
ในขณะที่ธอร์ในเวอร์ชันภาพยนตร์ แม้จะยังคงคาแรกเตอร์แบบเดิม (เช่นความเฮฮา) เอาไว้บ้าง แต่ก็อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในแง่ของการที่เขาเริ่มดูมีความกังวลน้อยลง เพราะมูฟออนจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมต่าง ๆ นานาได้แล้ว
รวมทั้งการมาของ ‘ไมตี ธอร์’ (Mighty Thor) หรือธอร์ในเวอร์ชันผู้หญิง อาจเติมมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับบทบาทของธอร์ในยุคมัลติเวิร์สให้น่าสนใจขึ้นไปอีกก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่นั่นก็คงยังยืนยันอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากจะต้องเข้าไปดูและพบเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยตัวเองในโรงภาพยนตร์
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ