ล้อมวงคุยเรื่อง “คอนเทนต์” กับ “ยูยองอา” นักเขียนบทชื่อดัง เจ้าของผลงาน Kim Ji-Young: Born 1982

ล้อมวงคุยเรื่อง “คอนเทนต์” กับ “ยูยองอา” นักเขียนบทชื่อดัง เจ้าของผลงาน Kim Ji-Young: Born 1982

ล้อมวงคุยเรื่อง “คอนเทนต์” กับ “ยูยองอา” นักเขียนบทชื่อดัง เจ้าของผลงาน Kim Ji-Young: Born 1982
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • Sanook พูดคุยกับ “ยูยองอา” นักเขียนบทชื่อดังชาวเกาหลีใต้ เจ้าของผลงานซีรีส์อย่าง Encounter (2018), Thirty Nine (2022), Divorce Attorney Shin (2023) รวมถึงภาพยนตร์ดังอย่าง Kim Ji-Young: Born 1982 (2019)
  • เคล็ดลับการเขียนบทละครหรือบทภาพยนตร์ของยูยองอา คือ “การวางพล็อตเรื่อง” ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญมากในการสร้างเรื่องราว 
  • ยูยองอาสะท้อนว่าภาครัฐทำหน้าที่เป็น “ผู้ขับเคลื่อน (Facilitator)” ให้คนในวงการได้มาพบปะพูดคุยกัน มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้กำกับได้มาเจอกัน หรือมีเวทีให้นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ได้มาแลกเปลี่ยนกัน
  • โครงการ Content Lab ที่ทาง CEA ร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น Hub บ่มเพาะและสนับสนุนนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย และส่งต่อสู่ตลาดในกลุ่ม OTT และ Broadcasting ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง Soft Power ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงและพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับความพยายามที่จะผลักดันคอนเทนต์ “แบบไทย” ให้ดังไกลไปทั่วโลก เหมือนกับที่ประเทศเกาหลีใต้สามารถทำได้สำเร็จ แต่หลายปีผ่านไป ประเทศไทยก็ยังดูจะไม่สามารถก้าวไปสู่เป้าหมายวางไว้ได้ นำไปสู่คำถามว่าอะไรที่เป็น “ปัญหา” ฉุดรั้งให้คอนเทนต์แบบไทย ๆ ไม่สามารถโด่งดังไกลได้เสียที ด้วยเหตุนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จึงได้เปิดพื้นที่และเปิดห้องปฏิบัติการ “Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล” เพื่ออบรมบ่มเพาะคนสร้างสรรค์งานรุ่นใหม่ ให้มีความเข้าใจและเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้เติบโตในเส้นทางงานคอนเทนต์ พร้อมกันนี้ ยังได้เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมโครงการ

Sanook ได้มีโอกาสนั่งล้อมวงพูดคุยกับ “ยูยองอา” นักเขียนบทชื่อดังชาวเกาหลีใต้ เจ้าของผลงานซีรีส์อย่าง Encounter (2018), Thirty Nine (2022), Divorce Attorney Shin (2023) รวมถึงภาพยนตร์ดังอย่าง Kim Ji-Young: Born 1982 (2019) ที่มาเป็นหนึ่งในวิทยากรในครั้งนี้ และนี่คือ “เคล็ดลับความสำเร็จ” ที่ทำให้คอนเทนต์เกาหลีใต้ดังไกลระดับโลก 

มาสเตอร์คลาสกับยูยองอา 

เคล็ดลับการเขียนบทละครหรือบทภาพยนตร์ของยูยองอา คือ “การวางพล็อตเรื่อง” ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญมากในการสร้างเรื่องราว แม้ยูยองอาจะย้ำว่าทุกส่วนในการเขียนมีความสำคัญ แต่การวางพล็อตเรื่องที่ดีและเป็นระบบ จะทำให้เรื่องนั้น ๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยการเขียนบทของทางเกาหลีนั้น จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เช็ตอัพ, ไคลแม็กซ์ และเอ็นดิ้ง 

“การเซ็ตอัพหรือการปูเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญที่สุด เพราะถ้าการเซ็ตอัพไม่สนุกหรือไม่น่าติดตาม ผู้ชมจะหยุดดูทันที นักเขียนบทจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับส่วนนี้เป็นอย่างมาก โดยการเซ็ตอัพอาจเป็นการแนะนำตัวละครเอก การสร้างความขัดแย้งระหว่างตัวละคร การแสดงให้เห็นปัญหาของตัวเอกที่ต้องได้รับการแก้ไข หรือการให้ข้อมูลที่จำเป็นที่ผู้ชมสามารถติดตามได้” ยูยองอาอธิบาย 

ส่วนสำคัญของการเซ็ตอัพคือ “ความขัดแย้ง” ที่ยูยองอาระบุว่าต้องมีอยู่ เพื่อปูทางไปสู่ส่วนที่สองของเรื่อง นักเขียนบทจึงจำเป็นต้องสร้าง “อุปสรรค” ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคที่ต่อเนื่องกัน และไล่ระดับความรุนแรงขึ้นไปก็ได้ แต่ต้องไม่หลุดจากพล็อตที่วางไว้ 

“จุดยากที่สุดของการเขียนบทคือ ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเซ็ตอัพไปที่ไคลแม็กซ์ โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับตัวละครตลอดมา จะนำไปสู่ไคลแม็กซ์ ซึ่งตรงนี้คือจุดพลิกผัน (Turning Point) ของเรื่อง และเป็นส่วนสำคัญที่นักเขียนต้องพาผู้คนขึ้นไปอย่างมั่นคง โดยในเรื่องต้องมีฉากสำคัญ (Key Scene) ถ้ายังไม่เห็นซีนนี้ในหัว อย่าเพิ่งเริ่มเขียนบท” 

สิ่งที่นักเขียนบทต้องจำให้ขึ้นใจคือต้องวางพล็อตเรื่องให้ดี การเน้นเป้าหมายของตัวละคร บทบาท และวัตถุประสงค์ของตัวละครต้องชัดเจน ดังนั้น บทละครหรือบทภาพยนตร์ที่ดีต้องมีทุกอย่างที่สอดคล้องกัน เชื่อมโยงกัน และไม่สามารถดึงส่วนใดส่วนหนึ่งของเรื่องออกได้ มิเช่นนั้นเรื่องจะพังทันที” ยูยองอาสรุป

ปัจจัยสำคัญคือพัฒนาคนทำคอนเทนต์

“มีหลายปัจจัยที่ทำให้คอนเทนต์เกาหลีโด่งดัง ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ การเติบโตของบุคลากรที่มาพร้อมกับการมีดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อปล่อยผลงานของบุคลากรเหล่านั้น เรียกว่าหลายปัจจัยมันเบ่งบานขึ้นพร้อมกัน แล้วคนลงทุนก็พร้อมที่จะให้ทุนในการผลิตงานด้วย เช่นเดียวกับผู้ชมที่ก็หันไปดูสตรีมมิ่งมากขึ้น ทุกอย่างจึงพร้อมกันพอดิบพอดี ดังนั้น มันคงไม่ใช่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คอนเทนต์ของเกาหลีไปได้ไกล” ยูยองอาเริ่มต้นเล่า 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “รัฐบาล” เป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยสนับสนุนวงการผลิตคอนเทนต์ ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ส่งเสริมคอนเทนต์เกาหลีได้อย่างน่าประทับใจ โดยยูยองอาสะท้อนว่าภาครัฐทำหน้าที่เป็น “ผู้ขับเคลื่อน (Facilitator)” ให้คนในวงการได้มาพบปะพูดคุยกัน มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้กำกับได้มาเจอกัน หรือมีเวทีให้นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ได้มาแลกเปลี่ยนกัน นอกจากนี้ ภาครัฐยังทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้ทุน” ในภาคส่วนที่ต้องการ หรือกลุ่มที่อาจจะมีเงินน้อย 

“แต่สิ่งสำคัญคือการลงทุนกับการสร้างบุคลากร เพราะผลงานจะถูกสร้างโดยบุคลากร ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างบุคลากรก่อน เราไปหลงประเด็นว่าต้องผลิตคอนเทนต์แบบนั้นแบบนี้ แต่ความเป็นจริงคือเราต้องใส่สารอาหารลงไปที่คนสร้างงาน คอนเทนต์ออกจากคน ดังนั้น ต้องสร้างคนก่อน ถ้าคนมีแรงจูงใจว่าวงการนี้เป็นงาน มันเป็นอาชีพได้ และมันสร้างรายได้ให้กับพวกเขาได้ พวกเขาก็จะตั้งใจผลิตงานในระดับมาตรฐานสากลโลก” ยูยองอาสะท้อน

CEA และการเปิดพื้นที่ให้คนทำคอนเทนต์

หลังจากที่ยูยองอาได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของภาครัฐเกาหลีในการเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” สำหรับวงการคอนเทนต์ ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ก็ได้เน้นย้ำถึงบทบาทการเป็นผู้ขับเคลื่อน เชื่อมต่อกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้าง “ระบบนิเวศของเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านหลาย ๆ โครงการที่ CEA ได้วางแผนเอาไว้ 

“อย่างโครงการของ CEA ในด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ในสาขา Film/ Series/ Entertainment และ Game & Animation ทางเราก็ได้จัดทำครบทั้ง 3 องค์ประกอบ ทั้ง Creative People, Creative Business และ Creative Place” ดร.ชาคริตกล่าว 

โครงการ Content Lab ที่ทาง CEA ร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น Hub บ่มเพาะและสนับสนุนนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย และส่งต่อสู่ตลาดในกลุ่ม OTT และ Broadcasting ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ​  โดยแบ่งออกเป็น 2 โครงการย่อย ได้แก่ 1) กลุ่มภาพยนตร์หรือซีรีส์ (Film & Series) ที่เน้นสร้างทักษะให้กับโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท เนื่องจากไทยยังขาดแคลนบุคลากรใน 3 สาขาอาชีพนี้ และยังต้องพัฒนาศักยภาพให้เทียบเท่ากับสากล 2) กลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Cintent) ที่จะช่วยเพิ่มทักษะ Content Creator, Animator และ Developer ด้าน Virtual Production, AR/ XR, AR Location, CG และ 3D Model 

“อุตสาหกรรมคอนเทนต์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ CEA ต้องการผลักดันเป็นพิเศษในปีงบประมาณ 2566 และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริม Soft Power ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือทางด้านคอนเทนต์ของหลายหน่วยงานจึงเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่ง และส่งเสริมอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทยให้เติบโตอย่างครอบคลุม” ดร.ชาคริตกล่าวปิดท้าย

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ล้อมวงคุยเรื่อง “คอนเทนต์” กับ “ยูยองอา” นักเขียนบทชื่อดัง เจ้าของผลงาน Kim Ji-Young: Born 1982

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook