Antlers ปีศาจกวาง และกระแส "สยองขวัญพื้นบ้าน" โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Antlers ปีศาจกวาง และกระแส "สยองขวัญพื้นบ้าน" โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Antlers ปีศาจกวาง และกระแส "สยองขวัญพื้นบ้าน" โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปกติแล้วใน Disney+ จะไม่ค่อยมีหนังสยองขวัญโหดๆ ดิบๆ ประเภทหัวแบะ ควักไส้ เลือดตกยางออก จึงเป็นที่น่าประหลาดใจ (และน่าดีใจ) ที่มีหนังใหม่เรื่อง Antlers อยู่ในเมนู ไม่รอช้ารีบกดดูทันที เพราะผู้เขียนได้ยินชื่อมาสักพัก และอยากดูเพื่อประกอบการเล่าเรื่องกระแส folk horror หรือ “หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” อันเป็นที่พูดถึงกันกว้างขวางในขณะนี้ทั้งในอเมริกาและในแถบบ้านเรา

Antlers เป็นหนังของผู้กำกับ สก๊อต คูเปอร์ ว่าด้วยปีศาจกวางที่สิงร่างคนและออกอาละวาดในเมืองชนบทของรัฐโอเรกอน หนังใช้บรรยากาศป่าเขาอันมีหมอกจางปกคลุม ประกอบกับตำนานสัตว์ร้ายในคติของชนพื้นเมือง และพ่วงเรื่องหายนะสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง เพื่อสร้างภาพความขนลุกขนพองและการ “เอาคืน” ของธรรมชาติจากการกระทำของมนุษย์

หนังผสมบรรยากาศเข้ากับฉากสยองเลือดสาด เอาใจทั้งพวกที่ชอบดูหนังที่ใช้ลีลานิ่งๆ เพื่อสร้างอารมณ์สั่นสะท้านจากภัยชั่วร้ายที่ซุกซ่อน และเอาใจสายแข็งที่ชอบฉากแหวกอก กัดหัว ควักตับไตไส้พุง ไปพร้อมๆ กัน หากจะโยงประเด็นทางสังคมจากหนังก็ได้ เพราะหนังพูดถึงคนงานเหมืองและภาวะการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม อันเชื่อมกันกับตำนานปีศาจกวางของชนเผ่าพื้นเมือง แถมยังแตะเรื่องการระบาดที่เรียกว่า opioid crisis หรือภาวะการเสพติดยาแก้ปวดของคนอเมริกันในพื้นที่ห่างไกล

Antlers เป็นหนังในตระกูลย่อยที่เรียกกันว่า folk horror หรือความสยองแบบพื้นบ้าน ในบริบทหนังอเมริกันหรือยุโรป ตระกูลหนังที่ว่านี้หมายถึงหนังผี หรือหนังสัตว์ประหลาด ที่ย้อนกลับไปหาตำนานหรือความเชื่อก่อนศาสนาคริสต์ ประเภทแม่มด หมอผี หรือปีศาจของนิทานพื้นบ้าน ความชั่วร้ายต่างๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นดินและภูเขา ในภาษาอังกฤษเรียกรวมๆ ว่า paganism หรือยุคก่อนมีศาสนา เมื่อครั้งคนฝรั่งยังนับถือเจ้าป่าเจ้าเขา นางไม้ สัตว์ป่า

สาเหตุที่คำว่า folk horror กลับมาเป็นที่พูดถึงในช่วงหลัง (ทั้งๆ ที่หนังในตระกูลนี้มีมานานหลายสิบปี) ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีหนังตระกูลนี้ออกมาหลายเรื่องพร้อมๆ กัน ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจาก Antlers แล้วยังมี Lamb หนังสยองขวัญว่าด้วยผู้หญิงที่เอาลูกแกะมาเลี้ยงเป็นลูก มี Demigod ว่าด้วยหญิงอเมริกันที่ถูกลัทธิบูชาผีป่าจับตัวไประหว่างเดินทางไปเที่ยวป่าดำของเยอรมัน (หนังดูได้ใน Amazon Prime) ส่วน The Feast เป็นหนังสยองขวัญว่าด้วยงานเลี้ยงอาหารเย็นสุดประหลาดในป่าของเวลส์ ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ หนัง folk horror ที่เข้าฉายในเมืองไทยและเป็นที่รู้จักก็เช่น The Witch ว่าด้วยชาวนาอเมริกันในยุคตั้งรกรากที่เผชิญหน้ากับอำนาจมืดของซาตานและแม่มด (The Witch ดูได้ใน Netflix) และ Midsomar หนังเขย่าขวัญในฉากหลังของเทศกาลพื้นบ้าน

สังเกตได้ว่า บรรดาหนัง folk horror เหล่านี้ล้วนมีโลเคชั่นเป็นชนบท ป่า หรือหมู่บ้านห่างไกล และในหนังหลายเรื่อง ความน่าสะพรึงกลัวหรือสยดสยอง ถูกใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือสภาวะของโลก รวมทั้งสภาพจิตใจมนุษย์ที่ถูกท้าทายด้วยอำนาจมืดจากดึกดำบรรพ์ถึงแม้เรื่องราวในหนังจะอยู่ในโลกสมัยใหม่ก็ตาม

ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นวิธีคิดแบบฝรั่ง สำหรับหนังไทย หรือหนังในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังผีหรือหนังสยองขวัญแทบทุกเรื่อง ก็น่าจะเข้าข่ายเป็น folk horror อยู่แล้ว ล่าสุดก็เช่น ร่างทรง (The Medium) หรือหนังแม่นาคแทบทุกภาค ก็เข้าเกณฑ์หนัง folk horror รวมทั้งหนังประเภทเล่นของ-ลองของก็ต่างอยู่ในหมวดความเชื่อพื้นบ้านทั้งนั้น ส่วนหนังผีจากประเทศเพื่อนบ้านเอเชียอาคเนย์ก็เหมือนกัน ต่างใช้ความเชื่อโบราณผสมกับการอ้างอิงศาสนา เพื่อสร้างบรรยากาศของป่าเขาอันลึกลับ พื้นดินที่ชุ่มด้วยเลือดร้ายจากอดีต หรือพิธีกรรมที่ผสมทั้งศาสนาจริงและไสยศาสตร์มนต์ดำ ว่าง่ายๆ หนังผีของพวกเราแถวๆ นี้ ต่างเป็นหนัง folk horror มาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้หนังอย่าง ร่างทรง ได้รับความสนใจในกระแสหนังโลกอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะคุณภาพของหนังเอง อีกส่วนคือหนังเป็นตัวอย่างของ folk horror ที่ผสานลักษณะไทยพื้นบ้านเข้ากับการเล่าเรื่องที่มีความ “อินเตอร์” ลองดูกันว่ากระแส folk horror ในหมู่คนดูต่างชาติ จะยืนระยะไปได้อีกนานเท่าไหร่ ส่วนในไทยไม่ต้องห่วง เพราะพวกเราคงไม่เลิกดูหนังผีกันง่ายๆ อยู่แล้ว!

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ Antlers ปีศาจกวาง และกระแส "สยองขวัญพื้นบ้าน" โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook