Love Death + Robots ซีซั่นใหม่ของไซไฟสยอง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Love Death + Robots ซีซั่นใหม่ของไซไฟสยอง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Love Death + Robots ซีซั่นใหม่ของไซไฟสยอง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลับมาแล้วกลับ Season 3 ของซีรีส์แอนิเมชัน “สำหรับผู้ใหญ่” Love Death + Robots ของ Netflix งานด้านภาพอันน่าตื่นตาที่ผลักขอบเขตแอนิเมชันทีวีออกไปทั้งโดยเนื้อหาและเทคนิค พาผู้ชมดำดิ่งสู่ด้านมืดของเทคโนโลยี พรมแดนของหุ่นยนต์และสิ่งมีชีวิตอื่น ความรุนแรงสยดสยองแบบเลือดสาด นิมิตไซไฟอลังการ และฉากเซ็กส์ อย่าลืมว่าถ้าเปิดดูเรื่องนี้ที่บ้านก็อย่าเผลอให้เด็ก ๆ มานั่งดูด้วยเพราะเห็นว่าเป็น “การ์ตูน” ไม่งั้นจะคว้ารีโมตปิดกันแทบไม่ทัน

Love Death + Robots ในซีซั่นล่าสุดนี้มี 9 ตอน มีหลายตอนที่ทะลุจอด้วยคุณภาพและความกล้าในการท้าทายคนดู หลายคนอาจจะเปิดดูเรียงตอนกันไปตั้งแต่ต้น เพราะแต่ละตอนก็ไม่ยาวเกิน 10-20นาที รวมทั้งนี่เป็นซีรีส์แบบ anthology หมายถึงแต่ละตอนจบเรื่องราวในตัวเอง เป็น “ขนมรสชาติขมปร่า” ที่ว่าง ๆ สามารถหยิบกินได้ครั้งละชิ้นสองชิ้น พอกระตุ้นความคิดและจินตนาการ ก่อนจะกลับไปทำงานต่อ แต่ถ้าจะให้ผู้เขียนแนะนำเพื่อเปิดข้ามไปยังตอนที่คิดว่าน่าสนใจเลย แบบนั้นก็ได้เช่นกัน

ตอนที่ผู้เขียนคิดว่าดีที่สุดในซีซันนี้มีอยู่ 2-3 ตอน ที่ชัดเจนที่สุดคือตอนสุดท้ายชื่อ Jibaro โดยผู้กำกับ อัลแบร์โต มิลโก (มีดีกรีเป็นถึงผู้ชนะรางวัลออสการ์สาขาหนังแอนิเมชันสั้นปีล่าสุด จากเรื่อง The Windshield Wiper) Jibaro เป็นอนิเมชันสุดยอดความสมจริงว่าด้วยกลุ่มนายทหารสเปนที่เดินทางเข้ายังป่าดิบชื้นในอเมริกากลางและโดนนางพรายน้ำในร่างเกล็ดทองคำ หลอกหลอนด้วยเสียงโหยหวนและท่วงท่าเริงระบำ คู่ต่อกรของเธอคือ นายทหารหูหนวก เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงร้องดั่งนางไซเรนของเธอ เขาจึงรอดพ้นจากการถูกล่อลวงไปสู่ความตายกลางบึงน้ำสีมรกต หากแต่นางพรายเกิดชอบพอและแอบติดตามนายทหารหนุ่มไปในป่า จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากลางน้ำตกที่ทั้งเซ็กซี่ น่ากลัว คละคลุ้งด้วยแรงเสน่หาและคาวเลือด

Jibaro สร้างภาพที่บางครั้งคล้ายจิตรกรรมของ กุสตาฟ คลิมท์ (โดยเฉพาะนางพรายเกล็ดทอง) และบางครั้งคล้ายหนังผจญภัยในป่าดิบของ แวร์เนอร์ แฮร์ซอก ผนวกกับการใช้ภาษาภาพที่คล้ายงานทดลอง ตัดต่อเป็นเศษเสี้ยว และใช้พลังเสียงโหยหวนของนางพรายเพื่อสร้างบรรยากาศน่ากลัวแบบไม่หยุดพัก การดีไซน์ตัวนางพรายก็น่าสนใจ เพราะงามราวภาพเขียน ดึกดำบรรพ์ราวรูปปั้นฮินดูหรือเผ่ามายา ยั่วยวนในท่วงท่าแต่แฝงไว้ด้วยความอันตรายถึงชีวิต การที่หนังยาวไม่ถึง 20 นาที ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นกับการปะทะของตัวละครทั้งสอง

อีกเรื่องในซีซั่นนี้คือน่ากลัวไปแพ้กัน คือ Bad Traveling ตอนนี้กำกับโดย เดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับชื่อดังซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของ Love Death + Robots ตั้งแต่ซีซั่นแรกด้วย (ร่วมกับ ทิม มิลเลอร์) ตอนนี้เป็นหนังสัตว์ประหลาดที่ใช้ขนบของนิยายผจญภัยกลางทะ และขอยืมบรรยากาศของหนังสยองขวัญเต็มรูปแบบมาใช้ เปิดมาเราก็เห็นสัตว์ประหลาดหน้าตาคล้ายปูยักษ์ บุกขึ้นเรือและฆ่ากะลาสีตายอย่างสยดสยอง ก่อนจะหนีไปกบดานในท้องเรือ ปล่อยให้ลูกเรือที่เหลือต้องหาทางเจรจากับสัตว์ร้ายและแก่งแย่งกันเองเพื่อเอาตัวรอด

ความพิเศษของ Bad Traveling คือการเดินหน้าสร้างภาพอันน่าสะพรึงกลัว ทั้งฉากฉีกทึ้งร่าง ฉากเลือดสาด และสัตว์ประหลาดที่สื่อสารกับคนผ่านหัวมนุษย์ รวมทั้งการคุมบรรยากาศแห่งความหลอกหลอนได้อยู่มือ ไม่แปลกใจที่หนังกำกับโดยคนทำหนังที่แม่นยำทางภาพและอารมณ์อย่างเดวิด ฟินเชอร์

สองตอนข้างบนที่แนะนำไป ยังไม่มี robots อันเป็นสัญลักษณ์ของซีรี่ส์ชุดนี้ แต่มันเด่นจริง ๆ ทั้ง Jibaro และ Bad Traveling ส่วนตอนที่เป็นไซไฟ ขอแนะนำ Mason’s Rats ว่าด้วยชาวนารุ่นปู่ในสก๊อตแลนด์ที่จ้างบริษัทกำจัดหนู ให้ส่งหุ่นนักฆ่ามาเปิดสงครามเต็มขั้นกับหนูที่เข้ายึดโรงนา ต่างฝ่ายต่างใช้อาวุธหนักทันสมัยราวกับสงครามโลกในอนาคต ตอนนี้ทั้งชวนหัว ทั้ง “เกือบ ๆ” จะน่ารัก แต่ยังคงความโหดเลือดสาดราวกับการสังหารหมู่ชาวหนู ตอนนี้ยาวเพียง 10 นาที และถ้าเด็กโตหน่อยก็อาจจะพอนั่งดูด้วยกันได้ (ถ้าไม่ได้มีหนูเป็นสัตว์เลี้ยงนะครับ)

ตอนสุดท้ายที่อยากแนะนำ คือ The Very Pulse of the Machine ตอนนี้ไม่โหด ไม่มีเลือด แต่เป็นตอนที่มีรากฐานความคิดอันลึกซึ้งในปรัชญาแห่งเครื่องจักรกล เรื่องราวว่าด้วยนักบินอวกาศสองคนที่กำลังสำรวจดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัส แต่หลังจากยานประสบอุบัติเหตุ หนึ่งในสองนักบินต้องลากร่างของเพื่อนข้ามภูมิทัศน์อันน่าอัศจรรย์ เต็มไปด้วยสีสันและรูปร่างแปลกประหลาด ในขณะเกิดอาการประสาทหลอนจากยาแก้ปวดจนได้ยินเสียงเพื่อนที่ตายไปแล้ว ตอนนี้มีความไซคีเดอลิค ความ “เมา” และความลึกซึ้งในการค้นหานิยามของมนุษย์และเครื่องจักร เป็นตอนที่ดูแล้วเลือดไม่พลุ่งพล่าน แต่ทำให้ตกอยู่ในภวังค์แห่งความคิดไปอีกสักพักใหญ่

สรุปรวม ๆ ว่า Love Death + Robots ซีซั่นใหม่นี้ยังคงเอกลักษณ์ที่ผสมผสานความสยองเข้ากับไซไฟ สร้างโลกดิสโทเปียในรูปแบบต่าง ๆ และตั้งคำถามกับความโหดร้ายของเทคโนโลยี และการที่ความรุดหน้าของเทคโนโลยีแห่งอนาคตอาจจะทำให้ความเป็นมนุษย์เสื่อมถอยลงโดยไม่ได้ตั้งใจ แทบจะรอซีซั่นถัดไปไม่ไหวล่ะครับ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ Love Death + Robots ซีซั่นใหม่ของไซไฟสยอง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook