Ms. Marvel เมื่อมุสลิม + มาร์เวล = ซูเปอร์ฮีโร่อเมริกัน โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ออกอากาศแล้วในช่อง Disney+ ซีรี่ส์มาร์เวลเรื่องใหม่ Ms. Marvel เรียกเสียงวิจารณ์ทางบวกค่อนข้างเอกฉันท์จากแทบทุกสำนัก แถมยังจุดประเด็นการถกเถียงมากมายสืบเนื่องจากตัวละครหลัก ที่มาร์เวลชูจุดขายเองว่าเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่มุสลิมคนแรก” ที่เป็นเด็กสาววัยรุ่นอีกด้วย
พล๊อทเรื่องเท่าที่เห็นจาก 2 อีพีแรก อาจจะยังไม่ดุเดือดเข้มข้น แต่การวางตัวละครเด็กสาวเชื้อสายปากีสถานที่กำลังเติบโตผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในนิวเจอร์ซี่ ที่บังเอิญไปได้พลังวิเศษจากกำไลโบราณเก่าเก็บของครอบครัว ทำให้ Ms. Marvel เป็นซีรี่ส์ที่มีรสชาติไม่ซ้ำซาก ผสมผสานเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของวัย (coming of age) กับเรื่องการผจญภัยแนวซูเปอร์ฮีโร่ และที่สำคัญ ซีรี่ส์นี้ตั้งใจใส่รายละเอียดทางวัฒนธรรมของชาวปากีสถานและอิสลาม ทั้งคำพูด คำอุทาน การพูดภาษาอาหรับและอูรดู (ภาษาประจำชาติปากีสถาน) ปนกับภาษาอังกฤษ รวมทั้งเครื่องแต่งกาย ย่านที่อยู่อาศัย หรือของประกอบฉากในบ้านที่คัดมาเพื่อบ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมอย่างเต็มที่ ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นตัวละครในหนังมาร์เวลอุทานคำว่า “อัลเลาะห์!” ให้คนดูได้ยิน
นางเอกของเรื่องคือ กมลา คาห์น (แสดงได้อย่างน่ารักสดใสโดย อิมาน เวลลานี่) เด็กเนิร์ดสาววัย 16 ที่เป็นแฟนหนังมาร์เวลแบบเข้าเส้น เธอเติบโตในเมืองนิวเจอร์ซี่ในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่เป็นคนอพยพจากปากีสถานที่มาตั้งตัวในอเมริกา มีงานมีการทำและเขยิบฐานะเป็นชนชั้นกลางเต็มตัว แต่พ่อแม่ของกมลายังคงบุคลิก “พ่อแม่แบบเอเชีย” ที่เรามักเห็นในหนัง (และในความจริง) คือเข้มงวดกับลูกสาว เคร่งกฎระเบียบ ไม่ชอบให้ลูกไปเที่ยวดึก ๆ กับใครก็ไม่รู้ ยังกลัวสังคมที่เปิดมาก ๆ มาสร้างอิทธิพลทางลบกับลูก และยังต้องการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาของรากเหง้าครอบครัว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ลูกสาวของพวกเขากลายเป็น “เด็กอเมริกัน” ไปแล้ว
ลองนึกภาพหนังที่พูดถึงครอบครัวคนจีนในอเมริกา Ms. Marvel ใช้แนวทางในการสร้างตัวละครแบบนนั้น เพียงแต่เปลี่ยนจากวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกแบบจีน (เช่นในหนังมาร์เวลอีกเรื่อง Shang-chi) มาเป็นวัฒนธรรมปากีสถาน-อิสลาม ซึ่งเรามักไม่ค่อยได้เห็นในหนังอเมริกัน
สีสันของ Ms. Marvel จึงแตกต่างพอสมควรจากหนังมาร์เวลช่วงหลัง ๆ บวกกับสไตล์ที่ซีรี่ส์เลือกใช้ คือเลือกไปทางการ์ตูนสดใส เดินเรื่องเร็ว ใช้กราฟิกและลูกเล่นทางภาพ ทั้งหมดนี้มีดารานำ อิมาน เวลลานี่ ในบทกมลา เป็นศูนย์กลาง เธอมีรัศมีดาราแต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงภาพเด็กสาวเนิร์ดธรรมดา ๆ ที่ต้องต่อกรกับความเข้มงวดของพ่อแม่ ผ่านช่วงเวลาที่วัยของเธอเรียกร้องความอิสระและการผจญภัย
เรื่องราวใน Ms. Marvel เริ่มต้นจากการที่กมลา แอบย่องหนีแม่ไปเที่ยวงาน AvengerCon หรืองานชุมนุมสาวกมาร์เวล เธอแต่งแฟนซีเป็นตัวละคร Captain Marvel หนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่หญิง แต่เพิ่มรายละเอียดของชุดโดยการใส่กำไลทองเหลืองโบราณที่ยายของเธอส่งมาให้จากปากีสถาน กมลาค้นพบว่ากำไลนั้นมีกำไลที่ให้พลังวิเศษกับเธอ จากการที่เธอเคยเป็นเพียงแฟนหนังมาร์เวล ตอนนี้กมลากลายเป็นตัวละครหนึ่งในการ์ตูนเรื่องโปรดของเธอแล้ว พร้อม ๆ กับความวุ่นวายและการออกเดินทางที่ติดตามมา (Ms. Marvel ถ่ายทำในไทยด้วย คาดว่าจะออกอากาศในอีพี 4 และ 5 ในวันที่ 28 มิถุนายน และ 6 กรกฎาคม)
Ms. Marvel อาจจะไม่ได้เปิดประเด็นใหม่เอี่ยมที่ไม่มีใครเคยพูด เพราะดังที่ว่าไป หนังอเมริกันและหนังมาร์เวลทั้งหลาย ต่างพยายามแสดงออกถึงค่านิยม “ความหลากหลาย” หรือจะเรียกแบบทางการหน่อยว่า “พหุวัฒนธรรม” อันเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมอเมริกาช่วง 10 ปี่หลัง พูดง่าย ๆ คือ ดีสนีย์พยายามทำให้หนังซูเปอร์ฮีโร่มีความ “ขาว” น้อยลง ไม่ว่าจะในหนังอย่าง Black Panther หรือ Shang-chi รวมทั้งการเพิ่มบทบาทให้ซูเปอร์ฮีโร่หญิง แต่การนำ Ms. Marvel มาสร้างเป็นหนัง (ตัวละครนี้ปรากฎในการ์ตูนมาร์เวลตั้งแต่ปี 1977) ถือได้ว่าเป็นการพยายามก้าวไปอีกขั้น โดยการนำตัวละครหญิงที่เป็นมุสลิม และมาจากเชื้อสายวัฒนธรรมย่อยที่มีขนาดเล็กกว่า และ “ไม่ป๊อป” เท่าคนเชื่อสายจีน รวมทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดดรามาอื้อฉาวต่าง ๆ (ที่ผ่านมายังไม่มีชัด ๆ แต่ผู้เขียนพอนึกออกว่า พวกเคร่งศาสนาสุดโต่งอาจจะเริ่มถามคำถามว่า ทำไมกมลาและแม่ของเธอ ถึงไม่คลุมหิญาบ)
ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ผิวสี ซูเปอร์ฮีโร่จากครอบครัวจีน หรือซูเปอร์ฮีโร่หญิงกล้าแกร่งจากครอบครัวมุสลิม สิ่งที่หนังมาร์เวลทำเหมือนกันคือ ทำให้ซูเปอร์เหล่านี้เป็น “อเมริกัน” สิ่งที่ดิสนีย์ทำคือการโฆษณาค่านิยม melting pot หรือ การที่ประเทศอเมริกาสามารถหลอมรวมเชื้อชาติและศาสนาต่าง ๆ เขย่าให้ได้ที่ สลายความแตกต่าง และโขลกผลผลิตมาเป็นอเมริกันชน มีความฝัน ความต้องการ และความทะเยอทะยานในการแสวงหาเสรีภาพแบบอเมริกัน
Ms. Marvel เป็นซูเปอร์ฮีโร่มุสลิม สิ่งนี้ชัดเจนและต้องให้เครดิตกับผู้สร้างหนังที่ทำตัวละครนี้ออกมาได้น่าสนใจ แต่กมลาและครอบครัวของเธอ มีความเป็นอเมริกันชนมากกว่า หรือ “ต้องการ” เป็นอเมริกันชนโดยแท้จริง ไม่ว่าจะยังโหยหารากเหง้าหรือประวัติศาสตร์ของตัวเองมากเพียงใดก็ตาม
ผู้เขียนจะรอชม Ms. Marvel ตอนที่เหลือด้วยใจจดจ่ออย่างแน่นอน