มือถือ เครื่องมือวัดกึ๋นคนเขียนบท
ทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือ กลายเป็นอวัยวะเสริมที่ ทุกคนต้องพกติดตัวไปด้วยทุกวัน ยิ่งกว่านาฬิกาข้อมือไปแล้ว (เอ้า ใครเป็นพวกนัดกับเพื่อนแล้วชอบบอกว่า ถึงแล้วจะโทรหาบ้าง ยกมือขึ้น) และนั่นก็ส่งผลให้บรรดาคนเขียนบทหนังบทละครต้องมานั่งกุมขมับ ปรับวิธีคิดเรื่องให้สอดคล้องกับเจ้าอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ชิ้นนี้ด้วย
เมื่อก่อนมันเป็นเรื่องปกติที่คุณจะเซ็ตเรื่องให้ตัวละครมาเจอหน้ากัน จอช ชวาร์ตซ โปรดิวเซอร์ซีรีส์เรื่องดังอย่าง Gossip Girl และ Chuck กล่าว แต่ตอนนี้ทำไมพวกเขาต้องเดินไปเคาะประตูบ้านอีกคนหนึ่งด้วยละ โทรหากันง่ายกว่าตั้งเยอะ
ในเมื่อมือถือมีส่วนช่วยในการเล่าเรื่องให้กระชับขึ้นแบบนี้ คนดูเลยไม่ต้องเห็น แจ็ค บาวเออร์ พระเอกจาก 24 ต้องคอยวิ่งหาตู้โทรศัพท์ทุกๆ 15 นาทีเวลามีเรื่องคับขัน แต่ในบางครั้งมันก็เป็นอุปสรรคชิ้นโตของคนเขียนบทด้วยเหมือนกัน
มันทำให้ปมขัดแย้งบางอย่างหายไป เช่นความไม่สะดวกทางการสื่อสาร เราสามารถโทรขอความช่วยเหลือจากใครทีไหนก็ได้แล้ว โรเบิร์ต แมคกี หนึ่งในกูรูด้านบทหนังกล่าวว่าปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำในหนังตื่นเต้นระทึกขวัญ ที่ตัวละครต้องตกอยู่ในสถาน์ฉุกเฉินในสภาพจนตรอกโดยคนเขียนบทต้องเค้นสมองค้ได้ว่าเหตุผลกลใดพวกเขาจึงไม่โทรศัพท์ (ฟะ) ทางเลือกง่ายๆ ที่มักเห็นได้บ่อยๆ ก็คือการกำจัดมือถือไปซะ อย่างให้หายไป (เช่นใน Sex and the City) ไม่มีสัญญาณ (Damages) หรือแบตเตอรี่หมด (Collateral) ซึ่งการสร้างเงื่อนไขแบบนั้นก็เหมือนกับการให้รถสตาร์ทไม่ติดเวลามีตัวร้ายไล่ตามพระเอกในเวอร์ชั่นศตวรรษที่ 21 นั่นเอง
มือถือไม่ได้มีผลเฉพาะกับหนังแอ็คชั่นหรือระทึกขวัญเท่านั้น แต่รวมถึงหนังแนวอื่นๆ ด้วย มีคนเคยคิดว่ามันจะนำไปสู่จุดจบของซิทคอม คาร์เตอร์ เบยส์ ผู้สร้าง How I Met Your Mother กล่าว เพราะมือถือทำให้เหตุผลในการ แวะมา ของตัวละครที่ส่วนใหญ่มักนำไปสู่เรื่องตลกๆ ในพื้นที่จำกัดอย่างอพาร์ทเมนต์หรือที่ทำงานตามแบบซิทคอมหายไปถึงโทรศัพท์มือถือจะเป็นอุปสรรคในการเล่าเรื่องแต่นักเขียนบทที่มีกึ๋นพอก็รู้จักใช้มือถือในการสร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับหนังได้ เช่น แทนที่จะเล่นกับสถานการณ์เดิมๆ ด้วยการให้ชู้รักโทรศัพท์เข้ามาที่บ้าน ใน Notes on a Scandal ก็ให้ตัวละครได้ข้อความจากชู้รักทั้งที่อยู่ท่ามกลางครอบครัวแทน หรือใน The Departed ก็ให้ ลีโอนาโด ดิคาปริโอ และ แมทท์ เดม่อน แอบส่งข้อมูลให้หัวหน้าของแต่ละคนผ่านทางมือถือ
ส่วนใน Cellular หนังปี 2004 ร่วมทั้งล่าสุด Eagle Eye ก็ใช้การสื่อสารผ่านมือถือมาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินเรื่องกันเลยทีเดียวส่วนในหนังตลกก็มีการเอามือถือมาใช้ประโยชน์ด้วยเหมือนกัน อย่างในซีรีส์ Entourage ที่ให้ตัวละครในเรื่องเป็นคนในวงการฮอลลีวูดเดินคุยมือถือแทบทั้ง เรื่องจนเหมือนเป็นคู่หูกัน แถมเครื่องมือที่ทำให้คนติดต่อกันง่ายๆ นี้ ยังทำให้เกิดความนิยมในการใส่ฉากโยนมือถือทิ้ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจประกาศความเป็นอิสระของตัวละครด้วย อย่างสาวน้อยแอนดี้ในThe Devil Wears Prada (โยนลงน้ำพุ) Sex and the City (โยนลงทะเล) หรือใน Gossip Girl (ลงถังขยะ) แต่ถึงจะเป็นเครื่องมือที่ท้าทายคนเขียนบทในการสร้างเรื่องให้สมเหตุสมผล แต่วันหนึ่งโทรศัพท์มือถือก็คงกลายเป็นความเคยชินของคนเขียนบท เหมือนอย่างที่เทคโนโลยีอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของพวกเรา และกลาย
เป็นส่วนหนึ่งในหนังไปได้อย่างกลมกลืนด้วยเหมือนกัน
สนับสนุนเนื้อหาโดย