คืนหมีฆ่า ไล่ล่าแบบบ้าบอคอแตก

คืนหมีฆ่า ไล่ล่าแบบบ้าบอคอแตก

คืนหมีฆ่า ไล่ล่าแบบบ้าบอคอแตก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ค่ายเนรมิตฟิล์ม ยังคงไม่แผ่วที่จะนำเสนอหนังในสไตล์ที่ไม่ซ้ำซากจำเจออกมา แม้ว่าปีนี้หนังนำร่องอย่าง “ไลโอ โคตรแย้ยักษ์” จะไม่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ แต่ คืนหมีฆ่า ก็ยังเป็นหนังแนว “ไล่เชือด” ที่มาพร้อมความน่าสนใจที่จะเรียกผู้ชมผู้รักความเลือดสาดกลับเข้าโรงหนังอีกครั้ง

 หนังสยองขวัญสัญชาติไทยในยุคหลัง คงต้องบอกว่าแนวทางที่ฮิตที่สุดคงหนีไม่พ้น “หนังผี” ที่ไม่ว่าจะเป็นผีตลก หรือ น่ากลัวก็มีการสร้างออกมาอยู่เป็นประจำไม่ขาดสาย แต่หนังแนวฆาตกรโรคจิต หรือหนังแนวไล่เชือด เลือดสาด ปาดคอ ตัวละครวิ่งหนีตัวร้ายอย่างเอาเป็นเอาตาย คงต้องบอกว่า ประเทศไทยเราห่างหายจากหนังสไตล์นี้มานานนม ถ้าให้นึกย้อนกลับไปใกล้หน่อยก็คงเป็น “รับน้องสยองขวัญ” พ.ศ.2548 หรือไกลออกไปอีกคือ 303 กลัว/กล้า/อาฆาต พ.ศ.2541 ที่ยังมีหยิบเรื่องของผีสิงมาสวมทับฆาตกรโรคจิตอีกทอดหนึ่ง

ย้อนกลับมาที่ “คืนหมีฆ่า” ที่วางโทนหนังของตัวเองให้เป็นสไตล์หนังแนวไล่เชือดผสมความตลกโปกฮา และพยายามจะบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางมาเที่ยวพักร้อนที่รีสอร์ทกลางป่าลึก โดยพวกเขาไม่รู้เลยว่า ณ สถานที่แห่งนี้มีฆาตกรโรคจิตสวมชุดหมีเตรียมล่าเหยื่ออย่างสนุกมือ

สูตรสำเร็จภาคบังคับที่หนังแนวไล่เชือดพึงมี คือหนังจะต้องเล่าเรื่องราวของกลุ่มตัวละครกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กันในเชิง “เพื่อน” (Scream, I Know What did you last Summer) หรือ “ครอบครัว” (Halloween) ที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์จวนตัว เมื่อมีบุคคลปริศนาปรากฏตัวขึ้นและออกล่าพวกเขาอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ในกรณีเช่นนี้อาจจะถูกพลิกแพลงในเวลาต่อมา ว่าจริงๆแล้วเหตุการณ์ประหลาดอาจจะเกิดขึ้นจากอำนาจลึกลับอันเป็นตำนานสยอง (The Fear Street Trilogy) หรืออาจจะมีองค์กรลับที่นิยมนำมนุษย์มาทดลองเพื่อจุดหมายบางอย่าง (The Cabin in the Woods และ The Belko Experiment) ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ คือความพยายามในการดัดแปลง สูตรหนังไล่เชือดให้มีอะไรแปลกใหม่ขึ้นมา กระทั่งหนังอย่าง Final Destination เราก็อาจจะนับรวมในหนังหมวดหมู่นี้ได้เช่นเดียวกัน เมื่อฆาตกรที่ออกไล่ล่าตัวเอกในเรื่อง อาจจะเป็นแค่ “ความตาย” ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

 

มีการเปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์ เพื่ออรรถรสในการรับชมกรุณาปิดบทความไปก่อนได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้

 

 

ต้องยอมรับว่าตัวผู้กำกับอย่างแชมป์-กานต์พงศ์ บรรจงพินิจ น่าจะเป็นคนที่ชื่นชอบหนังแนวไล่เชือดอยู่ไม่น้อย เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ในคืนหมีฆ่า รายล้อมไปด้วยสไตล์หนังสยองขวัญในทิศทางนี้เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นฉากเปิดเรื่องที่ตัวละครของ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ผู้รับบทเป็นเจ้าของร้านกาแฟในรีสอร์ทแห่งนี้ ได้รับโทรศัพท์ลึกลับจากชายคนหนึ่ง ก็เห็นได้ชัดว่าฉากนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก Scream ภาคแรกที่นางเอกอย่างดรูว์ แบร์รีมอร์ ได้รับสายจากโกสต์เฟซ ก่อนที่เธอจะถูกฆ่าตายในอีกไม่กี่นาทีต่อจากนั้น ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์ช็อควงการภาพยนตร์ว่า ดาราชื่อดังในยุคนั้นมารับบทที่ถูกฆ่าตายตั้งแต่ไม่กี่นาทีแรกของเรื่อง! คืนหมีฆ่า ก็เลือกที่จะคารวะผลงานของเวส คราเว่นแบบนั้นเช่นกันเดียวกัน และใส่รสชาติใหม่ๆเข้าไปในเรื่องอีกเล็กน้อย ที่เราเห็นได้ว่าน่าสนใจ แต่ยังไปไม่ถึงคำว่าลงตัว

เมื่อจู่ๆเหยื่อที่เราคาดว่าอาจจะกลายเป็นตัวละครตัวแรกที่ตายคาจอ กลับพลิกสถานการณ์ลุกขึ้นมากลายเป็นผู้ล่าอีกต่อหนึ่ง แต่ความคาดหมายของผู้ชมก็กลับตาลปัตถรอีกหน เมื่อจริงๆแล้วมีฆาตกรสวมชุดหมีคอยเฝ้าสังเกตการณ์ทั้งหมดและเตรียมลงมือฆ่าตัวละครของแพนเค้กในอีกตลบ

เส้นเรื่องหลักของหนังพูดถึงความสัมพันธ์ของ เพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ประกอบไปด้วย เอม (ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล) วิน (เฟียต-ภัชทา จันทร์เงิน) โทนี่ (กันสมาย-ชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์) แนน (แคร์-ปาณิสรา ริกุลสุรกาน) และช้าง (ปังปอนด์-อัครวุฒิ มังคลสุต) ที่ตกลงมาร่วมทริปสุดสัปดาห์ ณ รีสอร์ทแห่งนี้ แต่พวกเขากลับต้องเผชิญหน้ากับฆาตกรชุดหมี มิหนำซ้ำอดีตอันมืดมนที่เพื่อนสนิทในกลุ่มอย่าง “เก่ง” เคยจมน้ำตายในทริปครั้งก่อนได้ตามมาหลอกหลอนพวกเขาอีกครั้ง

ระหว่างทางของคืนหมีฆ่า หนังพยายามพาผู้ชมไปดูพฤติกรรมของตัวละครทีละตัว ในยามที่พวกเขาอยู่ “คนเดียว” ว่า จริงๆแล้วพวกเขามีอุปนิสัยอย่างไร เพื่อทำให้ผู้ชมตั้งข้อสังเกตว่าตกลงใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรซึ่งแอบแฝงตัวอยู่ในกลุ่มเพื่อนกลุ่มนี้ แม้จะดูเป็นความจงใจ และในหลายๆครั้งดูสุดโต่งจนไร้เหตุผล แต่เหมือนกับว่ายิ่งหนังดำเนินไปข้างหน้ามากแค่ไหน การโยนตรรกะทุกสิ่งทุกอย่างทิ้ง คือเรื่องจำเป็นที่สุดที่เราจะบันเทิงไปกับหนังเรื่องนี้ เมื่อ “ท่าที” ของหนังก็ดูไม่แคร์เหตุผลอะไรทั้งนั้น

น่าเสียดายที่หนังเลือกจะเล่นในโทน “ลูกบ้า” ทำเอามันส์ ทำเอาสะใจ แต่กลายเป็นว่า เมื่อหนังมุ่งหน้าสู่ความป่าช้าแตกในตอนท้ายเรื่อง หนังก็ไม่อาจจะทำให้คนดูฟินสุดท้าย ทำได้แค่เพียงยิ้มแหยๆ แล้วคิดตามว่า แหม เล่นกันแบบนี้เลยเหรอ

โชคยังดีที่เราอาจจะต้องบอกว่านักแสดงที่เอาคนดูอยู่และน่าจดจำที่สุดคงหนีไม่พ้นโทนี่ (กันสมาย-ชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์) ที่กลายเป็น MVP ของเรื่องและเหลือค้างไว้ในความทรงจำของผู้ชม หลังจากที่เหตุการณ์ทุกอย่างเสร็จสิ้นลงไป แต่นอกเหนือจากนั้น ก็คงต้องบอกว่าหนังแค่ทำได้พอดูได้ เฉียดๆชวนเดินออกจากโรงแบบคาบเส้นคาบดอกอยู่เหมือนกัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook