Pride Month และละครไทย โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

Pride Month และละครไทย โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

Pride Month และละครไทย โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เข้าสู่เดือนมิถุนายน ที่ทั่วทั้งโลกเริ่มเฉลิมฉลองเป็นเดือน Pride ขึ้นธงรุ้งกันทั่วไป เพื่อสนับสนุนการยอมรับเพศหลากหลาย ซึ่งในไทยเอง ก็มีการจัดพาเรด Pride อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนนี้เอง ท่ามกลางการถกเถียงกันในหลายประเด็นเกี่ยวกับการยอมรับเพศหลากหลายในสังคมไทย ที่มีความซับซ้อน ทั้งในข้อกฎหมาย และอคติสังคมที่ยังทำงานหนักไม่ไหว แล้วในแว่นของละครไทยล่ะ เรามีอะไรให้สำรวจกันบ้าง

Pride Month ไทยผ่านจอละครไปเลย

 

เทยเอยก็รีวิวละครและซีรีส์มาเยอะมากแม่ เห็นก้าวย่างของการพัฒนาละครและคอนเทนต์ไทย ประเด็นในเรื่องเพศของละครไทยนั้น มีการพูดถึงเพศต่างๆหลากหลาย และใช้ความเป็นเพศทางเลือกเข้ามาสร้างสีสันให้กับละครและซีรีส์บ้านเราอย่างออกรสออกชาติมาอย่างเนิ่นนาน ทำให้ในวงการบันเทิงไทย พื้นที่ของชาวเพศหลากหลาย จะว่าไม่มีเลยก็ไม่ใช่ แต่จะยอมรับไปเลยก็ไม่เชิง

เพศหลากหลายในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ในเบื้องหน้า เราจะพบความ “บันเทิง” ที่ถูกใช้ผ่านอัตลักษณ์ที่พิเศษของชาวเรา ความสนุกสนาน ตลก เพราะเป็นมายาคติที่เชื่อว่า “เพศเหล่านี้ เป็นสีสันให้กับสังคม” ดังนั้นเนื้อเรื่องในหน้าม่านจะแซ่บนัวมีอรรถรส หากเพิ่ม “ชาวสีรุ้ง” เข้าไปด้วยนั่นเอง 

ซึ่งในมุมมองของเทย เทยแบ่งช่วงเวลาของการปรากฎตัวของชาวสีรุ้งในยุคสมัยนี้ไว้ทั้งสิ้น 3 ยุคด้วยกัน

 

ยุคอนาล็อค - กะเทย สาวสอง ชอกช้ำคือเรา

หากเราย้อนกลับไปดูในยุคที่ละครไทยที่เรโทรหน่อย มักจะหยิบเรื่องราวจากวรรณกรรมขึ้นหิ้งมาจัดทำเป็นละครช่อง เราจะเห็นเรื่องราวของคำว่า “สาวประเภทสอง” กับการวนเวียนอยู่กับภาพนำเสนอที่ว่ากันว่า กะเทย ท้ายที่สุดก็จะต้องโดนผู้ชายทิ้ง ฉะนั้นเรื่องราวความรักของกะเทย จะมีความโศกเศร้ายิ่งกว่า อารมณ์เกินหญิง ไม่มีวันความรักกันไม่ได้ ดังเช่นในวรรณกรรมอย่าง “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” ของทมยันตี ที่ต้นฉบับก็จบแบบเศร้าโศกมาก ก่อนที่เวอร์ชั่นละครเมื่อปี 2561 จะปรับให้ตอนจบทันสมัยขึ้นก็ตาม ซึ่งนอกจากใบไม้ที่ปลิดปลิวแล้ว ยังมี “เพลงสุดท้าย” กับวลีเด็ด “สู้สิวะอีหญิง” ที่ตอกย้ำภาพจำของกะเทยนางโชว์ และโดนผู้ชายทิ้งอย่างไม่เหลียวแล

 

นอกจากนั้น “ชายไม่จริงหญิงแท้” กับ “ทัดดาว บุษยา” ยังคงเล่นกับการสลับขั้วบทบาทของการปลอมเป็นชายปลอมเป็นหญิง เพื่อปกปิดตัวตนบางอย่าง ก่อนที่พระเอกจะตกหลุมรักด้วยการเริ่มต้นว่า “นี่เราชอบผู้ชายหรือเปล่านะ” และค่อยมาเฉลยในตอนหลังว่า เป็น “หญิงแท้” ไม่ใช่กะเทยนะเธอ

ซึ่งในเนื้อวรรณกรรม ก็สะท้อนมุมมองที่มีต่อชาวเพศหลากหลาย ที่ต้องถูกผลักให้เป็นคนชั้นรองของสังคม ไม่อาจสู้กับผู้หญิงแท้ได้ ส่วนตัวละครกะเทยสายฮา ก็จะอยู่รายล้อมเป็นตัวละครประกอบไปด้วย เพื่อสร้างเสียงหัวเราะไม่ให้โทนของเรื่องดูหม่นเกินไป

 

ยุคดิจิตอล - เกย์ ผมสั้น และปัญหาสังคม

 

ภาพยนตร์รักแห่งสยาม เปิดภาพจำใหม่ของความรักระหว่าง ชายและชาย ที่ยังคงความเป็น “ผู้ชายแมนๆ” ทั้งคู่ ทำให้คำว่า “เกย์” ถูกลากเข้ามาวงการคอนเทนต์ไทยมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นเรามี “จอน-ที” จาก รักแปดพันเก้า มาบ้างพอกรุบ แต่การมาถึงของ “เผ่าผมสั้น” ทำให้การเปิดพื้นที่ใหม่ของตัวละครฝั่งผู้ชาย ที่ออกอารมณ์หวั่นไหวกับเพศเดียวกันได้ แบบไม่ต้องผลักให้เป็นผู้หญิง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากในช่วงนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะวัยทำงานแบบจอนที หรือเป็นวัยเด็กอย่าง ภูร์-ธี จากฮอร์โมน สิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเส้นเรื่องของยุคเกย์ดิจิตอลคือการถูกกดทับจากสังคมรอบตัว การได้รับการยอมรับจากครอบครัวมาเป็นอันดับต้นๆของปัญหาความขัดแย้งในเรื่อง และลามไปถึงการถูกยอมรับจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน และที่ทำงานตามลำดับ 

เป็นการสะท้อนว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล การโอบรับมากขึ้น และมองเห็นมิติที่เป็นปัญหามากขึ้นตามมา แม้จะเป็นเรื่องราวความรักที่กลุ่มคนดูเป็นฐานมากขึ้น แต่ความเป็นเพศหลากหลายยังคงอยู่ในกรอบความทุกข์ระทมไม่ต่างจากเดิม

 

กระนั้น “ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์” ที่สร้างจากเพจบันทึกของตุ๊ดอันโด่งดัง ก็สร้างปรากฏการณ์ “ความกะเทย” ที่ตลกสุดขีด และเป็นวิถีชีวิตแบบเกย์สาวแซ่บ ตีคู่มาด้วย Gay OK BANGKOK ที่พาไปสำรวจมุมมืดของสังคมเกย์กรุงเทพอย่างแท้จริง ซึ่งคาแรกเตอร์กะเทยสู้ชีวิตเพื่อจะเจอกับความรัก และชีวิตที่ปกติเหมือนกับคนอื่นๆ ก็ยังปรากฏในละครที่หยิบยืมตัวละครเกย์ที่มีหลักคิดมั่นคง ไปปรากฏอยู่ท่ามกลางความรักชายหญิงด้วย ไม่ว่าจะเป็นหมอณัฐใน Wake Up ชะนี , เจ๊ภากร-วุ่นรักนักข่าว หรือ เจ๊เพียง ในอุ้มรักเกมลวง ก็เช่นกัน

ยุค Streaming - วาย และความลื่นไหล

เข้าสู่ยุคที่ว่ากันว่ารุ่งเรืองเฟื่องฟูของซีรีส์วาย ที่ว่ากันว่าคอนเทนต์ไทยนั้นเป็นตลาดที่อู้ฟู่ที่สุดก็ว่าได้ แม้จะเป็นข้อถกเถียงกันว่า “วาย” จะนำเสนอภาพความเป็น LGBTQ ออกมาได้ไม่ครบถ้วน ในช่วงเวลาที่การขับเคลื่อนกฎหมายและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่ต้องการความชัดเจนและตรงประเด็นมากกว่า แต่ซีรีส์วายกลับเลือกจะนำเสนอประเด็นที่ฉีกออกจากโลกแห่งความจริง โดยอาศัยความเชิดชูไอดอลและนักแสดงชายสองคน มาขายโมเมนต์เหตุการณ์น่ารักๆ รักหว่างกัน ผ่านเนื้อเรื่องที่เป็นโรแมนติกแฟนตาซี ตัวละครที่มีทั้งเนื้อเรื่องยังคงความเป็นมนุษย์ และเป็นความวายแบบนิยายที่แทบไม่มีความจริงอยู่ในนั้นเลย

ในอีกด้านหนึ่ง คือการที่ความรักของตัวละครชายสองคน หลุดออกจากกรอบความระทมแบบชาวเกย์อย่างสมบูรณ์ กลายเป็นเอาความจิ้นตัวละครเพื่อหลบหลีกการกดทับที่เกิดขึ้นจริงที่อยู่ข้างนอกนั้น โดยตัวละครที่มักจะ “เทิร์น” จากชายแท้ไปเป็น “เกย์” เพราะเจอคนที่พิเศษ ทว่าจะไม่ยอมสูญเสียความเป็นชายออกไปเด็ดขาดผ่านวลีเด็ด “กูเป็นผู้ชาย แต่กูรักมึงคนเดียว” รวมถึงกันผู้หญิงออกไปจากสมการเนื้อเรื่องทั้งหมด

ซึ่งในหมวดละครดราม่าเรื่องอื่นๆ ก็นำเสนอความ “ลื่นไหล” นี้ออกมาไม่ต่างกัน ผ่านละครดราม่า ที่ใช้ความเกย์ เข้ามาอยู่ในสมการของรักสามเศร้ามากขึ้น อย่างใน เสน่หาไดอารี่ ตอน บ่วงเสน่หา ที่ แจ็ค เข้ามามีบทบาทในลักษณะของเกย์ ที่มามีความสัมพันธ์กับพระเอกเลยทีเดียว ทำให้เห็นว่า พระเอกไม่จำเป็นต้องคงความเป็นชายอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถลื่นไหล ไปมีสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันได้ด้วย แม้จะมีคนก่อนหน้าเป็นผู้หญิงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ตามตัวอักษร LGBTQ นั้น ยังคงเหลือเลสเบี้ยน ที่ยังเป็นพื้นที่เบาๆจางๆ ไม่ปรากฏให้เห็นมากมายนัก มีเพียง Club Friday the Series กับตอน รักแท้…มีหรือไม่มีจริง ที่นำเสนอเรื่องราวของเลสเบี้ยน ที่ลื่นไหลความสัมพันธ์มาจากคู่รักต่างเพศอีกที แต่ก็ต้องถือว่า ในวงการบันเทิงบ้านเราในแง่ของคอนเทนต์นั้น มีปรากฏเรื่องราวของเพศหลากหลายค่อนข้างครบถ้วน แต่นำเสนอได้ตรงประเด็น และช่วยเสริมการผลักดันการยอมรับของกฎหมายหรือไม่ ก็จะกลายเป็นอีกประเด็น

 

เพราะสิ่งที่ติดกับดักอยู่มากมายของเนื้อหาละครไทยนั้น ไม่นำเสนอการร่วมกันสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงความคิดหรือการยอมรับใดใด หากแต่ผลักให้ตัวละครเกิดสำนึกของความดี การตั้งตัวอยู่ในวัฒนธรรมอันดีของสังคม ซึ่งก็จะเข้าสำนวน “จะเป็นอะไรก็เป็นไป ขอให้เป็นคนดีก็พอ” และนั่นทำให้ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม น้ำหนักของการพูดเรื่องความหลากหลายในละครไทย ยังคงถูกจับลงกล่องให้เป็นสิ่งบันเทิงที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงในลักษณะของภาพแทนในสังคมได้เลย

ในส่วนของบุคลากรเบื้องหลังนั้น อาจจะต่างออกไป เพราะผู้กำกับ ทีมงาน ในอุตสาหกรรมบันเทิงนั้น ต่างพูดได้เกือบเต็มปากเลยว่าเป็นพื้นที่ของ LGBTQ ทั้งสิ้น นางงามที่รันโดยกะเทย ผู้จัดการทอม ที่มีทั้งประเด็นดราม่า หรือสาวทรานส์ที่อยู่ในเหตุการณ์การเสียชีวิตของแตงโม-นิดา ก็ตาม ทำให้เห็นว่าในฝ่ายเบื้องหลังนั้น กลับมีพื้นที่ของชาวเพศหลากหลายมากกว่าเบื้องหน้า ที่ยังคงใช้นักแสดง “เพศสภาพตรงเพศกำเนิด” มารับบทชาวสีรุ้งทั้งสิ้น แต่ไม่มีพื้นที่ให้กับนักแสดงที่ตรงเพศสภาพได้รับบทที่ต่างออกไป เราคงยังไม่สามารถเห็นพระเอกผู้ชาย ออกมา Come Out ว่าเป็นเกย์ และยังคงรับงานเป็นพระเอกต่อไปได้

ถึงแม้ว่าจะมีพระเอกหลายคน ที่เพศสภาพอาจจะลื่นไหลมากๆ ในชีวิตจริงก็ตามที …. อุ๊บส์

แม้ประวัติศาสตร์ละครไทยกับ LGBTQ จะขรุขระ และประดักประเดิดมากมาย กว่าจะเดินทางมาถึงยุค Streaming ที่คอนเทนต์มีหลากหลายหลากเพศให้เลือกชมแล้วก็ตาม แต่การขับเคลื่อนประเด็นเพศหลากหลาย โดยการใช้สื่อให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนั้น ของไทยยังคงต้องเดินทางกันต่อไปอีกหลายก้าวเลยนะเธอ

เทยหวังว่าจะเป็นกระบอกเสียงหนึ่ง ในการคัดเลือกซีรีส์และละครที่มีประเด็นสังคมดีดี แซ่บแซ่บ มาช่วยกันปลุกความคิด และผลักดันให้สังคมโอบรับความหลากหลายทางเพศได้มากยิ่งๆ ขึ้นไปนะเธอ

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ Pride Month และละครไทย โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook