เปิดประเด็นอื้อฉาว Blonde หนังชีวิตติดเรทของ มาริลีน มอนโร โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
เปิดเทรลเลอร์ออกมาแล้วกับหนังใหญ่ประจำปีของ Netflix เรื่อง Blonde ที่ว่ากันว่าเป็น “หนังกึ่งอัตชีวประวัติ” ของดาราสาวสุดอาภัพ มาริลีน มอนโร ที่สตรีมเมอร์เจ้าใหญ่หวังให้ไปไกลถึงออสการ์ Blonde จะเข้าประกวดที่เทศกาลหนังเวนิสตอนปลายเดือนสิงหาคม ก่อนจะสตรีมลงช่องทั่วโลกในปลายเดือนกันยายน แต่ก่อนหนังจะฉาย มีประเด็นอื้อฉาวให้คุยกันมากมายเพื่อเรียกน้ำย่อยดังนี้
หนังได้เรท NC-17
Blonde เรียกเสียงฮือฮาล่วงหน้าตั้งแต่หนังประกาศว่าได้เรท NC-17 ว่ากันง่าย ๆ ก็คือเรทสูงที่สุด หรือบางคนอาจจะถือวิสาสะเรียกหยาบ ๆ ว่า “เรทหนังโป๊” ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง เรท NC-17 อาจจะหมายถึงหนังที่มีฉากรุนแรงสุดโต่ง หรือฉากที่รบกวนสภาพจิตใจคนดูแบบไม่ประนีประนอม ไม่ได้หมายความว่าต้อง “โป๊” แบบมีฉากเซ็กส์โจ๋งครึ่มเสมอไป เชื่อกันว่า Blonde ได้เรท NC-17 เพราะมีฉากข่มขืน ผู้กำกับ แอนดริว โดมินิค บอกว่าเขาอยากทำหนังแบบไม่ต้องเกรงใจใคร แต่ข่าวรายงานว่า Netflix หามือตัดต่อเข้ามาช่วยแก้หนังในตอนท้าย ๆ เพื่อลดระดับความรุนแรงของฉากดังกล่าวลง
ชีวิตจริงหรือนิยาย
นี่เป็นประเด็นที่เชื่อว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างหนัก ว่าอะไร “จริง” และอะไรเป็นจินตนาการของหนัง ก่อนอื่น เราต้องทราบก่อนว่า ถึงแม้ Blonde จะไม่อ้อมค้อมในการโฆษณาว่าเป็นหนังประวัติชีวิตของ มาริลีน มอนโร คือแค่เห็นภาพนิ่งใคร ๆ ก็รู้แล้ว แต่แท้จริงแล้วหนังเรื่องนี้สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนอเมริกันชื่อดัง จอยส์ คาโรล โอทส์ โดยนิยายเรื่อง Blonde เป็นการผสมรายละเอียดจากชีวิตจริงของมอนโร (หรือชื่อจริงว่า นอร์มา จีน มอร์เตนสัน) กับเรื่องแต่งและ “ข่าวลือ” แซ่บ ๆ ทั้งหลายที่โยงมอนโรเข้ากับคนดังในยุคของเธอ ทั้งความสัมพันธ์กับผู้บริหารสตูดิโอภาพยนตร์และประธานธิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี้ และใช้ชื่อย่อเพื่ออ้างถึงบุคคลสำคัญจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ฮอลลีวู้ดและประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา เรื่องราวในนิยายที่อื้อฉาวที่สุด คือการเล่าว่าว่ามอนโรถูกข่มขืนโดยประธานบริษัทหนัง และการที่เธอถูกสั่งเก็บอย่างโหดเหี้ยมโดยฝ่ายการเมืองเพื่อปิดปาก ประเด็นเหล่านี้รับรองว่ากลับมาร้อนอีกครั้งแน่นอนเมื่อหนังออกฉาย
อานา เดอ อามาส ในบทมอนโร
ดาราสาวที่กำลังขาขึ้นมาก ๆ อานา เดอ อามาส ดังจาก Knives Out ต่อด้วยบทเด่นใน No Time To Die และ The Gray Man แต่ Blonde จะเป็นบทแรกที่น่าจะส่งเธอถึงออสการ์ได้ ประเด็นสำคัญคือ เดอ อามาส เป็นคนคิวบา เริ่มดังจากวงการบันเทิงในคิวบาก่อนจะข้ามมาเล่นหนังฮอลลีวูด คำถามคือ ทำไมสาวละตินอย่างเธอถึงได้บทสำคัญในหนังชีวประวัติของดาราอเมริกันที่เป็นต้นแบบของความเป็น “เซ็กส์บอมบ์” ผิวขาวผมทองแบบคอเคเชียนและเป็นอเมริกันเกิร์ลทุกโมเลกุลขนาดนี้? ในความจริง มาริลีน มอนโร มีเชื้อสายละติน เพราะแม่ของเธอเป็นคนสัญชาติเม็กซิกันที่ต่อมาอพยพมาอยู่ในอเมริกา แน่นอนว่าหน้าตามอนโรไม่ได้ดูละตินตรงไหนเลย แต่การเลือกเดอ อามาส มาเล่นเป็นมอนโรใน Blonde อาจเป็นการตัดสินใจที่ต้องการชูประเด็นความหลากหลายแบบที่ฮอลลีวูดกำลังอิน หรืออาจจะต้องการโชว์ให้เห็นว่า ในสมัยหนึ่งมอนโรต้องปกปิดเชื้อสายเม็กซิกันของเธอ เพราะสำหรับฮอลลีวูดในยุค 1950 อันมีที่ทางให้เฉพาะคนขาว สิ่งนั้นคือ “ความด่างพร้อย” แบบหนึ่งที่ไม่มีใครยอมรับได้ แต่มาในตอนนี้ ไม่จำเป็นต้องปิดบังอะไรแบบนั้นแล้ว และนักแสดงละตินที่มีความสามารถ อาจจะช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีแห่งเชื้อชาติและความจริงที่ครั้งหนึ่งมอนโรถูกริดรอนไป
เซ็กส์บอมบ์หรือเหยื่อกาม
ภาพลักษ์ของมอนโรคือเซ็กซี่สตาร์ ภาพกระโปรงบานพองลมของเธอ ภาพเธอส่งจูบ ภาพเธอร้องเพลงในงานวันเกิดจอห์น เอฟ เคเนดี้ เหล่านี้ล้วนประกอบสร้างความเชื่อที่มีมาหลายสิบปีว่า มาริลีน มอนโร เป็นต้นแบบของ “dumb blonde” หรือสาวหุ่นสะบึมที่ไม่ค่อยมีสมองและหากินด้วยเรือนร่างเย้ายวน เป็นวัตถุทางเพศที่ยอมเป็นเหยื่อของผู้ชาย แต่ในความเป็นจริง มอนโรไม่ได้มีชีวิตด้านเดียวเช่นนั้น หนังสืออัตชีวประวัติของเธอหลายเล่ม (ที่เป็นประวัติชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่ผสมนิยาย) เล่าถึงการที่มอนโรเป็นคนที่ครุ่นคิดถึงชีวิตอย่างจริงจัง และเป็นนักอ่านวรรณกรรมที่ซีเรียสมาก การที่เธอแต่งงานกับนักเขียนคนดังของอเมริกา อาเธอร์ มิลเลอร์ (ในหนังแสดงโดยเอเดรียน โบรดี้) จึงเป็นมากกว่าเพียงการ “หาแสง” หรือเพื่อสร้างรัศมีความเป็นปัญญาชนแบบฉาบฉวย คาดว่าหนังเรื่อง Blonde น่าจะสำรวจประเด็นนี้อย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน
ในประเทศไทย Blonde จะลงช่อง Netflix เท่านั้น ส่วนในต่างประเทศ น่าจะมีการฉายแบบจำกัดโรง
ตัวอย่าง BLONDE | Official Trailer