Jurassic World: Dominion และนายทุนที่ไม่เคยจดจำบทเรียน

Jurassic World: Dominion และนายทุนที่ไม่เคยจดจำบทเรียน

Jurassic World: Dominion และนายทุนที่ไม่เคยจดจำบทเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ผู้กำกับโคลิน เทรเวอร์โรว์จะนิยาม Jurassic World: Dominion เป็นบทสรุปของทั้งแฟรนไชส์ Jurassic ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าการพยายาม “ปิดฉาก” โลกมนุษย์ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับไดโนเสาร์นั้น มีความอิรุงตุงนังไปหมด ว่าแต่มันมีความ “รุงรัง” ของเรื่องอะไรบ้างนะ

 

เมื่อไดโนเสาร์ก้าวเท้าและโบยบินสู่โลกมนุษย์  

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี เรื่องราวที่เกิดขึ้นในแฟรนไชส์ Jurassic Park และ Jurassic World ดำเนินเหตุการณ์อยู่บนเกาะอิสลานูบลาร์เป็นหลัก (รวมไปถึงเกาะเพาะพันธุ์ไดโนเสาร์แบบใน The Lost World: Jurassic Park ด้วย และแม้ว่าใน The Lost World: Jurassic Park จะมีความพยายามเอาไดโนเสาร์ออกมานอกเกาะก็ตาม รวมไปถึง เรื่องราวใน Jurassic World Fallen Kingdom จะเป็นการปูทางเอาไว้แล้วว่า ถ้าหากไดโนเสาร์เกิดออกมาอาละวาดบนแผ่นมนุษย์โลกจะเกิดความวุ่นวายอะไรตามมาบ้าง

หากเรามองย้อนกลับไปใน The Lost World: Jurassic Park ตัวละครอย่างปีเตอร์ ลัดโลว์ (อาร์ลิสส์ ฮาวเวิร์ด) เคยมีความพยายามจะนำไดโนเสาร์มาจัดแสดงที่จูราสสิก พาร์ค ในเมืองสร้างดิเอโก เพื่อสร้างผลกำไร และนำเงินที่ได้ไปโปะหนี้จากการล่มสลายของสวนสนุกราสสิก พาร์ค (หนังภาคแรก) อันเป็นผลการดำเนินงานของจอห์น แฮมมอนด์  แน่นอนว่าความพยายามในการจับไดโนเสาร์มาใส่กรงนั้นเป็นเรื่องที่งี่เง่า จากที่เราได้เห็นมาโดยตลอดทั้งแฟรนไชส์ แต่การมีอยู่ของคนรวยแบบลัดโลว์ที่ได้สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย ความพยายามจะเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ ไม่เคยสร้างบทเรียนให้กับใครบางคนได้เลยจริงๆ

เหตุการณ์ใน Jurassic World Fallen Kingdom อาจจะเริ่มต้นด้วยการที่เหล่าตัวเอกถูกส่งตัวไปช่วยอพยพไดโนเสาร์บนเกาะให้รอดพ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟไม่ให้พวกมันสูญพันธุ์รอบสอง แต่กลายเป็นว่าโครงการดังกล่าวเปรียบเสมือนการหลอกใช้จากเหล่านายทุน ที่ได้ประโยชน์จาการนำไดโนเสาร์มาต่อยอดทดลองทางพันธุวิศวกรรมอีกตลบ จะเห็นได้ว่าสุดท้ายประเด็นหลักๆของแฟรนไชส์ชุดนี้ คือเรื่องราวของ “นายทุน” เป็นหัวใจหลัก

Jurassic World: Dominion ยังเล่าเรื่องราวของว่าที่นายทุนคนใหม่ ผู้ไม่เคยหลาบจำและไม่สนใจใยดีด้วยซ้ำว่า เหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น จะสร้างความฉิบหายย่อยยับแค่ไหนก็ตาม ตราบใดที่ผลกำไรหรือสิ่งตอบแทนที่เรียกว่า “เงิน” มันยังเย้ายวน หอมหวาน และน่าหลงใหล

 

นายทุนผู้กินรวบทุกทาง

จากบริษัทอินเจน สู่บริษัทอย่างไบโอซิน บริษัทเทคโนโลยีที่ทรงอำนาจ ครอบคลุมในทุกวงการวิศวกรรมพันธุกรรม อุตสาหกรรมทางการเกษตร วงการอาหาร คล้ายกับการกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำไปยันปลายน้ำ (เอ๊ะ คุ้นๆเหมือนบริษัทไหนไหมนะ) ความผิดปกติที่เริ่มต้นขึ้นจากการถือกำเนิดของตั๊กแตนที่มีสายพันธุ์ในยุคดึกดำบรรพ์ผสมพ่วงเข้าไปด้วย การแพร่พันธุ์ของพวกมันเริ่มทำให้พืชผลทางการเกษตรของเหล่าเกษตรกรย่อยยับ ทว่าแปลงไร่ของเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยบำรุงดอกผลจากบริษัท “ไบโอซิน” กลับไม่ได้รับผลกระทบและสามารถงอกงามได้ตามปกติ

ความผิดสังเกตดังกล่าวได้เข้าตาของดร.เอลลี่ แซ็ตต์เลอร์ (ลอร่า เดิร์น) ที่ตงิดใจแล้วว่าบางที หายนะครั้งใหม่กำลังจะมาเยือนมนุษย์ในรูปแบบของความล่มสลายของระบบนิเวศน์ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่สามารถควบคุมวงจรห่วงโซ่อาหารได้ ความหลากหลายทางธรรมชาติอาจจะหายไป และผลิตผลทางการเกษตรอาจจะกลายเป็นการกำหนดสารทางพันธุกรรมชนิดใหม่ขึ้นมาแทน

ลูอิส ด็อดจ์สัน (แคมป์เบลล์ สก็อตต์) ชายผู้เคยยื่นกระป๋องเปล่าๆให้ เดนนิส เนดรี้ (เวย์น ไนท์) พนักงานที่ลักลอบขโมยตัวอ่อนไดโนเสาร์ออกไปจากห้องทดลอง และทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยของสวนสนุกจูราสสิก พาร์คล่มจนทำให้ไดโนเสาร์ออกมาอาละวาด ตัวละครนี้ได้กลับมาอีกครั้งในฐานะของผู้บริหารบริษัทไบโอซิน ซึ่งพอจะทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่เขาหายหน้าหายตาไปนั้น เขาไปรวบรวมข้อมูล ผันตัวเองเป็นนักธุรกิจที่มองการณ์ไกลและคิดการณ์ใหญ่ในระดับที่ไม่เคยมีนายทุนคนไหนทำมาก่อน

สถานที่ตั้งของไบโอซินซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาโดโลไมท์ที่ห่างไกลจากโลกภายนอก แม้ว่าฉากหน้าท่ามกลางการรับรู้ของสาธารณชน บริษัทนี้คือพ่อพระที่อุทิศตัวในการแก้ปัญหาเรื่องความหิวโหย การสร้างพืชผลทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษและเชื้อโรค (แน่นอนว่ามันถูกปรับแต่งทางพันธุวิศวกรรมมาแล้ว) นอกจากนี้การเก็บไดโนเสาร์จากโลกภายนอกมาดูแล เพื่อความปลอดภัยนั้น แท้ที่จริงแล้วพวกเขาได้รับผลประโยชน์ในทุกช่องทางจากสิ่งเหล่านี้ (ในโลกทุนนิยม ไม่มีนายทุนคนไหนลงทุนฟรีๆ!)

ปัญหาของไบโอซินอยู่ที่ว่า พวกเขาได้ก้าวล่วงข้ามจรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์ไปไกล สิ่งที่พวกเขาพยายามทำ ทดลอง และจะผลิตผลกำไร คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของธรรมชาติ จนท้ายที่สุดแล้วในระยะยาว “หายนะ” อาจจะมาเยือนในแง่ของการสูญพันธุ์ของมนุษย์ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆด้วยเช่นกัน

น่าเสียดายที่นอกจากประเด็นที่เรากล่าวถึงไปนั้น หนังพยายามเล่าในทุกๆประเด็น (อารมณ์ประมาณว่ามีเรื่องอยากจะเล่า 108 แต่เวลามีอยู่แค่นี้ เลยยัดทุกอย่างเข้ามาหมด) ไดโนเสาร์ตัวใหม่ก็อยากใส่ เรื่องราวความเป็นพ่อแม่บุญธรรมของแคลร์และโอเว่นที่มีต่อไมซี่ ล็อควู้ด (อิซาเบลล่า เซอร์มอน) ก็ต้องเล่า ฉากแอ็คชั่นไล่ล่าแบบแฟรนไชส์ Fast ก็น่าจะโดนใจคอหนังแอ็คชั่น การรียูเนี่ยนตัวละครจากแฟรนไชส์ภาคต้นก็ต้องทำแล้วเพราะเป็นหนังปิดแฟรนไชส์ โครงสร้างเรื่องราวก็ต้องใหญ่กว่าที่เคยทำมาทั้งหมด ฯลฯ จึงทำให้หนังภาคนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวยิบย่อยที่อยากจะบอกเล่าเต็มไปหมด แต่เมื่อเวลามีจำกัด ทุกอย่างเลยดูรีบร้อนและอัดแน่นจนคนดูสำลัก

แม้ว่าสตูดิโอจะบอกว่านี่คือหนังปิดแฟรนไชส์ แต่ใครจะไปรู้ อีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อคนดูคิดถึงเหล่าไดโนเสาร์อีก มันอาจจะมีตัวละครนายทุนที่มีโครงการไปเปิดสวนสนุกบนดวงจันทร์ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ อยู่ที่ว่าสตูดิโอหนังอย่างยูนิเวอร์แซลจะอนุมัติทุนสร้างไหม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook