The Little Mermaid เวอร์ชั่นนิทาน นางเงือกโดนตัดลิ้น เท้าเจ็บเหมือนเดินบนมีด ถูกเจ้าชายหลอกให้รัก
ใครจะคิดว่า The Little Mermaid เวอร์ชั่น Disney ที่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งฟีลกู๊ดสุดๆ เวอร์ชั่นนิทานจะโหดและเศร้าจนเรียกว่าเป็นนิทานสำหรับเด็กที่ฟังก่อนนอนแล้วอาจจะฝันร้ายแทน
- เรื่องย่อ The Little Mermaid เงือกน้อยผจญภัย ภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชั่น 2023
- รีวิว The Little Mermaid มองข้ามเรื่องไม่ตรงปก ก็จะพบกับความสนุกได้ไม่ยาก
The Little Mermaid เวอร์ชั่นนิทานโบราณถูกตีพิมพ์ในปี 1837 เป็นผลงานของนักเขียน ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) เจ้าของผลงานชื่อดังอีกหลายเรื่อง ทั้ง ลูกเป็ดขี้เหร่ (The Ugly Duckling), ธัมเบลิน่า หรือเจ้าหญิงหัวแม่มือ (Thumbelina), ราชินีหิมะ (The Snow Queen), ไนติงเกล (The Nightingale), สาวน้อยขายไม้ขีดไฟ (The Little Match Girl), สาวน้อยรองเท้าแดง (The Red Shoes) เป็นต้น
แฟนๆ ชาว Sanook ที่เคยอ่านนิทานเหล่านี้น่าจะพอคุ้นๆ แล้วว่าแต่ละเรื่องมีความโหดมากขนาดไหน และ The Little Mermaid เวอร์ชั่นนิทานก็เป็นอีกเรื่องที่โหดร้ายและเศร้าหนักมากไม่แพ้นิทานของเขาเรื่องอื่นๆ เช่นกัน
The Little Mermaid ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน
ความเจ็บปวดของเงือกน้อยวัย 15 ปี เริ่มตั้งแต่ก่อนขึ้นไปบนผิวน้ำ
เงือกน้อยผจญภัยของนักเขียน ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าเศร้าสลดและความทรมานที่มากเกินกว่าที่ตัวละครสาวน้อยอายุ 15 ปีจะทนไหว เริ่มจากเงือกน้อยที่เติบโตมาอย่างดีท่ามกลางครอบครัวพี่สาว 6 คนอันอบอุ่น น่ารักอ่อนหวาน งดงามและเสียงไพเราะที่สุดในบรรดาพี่น้องทั้งหมด ทว่าอยากรู้อยากเห็นและนับวันเฝ้ารอที่จะได้ขึ้นไปสำรวจโลกบนผืนน้ำเมื่ออายุย่างเข้าวัย 15 ปี ในนิทานเงือกน้อยได้ขึ้นไปสำรวจโลกบนบกด้วยตัวของเธอเองเมื่ออายุครบ 15 ปี ไม่เหมือนในหนัง Disney ที่พ่อของเธอห้ามไม่ให้ขึ้นไปสำรวจโลกมนุษย์เลยเพราะโลกมนุษย์เต็มไปด้วยอันตรายและเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ของเธอเสียชีวิต
ในนิทาน เงือกน้อยต้องประดับหอยมุกฝังลงไปที่หางของเธอก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เจ็บปวดและเป็นคุณย่าของเธอเองที่เป็นคนทำให้ เมื่อเงือกน้อยในวัย 15 ปีร้องโอดครวญด้วยความเจ็บปวด คุณย่าของเธอกลับตอบเธอว่า “ความภูมิใจย่อมแลกด้วยความเจ็บปวด” (Pride must suffer pain.) ความเจ็บปวดในครั้งนี้ เหมือนเป็นสัญญาณเตือนเงือกน้อยกลายๆ ว่า ชีวิตบนบกไม่ได้น่าอภิรมย์อย่างที่เธอคิด
โดนตัดลิ้นจนพูดไม่ได้ ขาที่ได้แลกมากับความเจ็บปวดเจียนตายเหมือนเดินบนคมมีดทุกย่างก้าว
เงือกน้อยขึ้นไปสำรวจบนผืนน้ำ เจอเรืออับปาง ช่วยชีวิตเจ้าชายรูปงามเอาไว้ได้ เงือกน้อยตกหลุมรักเจ้าชายในทันทีจนยอมดื่มยาของแม่มดทะเลเพื่อแลกหางเป็นขาแล้วขึ้นบกไปหาเจ้าชาย แต่สิ่งที่เงือกน้อยต้องแลกไปด้วยไม่ได้มีเพียงเสียงเหมือนเวอร์ชั่น Disney หากแต่เงือกน้อยโดนตัดลิ้นไปด้วย อย่าว่าแต่ร้องเพลง ส่งเสียงสักแอะก็ทำไม่ได้ ขาที่ได้มาก็ไม่ได้เดินและวิ่งได้อย่างแฮปปี้ดี๊ด๊าเหมือนของ Disney แต่ทุกครั้งที่เท้าสัมผัสพื้น เจ็บปวดราวกับเดินลงไปบนคมมีด ถึงขนาดที่ได้ไปเดินปีนเขาเล่นกับเจ้าชาย แต่ทุกย่างก้าวของเงือกน้อยแสนเจ็บแสนทรมานจนทิ้งรอยฝ่าเท้าเลือดเอาไว้เบื้องหลังตลอดทาง รวมถึงการได้เต้นรำราวกับช่วงเวลาต้องมนตร์ก็ไม่มีอยู่ในนิทาน เพราะเจ้าชายผู้โปรดปรานการเต้นรำพาเงือกน้อยเต้นรำด้วยอยู่นานสองนานโดยหารู้ไม่ว่าทุกย่างก้าวของเธอเจ็บปวดทรมานแค่ไหน แถมเป็นความเจ็บปวดที่เธอได้เก็บเงียบเอาไว้อยู่คนเดียวเพราะพูดไม่ได้ และยอมทนเต้นรำกับเจ้าชายเพียงเพราะหลงรักเจ้าชายคนยอมแบกรับความเจ็บปวดแช่เท้าพุพองที่เต็มไปด้วยเลือดอยู่ที่ริมทะเลอยู่คนเดียวเพียงลำพัง
โดนเจ้าชายหลอกให้รัก เลี้ยงเอาไว้เหมือนหมาแมวในบ้าน
ลืมเจ้าชายแสนสุภาพบุรุษใน Disney ไปก่อน เพราะเจ้าชายในเวอร์ชั่นนิทานคือชายแท้ที่หลอกเงือกน้อยได้อย่างโหดร้าย เจ้าชายชอบรูปร่างหน้าตาของเงือกน้อยจึงเข้าหาและทำตัวดีด้วยตลอด พาเต้นรำ พาเที่ยว พูดคุยหลอกล้อถึงเนื้อถึงตัวอย่างใกล้ชิด ความสัมพันธ์ของเจ้าชายและเงือกน้อยเหมือนกับคำในปัจจุบันที่เรียกว่า gaslighting ซึ่งหมายถึงการล้างสมองให้อีกฝ่ายรู้สึกดีด้วยเหมือนรักมากแต่จริงๆ คือหลอกใช้เพื่อสนองตัณหาของตัวเอง คำๆ นี้ใช้ได้กับสิ่งที่เจ้าชายทำกับเงือกน้อยได้เป๊ะๆ
เจ้าชายในนิทานให้ความหวังกับเงือกน้อย ให้ความใกล้ชิดสนิทสนม แต่ปากก็บอกว่าชอบพอกับสาวอีกคนที่ทึกทักเอาเองว่าเป็นคนช่วยชีวิตตัวเอง เงือกน้อยที่รู้ความจริงก็พูดอะไรออกมาไม่ได้ ได้แต่ทนฟังและปล่อยให้เจ้าชายเข้าใจผิด พูดพร่ำเพ้อถึงสาวอื่นให้ฟัง แต่การกระทำก็ตรงข้ามกับคำพูด กอดบ้าง จุมพิตที่หน้าผากบ้าง จุมพิตที่ริมฝีปากแล้วเอามือไล้เส้นผมเงือกน้อยบ้าง เงือกน้อยก็หลงรักเจ้าชายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ทรมานใจทนทุกข์อยู่คนเดียวเพราะรู้ทั้งรู้ว่าเจ้าชายไม่ได้รักตนแถมยังหลงรักผู้หญิงอื่นที่เจ้าชายเข้าใจผิดไปว่าเป็นคนช่วยชีวิตตัวเองอีก พูดความจริงออกมาไม่ได้ แอบร้องไห้ก็ไม่มีน้ำตาไหลออกมาเพราะเป็นเงือก แถมก็โดนปฏิบัติไม่เหมือนคนรัก แต่เหมือนเป็นหมาแมวในบ้านที่เลี้ยงดูไว้ข้างกายยามเหงามากกว่า ถึงขนาดที่ระบุไว้เลยว่าเงือกน้อยได้รับอนุญาตให้นอนบนฟูกหน้าประตูห้องนอนของเจ้าชาย
เงือกน้อยสละชีพตัวเองจนร่างกลายเป็นฟองคลื่น
ในนิทาน จนแล้วจนรอดเจ้าชายก็ไม่ได้รักเงือกน้อย พี่สาวของเงือกน้อยเห็นท่าไม่ได้การและอยากช่วยน้องสาวสุดท้องที่หลุดพ้นจากความทรมาน จึงเอาผมยาวสลวยไปแลกกับดาบสั้น และบอกให้เงือกน้อยเอาดาบสั้นแทงที่หัวใจของเจ้าชายจนกว่าเลือดจะหยดลงบนเท้าของเธอ เท้าของเธอจะเปลี่ยนกลับไปเป็นหางแล้วเธอจะได้ชีวิตเงือกตามเดิมกลับคืนมา
ตอนแรกเงือกน้อยก็รับดาบไว้และตั้งใจจะทำตามแผนที่พี่สาวบอกว่า แอบเข้าไปหาเจ้าชายยามหลับที่เจ้าชายก็ยังมัวแต่ละเมอเพ้อพกถึงหญิงอื่นขณะฝันหวาน แต่สุดท้ายจนแล้วจนรอดเงือกน้อยก็ไม่กล้าทำด้วยรักเจ้าชายสุดหัวใจ ยอมปาดาบสั้นทิ้งไปและออกไปขึ้นเรือ กระโดดลงจากเรือสลายร่างกลายเป็นฟองคลื่นตามคำสาปของแม่มดทะเล
แต่ตอนจบของนิทานก็ไม่ได้โหดร้ายแบบนั้น ด้วยความดีงามอย่างบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเงือกน้อย ทำให้ธิดาอากาศให้เธอเป็นสายลมที่คอยพัดพาเอาความร่มเย็นมาให้ผู้คน พัดพาเอาสิ่งดีๆ มอบให้กับเหล่ามนุษย์ไปอีก 300 ปีแล้วเงือกน้อยจะได้ดวงวิญญาณกลับคืนมา โดยทิ้งท้ายในนิทานเอาไว้ว่าหากลมที่เงือกน้อยโบกพัดไปเจอเด็กดี เงือกน้อยจะได้ดวงวิญญาณกลับมาและได้ขึ้นสวรรค์เร็วขึ้น แต่ถ้าโลกลมพัดไปเจอเด็กดื้อ เด็กไม่ดี ผลร้ายก็จะส่งกลับไปหาเงือกน้อยด้วย สุดท้ายเด็กๆ เลยพากันเป็นเด็กดีเพื่อให้เงือกน้อยได้วิญญาณคืนกลับมา
เรียกได้ว่าเวอร์ชั่นนิทานหลอกให้เด็กๆ สงสารเงือกน้อยแล้วพยายามทำตัวเป็นเด็กดีเพื่อช่วยให้เงือกน้อยไปสวรรค์ไวๆ นี่เอง นอกจากนี้การแต่งเรื่องไม่ให้เงือกน้อยสมหวัง ก็เป็นการสอนให้เด็กผู้หญิงไม่หลงเชื่อผู้ชาย ไม่หลงเชื่อคำหวานของผู้ชาย ระวังตัวเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสาวนั่นเอง
แม้ว่าจะเป็นการสอนที่ค่อนข้างจะฮาร์ดคอร์กับเนื้อเรื่องอันแสนโหดร้ายราวกับหนังสยองขวัญ แต่ก็นับว่าเป็นนิทานสอนเด็กที่นำเสนอในทิศทางที่ตรงกับข้ามกับความโลกสวยตามแบบฉบับของ Disney ได้อย่างชัดเจน
คุณล่ะ… ชอบ The Little Mermaid เวอร์ชั่นไหนมากกว่ากัน