ส่อง Triangle of Sadness หนังรางวัลปาล์มทองปีล่าสุด โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ส่อง Triangle of Sadness หนังรางวัลปาล์มทองปีล่าสุด โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ส่อง Triangle of Sadness หนังรางวัลปาล์มทองปีล่าสุด โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประกาศผลกันไปเมื่อเช้ามืดวันอาทิตย์ตามเวลาในไทย เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 75 มอบรางวัลปาล์มทอง อันเป็นรางวัลภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดรางวัลหนึ่งในโลก ให้กับ Triangle of Sadness หนังตลกเสียดสีจากผู้กำกับขาวสวีเดน รูเบน ออสลุนด์ การตัดสินใจของกรรมการไม่ถือว่าเป็นเซอร์ไพรส์ แต่ขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เต็งหนึ่งเช่นกัน ข่าวอัพเดทล่าสุดคือ Triangle of Sadness มีผู้จัดจำหน่ายในไทยซื้อสิทธิ์มาแล้ว และจะเตรียมลงโรงฉายในในโอกาสต่อไป

ผู้เขียนได้ชมหนังเรื่องนี้พร้อมสื่อมวลชนอีกจำนวนมากจากทั่วโลกที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ รีแอคชันในโรงคือหัวเราะกันแตกแตน Triangle of Sadness คือหนังตลกที่เปิดหน้ามาล้อเลียนบุคคลชั้นสูงอันมีบุคลิกน่ารังเกียจทั้งหลาย ตั้งแต่นายแบบ-นางแบบในวงการแฟชั่นที่รูปงามราวเทพดานางฟ้าแต่กลวงไร้สมอง เศรษฐีที่ร่ำรวยและใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ รวมทั้งชนชั้นกระฎุมพีของยุโรปที่เต็มไปด้วยนิสัยหน้าไว้หลังหลอก เหยียดผิว เหยียดชนชั้น และเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด

Triangle of Sadness เล่าเรื่องเป็น 3 ตอนคร่าว ๆ ตอนแรกเป็นเรื่องของนายแบบ คาร์ล (แฮริส ดิกกินสัน) กับแฟนสาวและอินฟลูเอนเซอร์จอมเรื่องมาก ญาญ่า (ชาร์ลบี ดีน) ตอนที่สอง เราตามคาร์ลและญาญ่า ไปร่วมทริปล่องเรือยอร์ชหรูที่มีแต่มหาเศรษฐีฝรั่งตัวขาวเป็นผู้โดยสาร มีกัปตันจอมเพี้ยนเป็นคนอเมริกัน (วูดดี้ ฮาเรลสัน) ส่วนคนงานทำความสะอาดในเรือเป็นแม่บ้านชาวเอเชีย ก้มหน้าเช็ดโถส้วมขณะผู้โดยสารต่างเสพสุขกลางทะเล เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรือนี้กำลังล่องไปที่ไหน หรือเหตุการณ์ในหนังทั้งหมดเกิดขึ้นที่ประเทศใด ผู้กำกับออสลุนด์ ตั้งใจให้หนังลอยอยู่ในสุญญากาศ ส่วนตัวละครในหนังก็เป็นตัวแทนของความล้มเหลวทางเศรษฐกิจและอุดมการณ์ขจองโลกเสรี อันทำให้พวกเขากลายเป็นชนชั้นที่เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น พูดง่าย ๆ นี่คือหนังแซะคนรวยในประเทศโลกที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเจนบูมเมอร์ เจน X หรือเจน Z

ตอนที่สามในหนังเป็นตอนติดเกาะ เพื่อไม่ให้สปอยล์จนเกินไป เอาเป็นว่าเกิดเหตุจนทำให้ทุกคนหนีตาย นำไปสู่องก์สุดท้ายอันเป็นบทสรุป (หรือไม่สรุป) ของหนังที่ยังคงทิ้งปริศนาไว้ให้คิดต่อ

มุขตลกของ Triangle of Sadness เล่นเอาฮาโรงแตกได้เหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงบนเรือยอร์ช ที่เล่นทั้งมุขปัญญาชน มุขอุจจาระและมุขอ้วกแตก ทั้งมุขคำพูดและมุขเถิดเทิง น่าสนใจว่าหนังจงใจเปิดโปงความเน่าเฟะของ “คนขาว” แต่ไม่ว่าใครดูหนังก็สามารถเข้าใจพฤติกรรมของพวกเขาและร่วมสมน้ำหน้าไปด้วยได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็ตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือหนัง “ฮิพ” ที่ทำมาแซะฮิปสเตอร์ เป็นหนังที่จงใจอวดฉลาด มีความล้นในการแสดงออก และถาโถมไอเดียและสถานการณ์จนดูแล้วทั้งตลกทั้งเหนื่อยไปพร้อม ๆ กัน  การที่ Triangle of Sadness ล้อเลียนชนชั้นสูงในยุโรป แต่หนังเองก็เปิดตัวที่เทศกาลเมืองคานส์ อันเป็นสนามของชนชั้นสูงในยุโรป ในโรงหนังเองก็มีแต่คนสวย ๆ หล่อ ๆ ใส่ทักซิโด้ไปนั่งหัวเราะคนประเภทเดียวกับตัวเองที่ถูกล้อเลียนอยู่บนจอ ทั้งหมดนี้ทำให้หนังมีมิติทับซ้อนแปลกประหลาด (ไม่ว่าจะในทางบวกหรือไม่ก็ตาม)

ดาราที่ไม่ใช่ผิวขาวคนเดียวในเรื่องนี้ คือ ดอลลี เดอ ลีออน ดาราฟิลิปปินส์ที่มีชื่อเสียงไม่น้อยในประเทศของเธอ และแสดงทั้งหนังตลาดและหนังอาร์ทมามากมาย ใน Triangle of Sadness เธอรับบทเป็นหัวหน้าแม่บ้านที่ทำงานในท้องเรือ ที่ภายหลังพลิกบทบาทมาเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ

รูเบน ออสลุนด์ วัย 48 เป็นผู้กำกับที่เคยได้รางวัลปาล์มทองมาแล้วจาก The Square หนังที่ล้อเลียนวงการศิลปะในยุโรป ที่ใช้เทคนิค การมองและวิธีการเล่าเรื่องคล้าย ๆ กัน (The Square เข้าฉายในไทยด้วย) การได้ปาล์มทองตัวที่ 2 จาก Triangle of Sadness เป็นการเสริมสร้างบารมีและทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับเพียงไม่กี่คนในโลก (และส่วนใหญ่สูงวัยกว่าทั้งนั้น) ที่ได้รางวัลใหญ่ของเทศกาลเมืองคานส์ไปแล้วสองครั้ง และมีโอกาสจะเป็นคนแรกที่ได้ถึง 3 ครั้งก็ได้ เพราะเส้นทางการทำงานของคนทำหนังจากสวีเดนคนนี้ยังอีกยาวไกล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook