Emergency Declaration: ประกาศ ๆ เครื่องบินลำนี้มีไวรัส (แต่ไม่ใช่โควิด) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
หนังวินาศภัยบนเครื่องบิน Emergency Declaration มีสารตั้งต้นที่ขอยืมจาก Train to Busan แต่เปลี่ยนจากเชื้อซอมบี้คลั่งมาเป็นโรคไวรัสประหลาดที่ทำให้คนมีตุ่มพุพองและกระอักเลือด และเปลี่ยนจากรถไฟที่กำลังวิ่งเป็นเครื่องบินพาณิชย์ขณะข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก มัดรวมกับหนังประเภทหายนะในที่แคบอื่น ๆ เช่น Snakes on a Plane (ที่ไม่มีงู) แจมด้วยหนังชีวิตครอบครัวซาบซึ้งสไตล์เกาหลี และเพราะ Emergency Declaration มีดาราเบอร์ต้น ๆ อย่าง ซองกังโฮ จาก Parasite นำแสดง อารมณ์หนังยังไปพ้องกับ The Host หนังหายนะสัตว์ประหลาดเรื่องดังไปอีกต่อ (โดยไม่มีสัตว์ประหลาด)
เกาหลีเก่งนักเรื่องการผสมตระกูลหนัง หยิบยืมไอเดีย สถานการณ์ และภาพจำจากหนังเรื่องอื่น ๆ ทั้งหนังฮอลลีวูดและหนังเกาหลีเอง เอามาเขย่าให้ได้เข้าที่ เติมเครื่องปรุงแบบเกาหลีลงไป ผสมให้เข้มข้นแล้วเทออกมาเป็นเหล้าแก้วใหม่ บางครั้งก็น่าตื่นเต้นด้วยรสชาติใหม่ บางครั้งก็เฝือเพราะผสมมากไป บางครั้งก็ก้ำกึ่งระหว่างความสนุกกับความซ้ำซาก
ในกรณีของ Emergency Declaration ผู้เขียนเห็นว่าออกมาทางอย่างหลัง คือจะบอกว่าหนังดูสนุกตามมาตรฐานเกาหลีก็พอได้ หลาย ๆ คนก็คงจะเห็นเช่นนั้น แต่ขณะเดียวกัน หนังไร้ซึ่งความลึกซึ้ง มีแต่การยัดเยียดสถานการณ์และอุปสรรคที่บิดเบือนจากความเป็นไปได้มากจนเกินจะเชื่อได้สนิทใจ และพยายามเอาส่วนผสมของหนังหลายอย่างมาคลุกเข้าด้วยกันจนกระโดกกระเดก จากร้ายกลายเป็นดีอย่างง่ายดาย พลิกกลับไปร้ายอีกอย่างไม่มีเหตุผล และขยี้ด้วยความซาบซึ้งกินใจอย่างที่ไม่เมคเซนส์เท่าไหร่
Emergency Declaration ฉายเปิดตัวที่เทศกาลเมืองคานส์ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยถูกจัดเข้าสาย Midnight หรือหนังระทึกขวัญรอบดึก ซึ่งก็ดูเข้าทางกันดี เพราะนี่เป็นหนังแบบไฮคอนเซ็ปต์ หรือหนังที่ขายตัวเองได้ตั้งแต่แนวคิดที่กระชากความสนใจ อันว่าด้วยผู้ร้ายที่ลอบเอาเชื้อไวรัสมฤตยู เดินทางขึ้นเครื่องบินที่มุ่งหน้าจากโซลไปฮาวาย บนเครื่องผู้ร้ายหนุ่มหน้ามนจัดการปล่อยผงไวรัสให้ลอยไปติดผู้โดยสาร ก่อให้เกิดความวุ่นวายโกลาหล ในขณะที่ที่ภาคพื้นดิน ตำรวจหนุ่มใหญ่ออกตามหาต้นตอของไวรัสและสืบว่ามียาแก้พิษหรือเปล่า ดราม่าเข้าไปอีกเมื่อเมียของตัวเองดันอยู่บนไฟลต์นรกนั้นด้วย ส่วนรัฐมนตรีหญิงก็พยายามประสานสิบทิศเพื่อให้ประเทศปลายทางยอมให้เครื่องบินลงจอดก่อนผู้โดยสารจะตายหมด
พระเอกจริง ๆ ของท้องเรื่อง คือพ่อที่เดินทางไปกับลูกสาวบนเครื่องบิน (แสดงโดยดาราดังอีกคน อีบยองฮอน จาก Squid Game, A Bittersweet Life และอื่น ๆ) หลังจากไวรัสออกอาละวาดบนเครื่อง ความลับและอดีตขมขื่นของพ่อคนนี้ถูกเปิดเผย และทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ที่เป็นความหวังของผู้โดยสารและลูกเรือทั้งลำ สังเกตได้ว่า เรื่องพ่อ-ลูก ที่ต้องหนีเอาตัวรอด นี่เป็นสูตรหนังเกาหลีที่รีไซเคิลมาตลอด ทั้งใน Train to Busan และ The Host
ความบังเอิญ เป็นเครื่องมือของหนังทุกเรื่อง จะมากจะน้อยหรือจะใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความสนุกสนานอย่างไรก็แตกต่างกัน Emergency Declaration มีโมเมนต์ “บังเอิญ” เยอะไปหน่อยจนเปิดโปงกลไกของพล็อตและทำลายความน่าเชื่อ เช่นกัน ผู้เขียนไม่ค่อยอยากอธิบายหนังเรื่องใด ๆ ว่า “ไม่สมจริง” เพราะหนังสนุก ๆ ส่วนใหญ่ในโลกก็ไม่สมจริงอยู่แล้วโดยเฉพาะหนังประเภทหายนะและความวิบัติทั้งหลาย แต่เมื่อความไม่สมจริงผสมกับความบังเอิญในดีกรีที่มากเกินไปจนบ่อนเซาะความลื่นไหลในการรับรู้ หมายถึงเราต้องคอยหยุดคิดว่า “เอ๊ะ นี่มันเป็นไปได้ขนาดนี้เหรอ” อยู่เรื่อย ๆ และด้วยเสียง “เอ๊ะ” ที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ หนังจึงเกือบจะตัดขาดเส้นบาง ๆ ที่เชื่อมโยงเราเข้ากับตัวละครและความโหดร้ายที่พวกเขากำลังเผชิญ
Emergency Declaration เป็นหนังที่สร้างและถ่ายทำก่อนยุคโควิด จึงน่าสนใจที่ความน่ากลัวหรือสถานการณ์ชวนลุ้นในหนัง กลับสามารถประยุกต์ใช้ได้กับยุคโควิด ทั้งความเสี่ยงของการมีคนหมู่มากอยู่ในที่แคบ (แต่ทำไมไม่มีใครใส่หน้ากาในหนังเลยนะ เกาหลีนี่คนใส่หน้ากากกันมาก่อนโควิดแล้ว) ไวรัสที่กระจายตัวในอากาศ (หรือเปล่า หนังไม่ได้บอกตรงนี้ให้ชัด) ความสุ่มเสี่ยงของการเดินทางโดยเครื่องบิน และธาตุแท้ของมนุษย์ที่เปิดเผยออกมาเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์คับขัน
ดูเอาสนุกได้ครับ แต่ดูเสร็จแล้วลืมเร็วมากเหมือนกัน Emergency Declaration เข้าโรงทั่วประเทศอยู่ตอนนี้
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ