“โจทย์หลักคือความหลากหลาย” มองจุดยืนของ Netflix ไทยในมือ “ยงยุทธ ทองกองทุน”

“โจทย์หลักคือความหลากหลาย” มองจุดยืนของ Netflix ไทยในมือ “ยงยุทธ ทองกองทุน”

“โจทย์หลักคือความหลากหลาย” มองจุดยืนของ Netflix ไทยในมือ “ยงยุทธ ทองกองทุน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • Netflix ริเริ่มผลิตออริจินัลคอนเทนต์ไทย ภายใต้โจทย์หลักคือ “ความหลากหลาย” ทั้งในแง่รสนิยมการเสพคอนเทนต์ของคนไทย และการสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมคอนเทนต์และสังคม
  • คอนเทนต์ที่หลากหลายของ Netflix สะท้อนผ่านแคมเปญ “Netflix ทีไทยทีมันส์” ซึ่งประกอบด้วยคอนเทนต์ไทยจำนวน 6 เรื่อง จากฝีมือผู้กำกับชั้นนำและนักแสดงมากความสามารถ
  • เป้าหมายของ Netflix คือการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ตอบโจทย์คนไทย และพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้มีมาตรฐานมากขึ้น

สำหรับยุคนี้ ความบันเทิงที่ยึดครองพื้นที่ไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นแพลตฟอร์มสตรีมมิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และซีรีส์ ที่ติดไม้ติดมือและติดตามผู้คนไปทุกที่บนสมาร์ตโฟน และหนึ่งในแพลตฟอร์มสตรีมมิงภาพยนตร์ยอดนิยมก็ได้แก่ Netflix ที่ปัจจุบันได้ลงหลักปักฐานสำนักงานในกรุงเทพมหานคร เพื่อผลิตและคัดสรรผลงานภาพยนตร์และซีรีส์มาตอบสนองความต้องการของคนไทยโดยเฉพาะ โดยมี “ยงยุทธ ทองกองทุน” เป็นหัวเรือใหญ่ ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำประเทศไทย ทำหน้าที่คัดเลือกคอนเทนต์เพื่อเผยแพร่บน Netflix และดูแลการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ไทยของ Netflix

จากประสบการณ์ในวงการภาพยนตร์ไทยมานานกว่า 20 ปี ทั้งในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากมาย รวมทั้งเป็นโปรดิวเซอร์ และผู้เขียนบทภาพยนตร์ ยงยุทธพกพาความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย และก้าวเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ที่มีชื่อว่า “ความหลากหลาย”

ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ไทยของ Netflix ประจำประเทศไทยยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ไทยของ Netflix ประจำประเทศไทย

โจทย์หลักคือความหลากหลาย

จากการสังเกตความนิยมของสมาชิกชาวไทย ยงยุทธค้นพบว่าคอนเทนต์ไทยที่สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นสู่อันดับ Top 10 ของแพลตฟอร์มนั้นมีหลากหลายแนว ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แนวใดแนวหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมในการเสพคอนเทนต์ที่หลากหลายของคนไทย ดังนั้น โจทย์ของเขาและทีมงาน Netflix คือความแตกต่างหลากหลาย แต่ต้องเป็นความหลากหลายที่อยู่บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ และพวกเขาก็ต้องคอยปรับสมดุลของความหลากหลาย ไม่ให้เทน้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป

ยงยุทธแบ่งคอนเทนต์ของ Netflix ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ “คอนเทนต์ที่คนไทยชอบดู” และ “คอนเทนต์ที่คนไทยน่าจะได้ดู” เพราะฉะนั้น คอนเทนต์ไทยในสายตาของยงยุทธจึงไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ผู้ชมเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์ในเชิงความคิดสร้างสรรค์และการผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ด้วย

ผมใช้คำย่อว่า 3 ส. ครับ หนึ่งมันต้องสนุก มันจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้มันไปสุดทางของมัน สอง สร้างสรรค์ มันคือถ้ามีนวัตกรรมในการเล่าเรื่องใหม่ๆ มีเทคนิคในการเล่าเรื่อง ทางภาพ หรืออะไรก็ตามในเชิงเทคนิค อันนี้ก็น่าสนใจ ข้อที่สามคือ ส่งเสริม ผมใช้คำว่าการผลักดันขอบเขต มุมมองใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ๆ หรือการตั้งคำถามใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ได้มีโอกาสทำในสื่อดั้งเดิมอื่นๆ ผมว่าตรงนี้พื้นที่มันมี แล้วถ้ามีความคิดสร้างสรรค์พอ มันทำให้สนุกได้ด้วยจะยิ่งดีมาก ถ้ามีทั้ง 3 อันนี้รวมกัน ผมว่าต้องเป็นคอนเทนต์ที่เราจะรีบทำมันทันทีครับ” ยงยุทธอธิบาย

นอกจากความหลากหลายในแง่เนื้อหาแล้ว Netflix ประเทศไทย ยังมุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของคนไทยด้วย โดยการจับมือกับพันธมิตรหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอภาพยนตร์ หรือค่ายละครโทรทัศน์ และนำคอนเทนต์จากพันธมิตรเหล่านี้มาเผยแพร่ในแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ชมที่ไม่สามารถชมภาพยนตร์ในโรง หรือไม่สามารถชมละครทางโทรทัศน์ในช่วงเวลาปกติ

“เป้าหมายของเราคือ เราต้องทำให้คนไทยชอบคอนเทนต์ไทยนี้ให้ได้ก่อน นาทีนี้ คอนเทนต์ไทยเพื่อคนไทยครับ แล้วเราจะทำมันให้ดีและฮิตในบ้านเรา แล้วพร้อมที่จะอวดออกไปนอกบ้าน” ยงยุทธกล่าว

“Netflix ทีไทย ทีมันส์”

เส้นทางของออริจินัลคอนเทนต์ไทยบน Netflix ถือว่าเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหลังจากที่ Netflix เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี 2016 ขณะนั้นยังไม่ได้มีทีมผลิตออริจินัลคอนเทนต์ไทยอย่างเต็มตัว และอาศัยทีมงานจากสหรัฐอเมริกามาช่วย รวมทั้งนำภาพยนตร์ที่เคยฉายในโรงมาเผยแพร่ในแพลตฟอร์ม จนกระทั่งในปี 2019 ซีรีส์ “เคว้ง” (The Stranded) ได้ทำให้ภาพของออริจินัลคอนเทนต์ไทยชัดเจนยิ่งขึ้น ก่อนที่จะซบเซาลงจากสถานการณ์โควิด-19 ทว่าหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาด Netflix ก็เริ่มมีทีมงานไทยเข้ามาดูแลการผลิตและคัดสรรคอนเทนต์ไทยอย่างจริงจังมากขึ้น กลายเป็นที่มาของคำว่า “ทีไทยทีมันส์” ที่ล่าสุดได้ประกาศไลน์อัปคอนเทนต์ไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา

แคมเปญ “Netflix ทีไทย ทีมันส์” ประกอบด้วยคอนเทนต์ไทยจำนวน 6 เรื่อง จากฝีมือผู้กำกับชั้นนำ ซึ่งฉายภาพของคอนเทนต์ที่หลากหลายของ Netflix ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีจุดเด่นอยู่ที่นักแสดงชื่อดัง ทั้งรุ่นใหญ่ที่มีคุณภาพคับแก้ว และนักแสดงรุ่นเล็กที่น่าจับตามองหลายคน ซึ่งยงยุทธเล่าว่า การคัดเลือกนักแสดงจะอยู่ที่ความเหมาะสมของบทเป็นหลัก

“การเลือกนักแสดงมาจากผู้สร้างนะครับ สิ่งที่เราช่วยกันดูก็คือ เขาเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับบทบาทนั้นไหม เพราะเราก็เชื่อว่า การใช้คนที่มีประสบการณ์เยอะๆ หรือมีชื่อเสียง มันก็ดีในลักษณะที่เขาทำงานได้เร็ว เขามีประสบการณ์เยอะ เขามีเทคนิคเยอะ แต่ในบางบทบาท ความน่าเชื่ออาจจะเกิดจากนักแสดงที่ไม่ได้มีภาพจำ มันก็จะได้สิ่งที่ทำให้คนดูเชื่อมากกว่า มันก็แตกต่างกันไปตามเนื้อหาที่ต้องการ ซึ่งในนี้ก็มีความหลากหลายเลย” ยงยุทธกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอย่างหนึ่งของคนทำหนังไทย คือการที่ผู้ชมมีภาพจำว่า “หนังไทยยังไม่มีคุณภาพมากพอ” จากที่เห็นในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งยงยุทธอธิบายว่า ความท้าทายนี้เกิดขึ้นกับคนทำหนังในทุกประเทศ บวกกับความเป็นอัตวิสัยของงานศิลปะ แต่ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ก็ย่อมต้องรับผิดชอบในการเป็นนักเล่าเรื่อง รวมทั้งทำความเข้าใจความคาดหวังของผู้ชม

“ทีมงานของฝั่งคอนเทนต์ก็ถือว่าเป็นคนที่ค่อนข้างมีประสบการณ์ในการเป็นคนทำหนังมาก่อน แล้วอยู่กับการเล่าเรื่องตรงนี้มานานพอสมควร เพราะฉะนั้น ก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ในระดับหนึ่งว่า หนังเรื่องนี้มีจุดเด่นอะไร และรวมถึงพันธมิตรที่เราร่วมงานด้วย เราก็จะคุยกันอย่างค่อนข้างเคลียร์ตั้งแต่ต้น วิธีการทำงานกับเราคือ เราใช้คำว่า partner manage ผมคุยว่าคุณอยากทำอะไร สิ่งที่คุณมี passion อยู่ คุณมีความพร้อม คุณอยากเล่าอะไร แล้วก็คุณเห็นภาพพวกนี้แค่ไหน มันแปลว่าคนทำเขาทำด้วยการที่เขาใส่ชีวิตจิตใจของเขาลงไปในโปรเจ็กต์ มันมีความอิน เพราะฉะนั้น เขาก็จะดูแลโปรเจ็กต์ลูกของเขาอย่างดีแน่นอน” ยงยุทธกล่าว

ยืนหนึ่งเรื่องความเป็นมิตรกับคอนเทนต์ไทย

แม้ที่ผ่านมาจะมีเสียงปรามาสว่าคอนเทนต์ไทยนั้นซ้ำซากและวนอยู่กับที่ แต่ยงยุทธมองว่า ไม่จริง เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คอนเทนต์ไทยมีความหลากหลายไม่น้อยเลยทีเดียว และ Netflix ก็ส่งสัญญาณถึงทิศทางนี้ผ่านแคมเปญอย่าง “Netflixรามา” ที่คืนชีพภาพยนตร์ไทยคลาสสิกให้ผู้ชมได้ชมกันในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา จนกระทั่งแคมเปญ “Netflix ทีไทยทีมันส์” ในวันนี้

“ผมอยากให้คนดูรู้สึกว่าถ้าอยากดูคอนเทนต์ไทย Netflix เป็นที่ที่เขาสามารถแวะเข้ามาได้เลย” ยงยุทธกล่าวถึงจุดยืนของ Netflix

นอกจากการเป็นคลังคอนเทนต์ไทยเพื่อคนไทยแล้ว Netflix ยังมีจุดยืนในการยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ทั้งในเชิงเนื้อหาที่เปิดกว้างมากขึ้นกว่าในตลาดดั้งเดิม มาตรฐานการผลิตคอนเทนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและวิถีชีวิตคน รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ซึ่งเป็นประเด็นที่คนทำงานผลิตคอนเทนต์สนใจอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

“ทุกครั้งที่เป็นออริจินัลคอนเทนต์ เราก็จะคุยกับพาร์ทเนอร์ว่า เราสนับสนุนและพยายามกระตุ้นให้ทุกคนทำงานในคิวละ 12 ชม. เท่านั้น บวกกับว่าสัปดาห์หนึ่งขอทำงานแค่ 5 วัน 2 วันเป็นวันหยุดแบบหยุดจริงๆ ด้วยนะ ไม่ใช่เป็นวันออกไปบล็อกช็อต ไม่ใช่เป็นวันเดินทางออกไปหาโลเคชั่น แล้วก็เรื่องระหว่างคิวต่อคิวที่ถ่าย ต้องมีช่วงเวลาพักไม่ต่ำกว่า 10 ชม. อันนี้น่าจะเป็นส่วนที่ว่าช่วยผลักดันหรือช่วยยกระดับ ทั้งหน้าจอและหลังจอมันไปด้วยกันหมดครับ” ยงยุทธกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook