ด้วยความระลึกถึง "หม่อมน้อย" โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ขอร่วมไว้อาลัยกับการจากไปของผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับละครคนสำคัญของไทย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่เสียชีวิตลงเมื่อคืนวันที่ 15 กันยายน 2565 เป็นอีกหนึ่งความสูญเสียของวงการภาพยนตร์ไทย
ผู้เขียนเคยมีโอกาสสนทนาและร่วมงานกับ ม.ล. พันธุ์เทวนพ หรือ “หม่อมน้อย” อยู่หลายครั้ง ถึงจะไม่ได้ใกล้ชิด แต่ก็รู้จักและเคยเห็นความคิดและการทำงานอยู่บ้าง เคยได้เห็นความจริงจังในการลงมือทำ และความสนใจในการ “ตีความ” บทประพันธ์ต่าง ๆ ทั้งไทยและเทศ ให้กลายมาเป็นงานที่มีมุมมองของตัวเอง และพร้อมจะถกเถียงเชิงความคิดกับผู้ชมงานและผู้วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์
ที่น่าเศร้าใจคือ หม่อมน้อย เสียชีวิตในวันที่ภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดของท่าน มายาพิศวง หรือ Six Characters ออกฉายในโรงเป็นวันแรกพอดี (หนังเรื่องนี้ผู้เขียนรับหน้าที่ทำซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษให้)
ผู้ชมในยุค 10 กว่าปีหลัง อาจจะคุ้นเคยกับหม่อมน้อยในยุค reboot หมายถึงการที่ท่ากลับมาทำหนังยาวหลังจากว่างเว้นไปหลายปี ภาพยนตร์ในยุคหลังมีตั้งแต่ ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) อุโมงค์ผาเมือง (2554) จันดารา ปฐมบท (2555) จันดารา ปัจฉิมบท (2556) แผลเก่า (2557) แม่เบี้ย (2558) และเรื่องสุดท้าย มายาพิศวง (2565) จะเห็นได้ว่าช่วงสิบปีหลัง ท่าทำหนังแทบทุกปีไม่ว่างเว้น และเป็นการทำงานกับดาราที่ปั้นมาในยุคก่อนหน้า ทั้ง อนันดา เอเวอริ่งแฮม มาริโอ เมาเร่อ ชัยพล พูพาร์ต และคนอื่น ๆ อีกมาก
แต่สำหรับผู้ชมที่อายุมากขึ้นอีกนิด จะจำหนังของหม่อมน้อยในยุคแรกได้ เช่น เพลิงพิศวาส (2527) ช่างมัน ฉันไม่แคร์ (2529) ฉันผู้ชายนะยะ (2530) นางนวล (2530) มหัศจรรย์แห่งรัก (2538) อันดากับฟ้าใส (2540) หลังจากเรื่องสุดท้าย หม่อมน้อยพักการทำหนังไปกว่า 10 ปี จึงกลับมาทำหนังอีกครั้งดังที่ว่าไปข้างต้น
หม่อมน้อยเป็นคนทำหนังที่ได้อิทธิพลจากวรรณกรรมคลาสสิคตะวันตกอย่างมาก งานของท่านเป็นการพยายามนำเรื่องราวและปรัชญาชีวิตของนักเขียนตะวันตกมาปรับให้เข้ากับบริบทไทยและพุทธศาสนา บางครั้งก็ประสบผลสำเร็จ บางครั้งก็ไม่ บางครั้งแหลมคม บางครั้งรุ่มร่าม บางครั้งมีความพยายามใส่แง่มุมทางการเมืองการปกครอง ที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่โดยรวมแล้วแนวทางและวิธีคิดของคนทำหนังผู้นี้ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างที่ใครเห็นก็ต้องจำได้
ตัวอย่างเช่นหนังเรื่อง นางนวล (นำแสดงโดย ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์, ลิขิต เอกมงคล และ ใหม่ เจริญปุระ) คือการปรับบทละครของอันทอน เชคอฟ เรื่อง Seagull มาเป็นหนังไทย ส่วนหนังเรื่องล่าสุด มายาพิศวง คือการนำบทละครอิตาเลียน Six Characters In Search of an Author มาทำเป็นหนังซ้อนละคร ว่าด้วยการออกมาโลดแล่นมีชีวิตของตัวละครที่เคยเป็นเพียงตัวหนังสือบนหน้ากระดาษ เพื่อตามหาผู้ประพันธ์ หรือผู้ให้ชีวิตพวกตน เพื่อสะสางความข้องใจต่าง ๆ ทั้งในเชิง “ความเป็นมนุษย์” และปรัชญาของงานประพันธ์ อันดากับฟ้าใส มีส่วนผสมของ Romeo and Juliet ส่วนหนังอย่าง อุโมงค์ผาเมือง ก็เป็นการนำหนังคลาสสิก Rashomon และ The Outrage มาสร้างใหม่เป็นแบบไทย
ความหลงใหลในบทละคร โดยเฉพาะการสร้างตัวละคร รวมทั้งการนำทัศนคติใหม่ ๆ เข้ามาสู่จอหนังไทย ทั้งการเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศในแบบจริงจัง ใน ฉันผู้ชายนะยะ หรือการพูดถึงบรรยากาศทางสังคมและการเมืองของไทยหนังยุค 6 ตุลา อย่างใน ช่างมัน ฉันไม่แคร์ ทำให้หม่อมน้อยเป็นศิลปินที่ช่วยสร้างสีสันและความน่าตื่นเต้น รวมทั้งยกระดับคุณภาพให้วงการหนังไทยในช่วงเวลาหนึ่ง
หม่อมน้อยยังเป็นครูสอนการแสดงที่ปั้นดาราให้โด่งดังมามากมาย เช่น อนันดา เอเวอริ่งแฮม, พลอย เฌอมาลย์, มาริโอ เมาเร่อ, ใหม่ เจริญปุระ, พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง รวมทั้งช่วงหลัง ๆ อย่าง นิว ชัยพล หรือแพนเค้ก เขมนิจ
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยสนทนากับหม่อม ถามถึงความหมายของคำว่า “การแสดง” หม่อมน้อยย้อนถามว่า คำว่า “แสดง” ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร ผู้เขียนตอบว่า “act” หม่อมน้อยจึงบอกว่า act ในภาษาอังกฤษ จริง ๆ แล้วแปลว่าอะไร “แสดง” หรือ “ทำ” เพราะในภาษาอังกฤษคำว่า act แปลได้ทั้งสองอย่าง บทสรุปของหม่อมคือ การแสดงคือการกระทำ การปฏิบัติ เพื่อให้เส้นระหว่างคำว่าการ “แสดง” (คือแกล้งทำ) กับการ “ทำจริง ๆ” เลือนลางจนแยกไม่ออก นั่นคือหลักที่หม่อมน้อยใช้สอนนักแสดงมาตลอด
ท้ายที่สุดนี้ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว และขอร่วมไว้อาลัยให้กับ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล คนทำหนังไทยคนสำคัญ เป็นอีกหนึ่งดวงวิญญาณที่จากพวกเราไปในปีนี้