คุณหมีปาฏิหาริย์ ความเจ็บปวดของพี่ณัฐและตุ๊กตาหมีมีชีวิต

คุณหมีปาฏิหาริย์ ความเจ็บปวดของพี่ณัฐและตุ๊กตาหมีมีชีวิต

คุณหมีปาฏิหาริย์ ความเจ็บปวดของพี่ณัฐและตุ๊กตาหมีมีชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากนิยาย BL (Boy Love) เรื่องดังอีกเรื่องที่แฟนๆเฝ้ารอคอย กับการดัดแปลงให้กลายเป็นเวอร์ชั่นคนแสดง ผลงานการกำกับของป้าแจ๋ว ยุทธนา แม้ว่าจะออกอากาศทางช่อง 3 แต่เรตติ้งอยู่ที่ 0 ทว่าเมื่อลงสตรีมมิ่ง Netflix ละครกลับได้รับความนิยมจนเป็นกระแสในทวิตเตอร์!

 

ปรากฏการณ์เรตติ้งตก!

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ โทรทัศน์หลายช่องพยายามปรับตัวและปรับโครงสร้างในการสร้างละครกันอย่างดุเดือด บรรดาผู้จัดเจ้าเล็กเจ้าน้อยที่มองเห็น “โอกาส” ในการสร้างคอนเทนท์เป็นของตัวเอง โดยประเภทละครที่ถือได้ว่าสามารถทำกำไรและมีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้สูงคือซีรีส์ประเภท BL หรือซีรีส์วาย ซึ่งเจ้าใหญ่อย่าง GMMTV ครองตลาดนี้มาพอสมควร ในการสร้างคู่ขวัญมากมายหลายต่อหลายคู่

ช่อง 3 ถือเป็นอดีต ผู้นำในการทำละครมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้ละครในรูปแบบเดิมๆ อยู่ในช่วง “ขาลง” อย่างเห็นได้ชัด รสนิยมของผู้ชมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยังไม่รวมไปถึง “ช่องทาง” ในการเสพย์คอนเทนท์ ที่เราอาจจะต้องบอกว่าคนที่จะมานั่งรอหน้าจอโทรทัศน์ในห้วงเวลาเดียวกับที่ละครออนแอร์ น่าจะมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

คุณหมีปาฏิหาริย์ น่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่อาจจะพอสะท้อนภาพให้ช่อง 3 ได้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถึงละครจะคว้าเรตติ้ง 0 แต่ละครกลับติดเทรนด์ทวิตเตอร์และได้รับการพูดถึงอยู่พอสมควรในโลกออนไลน์ตลอดรอบสัปดาห์ที่ละครออนแอร์ ถ้าช่องอยากจะผลิตคอนเทนท์ที่ตอบโจทย์กับผู้ชม บางทีช่องเองอาจจะต้องเข้าใจว่าผู้ชมวัยรุ่นไปจนถึงเจนเนอร์เรชั่นวาย เผลอๆเจนเอ็กซ์บางคนก็ย้ายมาดูสตรีมมิ่งหรือแอปฯ ดูละคร กันหมดแล้ว

 

ความน่าสนใจของคุณหมีปาฏิหาริย์

แม้ว่าในช่วง 2-3 ตอนแรกของคุณหมีปาฏิหาริย์ อาจจะเล่นเอาคนดูที่เลิกดู “ละครหลังข่าว” ไปนาน อาจจะรู้สึกหงุดหงิดไปกับวิธีการแสดงที่ยังคงหยิบเอาลักษณะของละครหลังข่าวมาอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น บทนางร้ายอย่างสัจจารีย์ (จอย รินลณี) ที่เห็นหน้าทัน คนดูก็จะรู้ได้ทันทีว่าคนนี้แหละตัวร้าย ยังไม่รวมไปถึงการแสดงในแบบละครจ๋า เล่นใหญ่ ถลึงตา กลัวคนไม่เกทว่าร้าย

ยังไม่รวมไปถึงความ “ย้วย” ในแต่ละตอนที่เข้าใจได้ว่า ความยาวประมาณชั่วโมงเศษๆนั้นสร้างมาเพื่อให้ตอบโจทย์กับรูปแบบการเป็นละครหลังข่าวที่ต้องออนแอร์ทางโทรทัศน์ในสล็อตเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ดังนั้นในแต่ละเบรกจะมีความยืดเยื้อที่ไม่จำเป็นอยู่มากมาย แม้ว่าคนดูอาจจะต้อง “ปรับตัว” กับละครพอสมควร แต่เมื่อมันกระโจนเข้าสู่ส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญ ที่เริ่มตั้งคำถามกับตัวละครอย่าง “พี่ณัฐ” ว่าเหตุใดเขาถึงดูเป็นคนขี้หงุดหงิด โมโหร้าย ขนาดนั้น เรื่องราวก็น่าสนใจขึ้นมาทันที

ตลอดเส้นเรื่องกว่า 15 ตอน เราจะพบว่าไดอะล็อกของตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกหรือสมทบ โดยเฉพาะบรรดาตัวละครหนุ่มสาว พวกเขาเป็นตัวละครที่พยายามสะท้อนแนวคิดของ “คนรุ่นใหม่” ออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่ตัวละครมักจะไม่ลงรอยกับคนรุ่นเก่าในเรื่องค่านิยม การให้คุณค่าต่อเรื่องเพศสภาพ ศิลปะกับวิทยาศาสตร์ การคอรัปชั่นกับระบบชนชั้นศักดินา แทรกอยู่ทั้งเรื่อง แม้ว่าจะเป็นการใส่เข้ามาแบบโต้งๆและดูจงใจ แต่เมื่อทุกอย่างเล่าไปถึงบทสรุปในตอนท้าย เราก็พอจะเชื่อได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในคุณหมีฯ มีความ “ร่วมสมัย” อย่างชัดเจน

นอกจากนี้การหยิบเอาวรรณกรรมเรื่องดังๆ ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าชายน้อย” ผลงานการเขียนของอองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี มาเปรียบเทียบกับตัวละครตุ๊กตาหมีอย่างเต้าหู้ที่กลายมาเป็นมนุษย์ ได้อย่างชาญฉลาด ตัวละครทั้งสองตัวนี้เปรียบเสมือนกับผ้าขาวที่ได้พบเจอผู้คนหลากหลาย ทั้งสองได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ “ความเป็นมนุษย์” ที่ล้วนแล้วแต่มีพฤติกรรม แนวคิดที่แตกต่างกันออกไป

ยังไม่รวมไปถึงวรรณกรรมเรื่อง “แล้วฉันจะกลับมา” ของอิชิคาวะ ทาคุจิ (ซึ่งเคยดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Be With You มาแล้วทั้งเวอร์ชั่นญี่ปุ่นและรีเมคของเกาหลี) ที่ว่าด้วยมิโอะ หญิงสาวผู้เป็นภรรยา เธอเสียชีวิตไปแล้วแต่ในวันฝนพรำ เธอก็ได้กลับมาอีกครั้งแต่ความทรงจำของเธอได้หายไปทั้งหมด เธอจำไม่ได้ว่าตัวเองเคยเป็นภรรยาของทาคุมิและมีลูกชายอย่างยูจิ โดยตัวละครของมิโอะเองมีความคล้ายคลึงกับเต้าหู้ที่จู๋ๆตุ๊กตาหมีได้กลายเป็นมนุษย์แต่ไร้ความทรงจำก่อนหน้า และมีโอกาสได้พบกับคนที่เขารัก (พี่ณัฐ) ตัวเป็นๆ และสิ่งที่สอดคล้องกันระหว่างตัวละครทั้งสองอย่างมิโอะและเต้าหู้ก็คือ ทั้งสองมีเวลาอยู่บนโลกมนุษย์อย่างจำกัด ก่อนที่ทั้งสองจะจากโลกใบนี้ไปอีกครั้ง

 

พี่ณัฐกับความรุนแรงในครอบครัว (มีการเปิดเผยประเด็นสำคัญในละคร)

เมื่อละครอย่างคุณหมีฯ จบลงและมองย้อนกลับไปที่ตัวละครของพี่ณัฐ (จ๊อบ-ธัชพล กู้วงศ์บัณฑิต) เราจะพบว่าตัวละครตัวนี้ถือเป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุดในรอบหลายปี สำหรับฝ่ายชาย เขาเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นทหารและมีปัญหากับเรื่อง “เพศวิถี” ของลูกชายที่มีอาการตุ้งติ้ง พ่อของเขาคาดหวังว่าสิ่งที่พอจะช่วยรักษาอาการดังกล่าว (หรือในยุคหนึ่งเกย์ถูกเรียกว่าตุ๊ด) คือการส่งเขาไปเป็นทหาร!

เมื่อเติบโตมาจ๊อบยังต้องรับมือกับแม่ที่มีอาการป่วยทางจิต (เพราะสูญเสียคนรักไปและทำให้เธอยึดติดกับอดีต) จนเขาเองกลายเป็นคนโมโหร้าย ขี้โวยวายเพราะต้องแบกรับภาระทุกอย่างในบ้านเอาไว้บนบ่าคนเดียว บ่อยครั้งที่เขาเสียใจ “ตุ๊กตาหมี” อย่างเต้าหู้จึงเป็นอ้อมกอดที่อบอุ่นสำหรับเขามาตลอด

สิ่งที่พี่ณัฐต้องเผชิญมาตลอดชีวิตคือการแบกรับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังไม่รวมไปถึงการสูญเสียคนที่เขารักไปตลอดกาล และค้นพบว่าแม่ตัวเองกำลังจะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่กำลังจะสูญเสียความทรงจำไปอย่างช้าๆ สิ่งเหล่านี้คือความ “หนัก” ที่ตัวละครจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต แม้ว่าในช่วงท้ายของละครทุกอย่างจะดูสดใส มีความหวังและทำให้คนดูพอจะยิ้มได้ (หลังจากที่กระชากอารมณ์จนน้ำตาท่วมไปแล้ว) จริงๆเรากลับรู้สึกว่ามันเป็นการปลอบประโลมแบบชั่วครั้งชั่วคราว และทำให้ตัวละครอย่างพี่ณัฐได้ “พักใจ” ของตัวเองและโอบรับความผิดหวังให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

โชคยังดีที่เขามีคนรอบข้างที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์สิทธิ์ (เฟิร์ส ภาราดา) สอง (ตี๋ ธนพล) ตาธาร (ยูโด ธรรม์ธัช) คอยซัพพอร์ตอยู่ไม่ห่าง เพราะเราไม่มีโอกาสจะล่วงรู้เลยว่าในอนาคตที่พี่ณัฐต้องพบเจอกับ “ความผิดหวัง” ครั้งใหม่ เขาจะยัง “ไหว” ไหมอยู่หรือเปล่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook