PUBLIC ENEMIES เรื่องจริงขึ้นจอใหญ่ของ จอห์น ดิลลินเจอร์ อาชญากร

PUBLIC ENEMIES เรื่องจริงขึ้นจอใหญ่ของ จอห์น ดิลลินเจอร์ อาชญากร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ภาพยนตร์แอ็คชั่นยอดเยี่ยมที่มีชั้นเชิงและความประณีตในงานสร้างและงานกำกับของไมเคิล มานน์ (Heat, Collateral, Miami Vice) ซึ่งผลงานเรื่องล่าสุดนี้ PUBLIC ENEMIES วีรบุรุษปล้นสะท้านเมือง ได้หยิบเอาเรื่องราวของจอมโจรที่มีอยู่จริงในยุค 30 มาขึ้นจอใหญ่ ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายในบ้านเรา 23 ก.ค.นี้ มาทำความรู้จักกับ ชีวิตจริงของวีรบุรุษจอมโจร จอห์น ดิลลินเจอร์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดหนังเรื่อง Public Enemies จอห์น ดิลลินเจอร์ เขาคือจอมโจรเลื่องชื่อที่ชาวสหรัฐฯ ต้องระลึกถึง จนต้องมีวันของเขาขึ้นมา เพราะการสร้างวีรกรรมเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯตกต่ำ ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกอย่างนี้ และวันเวลาได้ผ่านเข้ามาถึงเดือนกรกฎา ทำให้ นึกถึงคนคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษในห้วงเวลาวิกฤติ เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 30 ชื่อของเขาคือ จอห์น ดิลลินเจอร์ บุรุษผู้ที่คนรักใคร่และให้เกียรติ จนมีการยกวันที่เขาเสียชีวิตเป็นวันจอห์น ดิลลินเจอร์ (John Dillinger Day) ในวันที่ 22 กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งบรรดาแฟนคลับจะไปรวมตัวกัน ณ โรง ภาพยนตร์ไบโอกราฟ ย่านลินคอร์น ปาร์ค ชิคาโก เพื่อเดินไปบนเส้นทางที่เขาเคยวิ่งหลบกระสุนก่อนจะลาโลกไปเป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้คนชื่นชอบ จอห์น ดิลลินเจอร์ เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว เขาไม่ใช่คนที่สร้างประโยชน์ใดๆให้สังคม ตรงกันข้าม เขาเป็นจอมวายร้าย เป็นโจรที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่ง ในฐานะผู้นำแก๊งปล้นธนาคารหลายแห่ง ปล้นอาวุธของทางการ สังหารผู้คนและเป็นเซียนแห่งการแหกคุก แต่ประชาชนก็รักใคร่เขา เพราะในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำจนผู้คนเดือดร้อนและไร้ความหวังไปทุกหย่อมหญ้า พวกนายธนาคารและชนชั้นสูงของสังคม เป็นพวกที่ถูกมองยังมีความเป็นอยู่อู้ฟู่ และคงความร่ำรวยเสมอบนซากปรักหักพังของเศรษฐกิจ ดังนั้น จอมโจรผู้เข้ามาสร้างความฮือฮาด้วยการปล้นธนาคาร จึงกลายเป็นวีรบุรุษ จนได้ฉายาว่าเป็นโรบินฮูดยุคใหม่... ดิลลินเจอ ร์เป็นชาวเมืองอินเดียนาโปลิส หลังจากลืมตามาดูโลกในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1903 ได้เพียง 3 ปี แม่ก็เสียชีวิต ทิ้งให้เด็กน้อยอยู่กับพ่อในร้านขายของชำ และแม่เลี้ยงคนใหม่ที่เข้ากับลูกเลี้ยงไม่ได้ ดิลลินเจอร์ จึงเติบโตมาแบบเด็กมีปัญหา ไม่เล่าเรียนหนังสือ แถมยังเกเรเกตุง และเริ่มการลักเล็กขโมยน้อย แม้ครั้งหนึ่งเขาเคยพยายามเปลี่ยนชีวิตด้วยการไปสมัครเป็นนาวิกโยธิน แต่ ก็อยู่ไม่รอด ต้องหนีกลับบ้าน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่ว ประกอบกับการที่ไม่มีวุฒิการศึกษาเป็นชิ้นเป็นอัน พ่อหนุ่มดิลลินเจอร์หางานทำอะไรก็ไม่ได้ จนทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมกับพวกแก๊งโจรในย่านอินเดียนาโปลิส เริ่มจากแก๊งของเอ็ด ซิงเกอร์ตัน ที่พาดิลลินเจอร์ไปขโมยของในร้านค้าแต่ การประพฤติ ตนเป็นโจรอย่างเต็มตัวครั้งแรกของดิลลินเจอร์ก็ไปไม่รอด คู่หูคู่ใหม่โดนจับได้ ซิงเกอร์ตันซึ่งสู้คดีอย่างแข็งขัน ได้รับการพิพากษาจำคุกเพียง 2 ปี ในขณะที่ดิลลินเจอร์ที่อุตส่าห์รับสารภาพตั้งแต่ต้นเจอเข้าไป 20 ปี แต่หลังจากอยู่ในซังเตนาน 8 ปีเศษ ก็ได้รับทัณฑ์บนให้ออกมาใช้ชีวิตภายนอกได้ตามปกติแต่นั่นก็เป็นการ เปลี่ยนแปลงดิลลินเจอร์ไปตลอดกาล

คุก...ทำให้หนุ่มอ่อนโลกกลายเป็นหนุ่มผู้ แข็งแกร่ง รวมถึงการได้เพื่อนมากมายในนั้น ดิลลินเจอร์ทำความรู้จักกับโจรก่งๆหลายคน ดังนั้น เมื่อออกมาจากคุกได้ในกลางปี ค.ศ.1933 ก็เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเป็นจอมโจรของดิลลินเจอร์ ที่หลังจากนั้นก็ปล้นดะ โดยมีธนาคารใหญ่ๆเป็นเป้าหมายหลัก กลวิธีการปล้นของดิลลินเจอร์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาโด่งดัง เพราะจอมโจรมาดเนี้ยบคนนี้ไม่ค่อยธรรมดา เขาไม่ได้ใช้วิธีพกปืนไปปล้นอย่างโฉ่งฉ่าง แต่จะสุขุมกว่านั้น เช่น ปลอมตัวเป็นพนักงานขายระบบสัญญาณเตือนภัยเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ธนาคารก่อน จะปล้นเงียบ หรือแม้แต่การปล้นแบบโฉ่งฉ่างของเขา ก็ยังทำจนกลายเป็นตำนาน เพราะ ดิลลินเจอร์ ผู้ฉลาดรอบคอบ จะจัดทีมมาทำทีเป็นกองถ่ายภาพยนตร์ที่กำลังถ่ายฉากปล้น ทำให้แม้จะมีผู้คนมากมายเห็นการปล้นธนาคาร แต่ก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะนึกไปว่าเป็นกองถ่ายหนัง ทั้งๆที่ตอนนั้นเงินของธนาคารได้ถูกฉกชิงไปเสียแล้ว พอเรื่องมาแดงทีหลัง แทนที่กระแสมหาชนจะด่าว่าเขากลับพร้อมใจกันปรบมือให้ในความคิดสร้างสรรค์ที่ทำลายนายแบงก์นี้ อย่าง ไรก็ตาม ความสุขุมและฉลาดลึกของดิลลินเจอร์ก็ไม่ได้ช่วยให้รอดเสมอไป ตอนที่เข้าปล้นธนาคารในโอไฮโอ เมื่อ 22 กันยายน 1933 เขาก็ถูกจับจนได้ แต่ระหว่างที่ถูกจำขังอยู่ พรรคพวกจำนวนหนึ่งก็แหกคุกไปก่อน แล้วย้อนมาช่วยพา ดิลลินเจอร์ แหกคุกตามไปด้วย งานนี้สังเวยด้วยชีวิตนายอำเภอที่ถูกยิงดับไป 1 ศพ ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 1934 ดิลลินเจอร์ ก็เข้าซังเตอีกจนได้ คราวนี้เจ้าหน้าที่รัฐเอาไปขังไว้ที่คุกที่มีการดูแลอย่างแน่นหนา แต่ติดคุกได้ไม่ถึง 2 เดือน พ่อหนุ่มก็แหกคุกออกมาได้อีก ด้วยการทำปืนปลอมขึ้นมาจากไม้เอาไปหลอกขู่ผู้คุม และเช่นเคย กระแสมหาชนชื่นชมความสามารถของเขา เจอเข้าไปหนัก อย่างนี้ แถมการปล้นก็ไม่หยุดยั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องขอให้เอฟบีไอเข้ามาช่วยตามล่าดิลลินเจอร์และ พรรคพวก งานนี้ผู้อำนวยการเอฟบีไอ เจ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ส สั่งให้เจ้าหน้าที่พิเศษมือดีอย่าง แซมมวล เอ คาวเลย์ และ เมลวิน เพอร์วิส เข้าไปเป็นทีมไล่ล่า ซึ่งก็เหมือนการเล่นเกมแมวไล่จับหนู ที่มักจะฉิวเฉียด คลาดกันไปคลาดกันมาอยู่หลายที ดิลลินเจอร์ก็ยังหลบได้เรื่อยๆ จนได้รับฉายาว่าพ่อหนุ่มกระต่าย หรือแจ๊ค แร็บบิต เพราะสามารถหนีตำรวจได้อย่างคล่องแคล่ว พอๆกับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วในขณะปล้น ในช่วงท้ายๆของ การก่อวีรกรรม ดิลลินเจอร์สยายปีกตั้งแก๊งใหญ่ในชิคาโก ในขณะที่เอฟบีไอก็ตั้งศูนย์ไล่ล่าเขาอยู่ในเมืองเดียวกัน โดยพลพรรคในแก๊งใหม่ของดิลลินเจอร์เองก็ถือเป็นคนดัง ในหมู่โจร เช่น โฮเมอร์ แวน เมเตอร์, เลสเตอร์ กิลลิส ที่มีฉายาว่าไอ้หน้าอ่อน (เบบี้เฟส) เนลสัน,เอ็ดดี้ กรีน, ทอมมี่ คาร์โรล ฯลฯ แก๊งที่มั่นคงนี้ทำการ ปล้นหนักในชิคาโก จนมีการติดประกาศจับและให้ราคาค่าหัว ดิลลินเจอร์และพรรคพวก และนั่นก็นำมาซึ่งจุดจบของวีรบุรุษจอมโจร เมื่อแม่เล้าชาวโรมาเนีย แอนนา เซก ผู้มีชนักติดหลังเรื่องเข้าเมืองผิดกฎหมายตัดสินใจแจ้งเบาะแสแก่ตำรวจ แลกกับการได้อยู่ในชิคาโกต่อ แม่เล้าคนนี้รู้ดีว่าโสเภณีคนหนึ่งใน เครือข่ายของเธอกำลังเป็นหวานใจคนใหม่ของดิลลินเจอร์ เมื่อเธอนำความลับไปแจ้งเอฟบีไอ ก็มีการเตรียมแผนจับกุมทันที โดยเธอได้แจ้งว่า ดิลลินเจอร์นัดควงทั้งตัวแม่เล้าและโสเภณีคู่ขาของเขาไปดูหนังที่โรงภาพ ยนตร์ไบโอกราฟ และสาวนกต่อคนนี้จะแต่งชุดแดงเป็นสัญลักษณ์ให้เอฟบีไอรู้

22 กรกฎาคม 1934 วันมรณะของดิลลินเจอร์มาถึง เอฟบีไอปล่อยให้เขาไปดูหนังหย่อนอารมณ์เสียก่อน พร้อมตั้งทีมล้อมจับทันทีที่หนังจบ ซึ่งดิลลินเจอร์ก็มาตามนัด ขนาบข้างด้วยสองสาวและทันทีที่เห็นการเคลื่อนไหวของตำรวจ จอมโจรก็รู้ด้วยสัญชาตญาณว่ากำลังงานเข้า ว่าแล้วก็รีบควักปืนออกมาเป็นเครื่องมือให้อุ่นใจ ก่อนจะวิ่งหนี แต่ไม่พ้นเอฟบีไอ 3 คนที่วิ่งตาม และส่งกระสุนไป 5 นัด ในจำนวนนี้ 3 นัดทะลุร่างวีรบุรุษแห่งยุคจนล้มคว่ำ สิ้นชื่อไปด้วยวัยเพียง 31 ปี ทิ้งตำนานจอมโจรไว้เบื้องหลัง และดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ทุกวันครบรอบการเสียชีวิตของเขา 22 กรกฎาคม ถือเป็นวันจอห์น ดิลลินเจอร์ ที่บรรดาแฟนคลับจะไปรวมตัวกันเดินระลึกถึงเขาไปบนเส้นทางแห่งการหนีครั้งสุด ท้าย ศพของดิลลินเจอร์ถูกนำกลับไปฝังที่บ้านเกิด และบ่อยครั้งที่มีแฟนคลับไปเยือนที่พักผ่อนตลอดกาลของเขา พร้อมกับแอบขโมยหินเหนือสุสานไปเป็นที่ระลึก ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่กันบ่อยๆ ด้าน พลพรรคจอมโจรนั้น หลังจากหัวหน้าแก๊งลาโลก เจ้าหน้าที่ก็ตามล่าหัวหน้าสมาชิกที่เหลือจนจับได้อีก 27 คน ส่วนคนดังที่สุดคือไอ้หน้าอ่อนเนลสันนั้น โดนยิงตายตามไปด้วย และนั่นก็ถือเป็นจุดจบของยุคที่เรียกว่ายุคแก๊งสเตอร์ครองเมืองของ ดิลลินเจอร์และพรรคพวก ยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เกิดจอมโจรมากมายหลายแก๊ง จนสื่อมวลชนเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคแห่งศัตรูของสาธารณะ หรือยุค Public Enemies ในช่วงปี 1931-1935 และล่าสุดคำว่า Public Enemies นี้ก็ได้กลายมาเป็นชื่อเรื่องของภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่หยิบยกเรื่องราวของดิลลินเจอร์มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งก็จะเข้าฉายในช่วงเวลาแห่งการครบรอบการเสียชีวิตของเขาในเดือนนี้ สำหรับ อเมริกาแล้ว นี่คือบทเรียนครั้งสำคัญในการปราบปรามเหล่าขุนโจรและจัดการกับความวุ่นวาย อันเกิดจากพิษภัยเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งหลังจากการแก้ไขปัญหาในยุคนี้ก็นำไปสู่การพัฒนาเพื่อปรับปรุง ประสิทธิภาพของเอฟบีไอ จนกลายเป็นหน่วยงานเลื่องชื่อลือนามในปัจจุบันนั่นเอง ติดตามความตื่นเต้นระทึกใจของเรื่องราวการไล่ล่าจอมโจรชื่อดังแห่งยุคใน PUBLIC ENEMIES 23 ก.ค.นี้ ในโรงภาพยนตร์

เนื้อหาข่าวจาก ทีมงาน ต่วย'ตูน

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ PUBLIC ENEMIES เรื่องจริงขึ้นจอใหญ่ของ จอห์น ดิลลินเจอร์ อาชญากร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook