แผนที่ใน 'บุพเพสันนิวาส 2' คือแผนที่แรกของสยามถูกเขียนตั้งแต่สมัยอยุธยา
ภาพยนตร์ไทยมาแรงอย่าง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ ได้มีการสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์มากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือ แผนที่ ‘เรกนัม เสียน (Regnum Sian)’ แผนที่แรกแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อสืบประวัติย้อนกลับไปแล้ว สามารถย้อนกลับไปได้ถึงสมัยพระนเรศวรมหาราช แห่งอาณาจักรอยุธยาเลยทีเดียว แผนที่นี้มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร เราจะพาย้อนประวัติศาสตร์แผนที่ผืนนี้กัน
แผนที่นี้ใครเป็นคนเขียน
แผนที่นี้ถูกเขียนลงบนแผ่นพิมพ์ทองแดง ขนาด 15.40 x 22.70 เซนติเมตร โดยผู้ที่ทำแผนที่นี้เป็นชาวฝรั่งเศสชื่อว่า โยฮานเนส เมเทลลุส (Johannes Metellus) และตั้งชื่อแผนที่นี้เป็นภาษาละตินแปลเป็นไทยว่า ‘ราชอาณาจักรสยาม’ ซึ่งแผนที่นี้ได้ตีพิมพ์ลงในสมุดแผนที่ทั้งหมด 6 ครั้ง เป็นฉบับภาษาละติน 3 ครั้ง และฉบับภาษาเยอรมันอีก 3 ครั้ง (สมัยก่อนเขียนแผนที่รวมไว้เป็นเล่ม ๆ ) โดยปีที่พิมพ์ครั้งแรกนั้น คือปี พ.ศ. 2139 หลังสงครามยุทธหัตถีสมัยพระนเรศวรมหาราช เพียง 4 ปี เท่านั้น
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าตัวเมเทลลุสมาเยือนดินแดนนี้เพื่อทำแผนที่หรือไม่ เพราะนักทำแผนที่สมัยก่อนส่วนใหญ่ไม่ได้ลงพื้นที่จริง ๆ แต่นำข้อมูลจากนักเดินเรือ คำบอกเล่าจากพ่อค้า หรือ แผนที่ที่พิมพ์ก่อนหน้า มาเขียนเป็นแผ่นใหม่ ทำให้มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้ เช่น ในแผนที่เรกนัม เสียน นี้ ถ้าสังเกตดี ๆ ทางตอนเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน มีทะเลสาบเชียงใหม่ (Chiamay Lacus) เป็นต้นน้ำสำคัญ ซึ่งมันไม่มีอยู่จริง
ชาวต่างชาติคิดว่าดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้จะต้องมีต้นน้ำที่สำคัญเป็นแน่แท้ เพราะแม่น้ำเยอะเหลือเกิน จะเป็นไรไปไม่ได้ถ้าต้นน้ำไม่ใช่ทะเลสาบ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก กว่าจะแก้ต้องรอไปจนถึงศตวรรษที่ 18 เลยทีเดียว
มีความสำคัญกับเราอย่างไร
แผนที่เรกนัม เสียนเป็นแผนที่แรกที่มีคำว่า สยาม (Siam) หรือ เสียน (Sian) เป็นชื่อแผนที่ แม้คำนี้จะเคยปรากฎในแผนที่โปรตุเกสมาก่อนแล้ว แต่ใช้เพียงอ้างอิงตำแหน่งเมืองกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ไม่ได้ใช้เป็นชื่อแผนที่แต่อย่างใด แถมเป็นแผนที่เดียวที่เขียนในสมัยพระนเรศวรอีก แต่น่าเสียดายที่แผนที่นี้ไม่มีอยู่ในประเทศไทย
ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ได้กล่าวถึงงานประมูลที่จัดโดยบริษัท คริสตี้ส์ ออคชัน ประเทศไทย ว่ามีนักประมูลต่างชาติมากมายมาประมูลภาพเขียนและสิ่งพิมพ์โบราณอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงแผนที่เรกนัม เสียน อันเก่าแก่กว่า 400 ปี ก็อยู่ในงานประมูลนี้เช่นกัน แต่กลับกันคนไทยแท้ ๆ กลับไม่สนใจอะไรพวกนี้ แม้กระทั่งหน่วยงานราชการเองก็ไม่สนใจ
‘ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช’ ผู้นำแผนที่นี้กลับไทย
ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช นักสะสมแผนที่โบราณชาวไทย เขาได้เก็บหนังสือพิมพ์มติชนฉบับนี้ไว้เพื่อเป็นการเตือนใจว่า ‘สักวันหนึ่งเขาจะนำแผนที่นี้กลับมาที่ไทยให้ได้ ไม่ว่าจะราคาเท่าไหร่ก็ตาม’ ต่อมาเขาใช้เวลาถึง 19 ปี เพื่อตามหาแผนที่ดังกล่าวจนสำเร็จ แม้จะไม่ใช่ฉบับที่ถูกประมูลไปในปี พ.ศ. 2543 แต่อย่างน้อยธวัชชัยก็นำแผนที่นี้กลับมาที่ไทยได้สำเร็จ เขาเก็บแผนที่จริงไว้ในห้องสมุดของเขา และเผยแพร่รูปภาพแผนที่นี้ให้กับสาธารณชน เพื่อใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์
ไม่ทราบแน่ชัดว่าธวัชชัยประมูลแผนที่ดังกล่าวด้วยราคาที่เท่าไหร่ แต่ราคาที่ถูกประมูลในงานคริสตี้ส์ กรุงลอนดอน เมื่อกลางปี พ.ศ. 2563 ในรูปแบบสมุดแผนที่ซึ่งมีแผนที่เรกนัม เสียนอยู่ด้วย ถูกประมูลไว้ที่ราคา 363,689 เหรียญ หรือ 12 ล้านบาท
จะเห็นว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยอันทรงคุณค่านี้มีสิ่งที่น่าสนใจ ควรค่าแก่การรักษา พร้อมทั้งทำความเข้าใจไปกับมัน แม้ว่าหลักฐานในอดีตจะมีข้อบกพร่องตกหล่นในบางเรื่องบ้าง แต่เสน่ห์ของประวัติศาสตร์คือมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามหลักฐานใหม่ ๆ วิธีคิดใหม่ ๆ นี่แหล่ะ คือเสน่ห์ของประวัติศาสตร์
ที่มา: SILPA-MAG
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ