ผู้ให้ทุนฟ้อง ดิสนีย์-ฟอกซ์ ตั้งใจลดกำไรเอื้อธุรกิจตัวเอง ทำบริษัทสูญเงินอื้อ
TSG Entertainment (ทีเอสจี เอนเตอร์เทนเมนต์) บริษัทที่ให้ทุนแก่ค่ายภาพยนตร์หลายราย ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในนครลอสแองเจลิสของสหรัฐ เมื่อวันอังคาร (15 ส.ค.) เพื่อดำเนินคดีต่อ Disney Co. (ดิสนีย์ โค) และ 20th Century Fox (ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดิสนีย์ จากการละเมิดสัญญาหลายประการ เช่น ลดกำไรของตัวเองลงโดยเจตนา และทำสัญญาฉบับที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจแพลตฟอร์มชมสื่อบันเทิงออนไลน์ของตัวเองขณะที่ส่งผลเสียต่อรายได้ของหุ้นส่วนทางธุรกิจ
ทีเอสจี เผยว่า การฟ้องศาลครั้งนี้เริ่มมาจากบริษัทจับสังเกตได้ว่ากำไรลดลง จึงว่าจ้างนักตรวจสอบบัญชีมาหาสาเหตุ เมื่อตรวจสอบบัญชีของภาพยนตร์ 3 เรื่องที่ยังไม่ได้ฉาย ก็พบว่ามีการใช้กลเม็ดทางบัญชีและการทำสัญญาต่างๆ ที่เอาผลประโยชน์เข้าตัวค่ายภาพยนตร์ แต่ทำให้ทีเอสจีได้รับเงินต่ำกว่าที่จะได้ถึง 40 ล้านดอลลาร์ (1,414 ล้านบาท)
เชื่อลดกำไรหวังเอื้อธุรกิจตัวเอง
หนึ่งในกลเม็ดดังกล่าว ทีเอสจี ระบุว่า ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ เก็บค่าลิขสิทธิ์เผยแพร่ภาพยนตร์เรื่อง The Shape of Water (เดอะ เชป ออฟ วอเดอร์) จากแพลตฟอร์ม FX (เอฟเอกซ์) ของตัวเองน้อยกว่าที่ควรถึง 4 ล้านดอลลาร์ (141 ล้านบาท)
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ทีเอสจียกมาอ้าง คือ เมื่อปี 2564 หรือหลังจากที่ดิสนีย์ซื้อกิจการทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ ไป 2 ปี ฟอกซ์ไปเจรจาแก้ไขสัญญากับช่อง HBO (เอชบีโอ) จากเดิมที่ต้องจ่ายเงินเพื่อให้นำภาพยนตร์มาฉายในช่องเป็นที่แรกและที่เดียว กลายว่าจะลดเก็บเงินดังกล่าว เพื่อแลกกับการนำภาพยนตร์ไปฉายในแพลตฟอร์ม Disney+ (ดิสนีย์พลัส) และ Hulu (ฮูลู) พร้อมกับเอชบีโอ
นอกจากนั้น ทีเอสจี อ้างอีกว่า บริษัทยังถูกเรียกเก็บเงินหลักสิบล้านดอลลาร์เป็นค่าจัดจำหน่าย ซึ่งไม่ได้อยู่ในสัญญา
ทีเอสจี เผยว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทร่วมให้ทุนในการผลิตภาพยนตร์และการทำตลาดไปถึง 3,300 ล้านดอลลาร์ (116,688 ล้านบาท) แก่ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ เพื่อแลกกับส่วนแบ่งรายได้หลังจากภาพยนตร์ออกฉายถึง 140 เรื่อง เช่น เรื่อง Avatar: The Way of Water
เทียบคดี "สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน"
คดีลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2564 ที่นักแสดงชื่อดัง Scarlett Johansson (สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน) ฟ้องดิสนีย์ จากการที่บริษัทตัดสินใจเผยแพร่ภาพยนตร์เรื่อง Black Widow (แบล็กวิโดว์) ทางดิสนีย์พลัสในช่วงเวลาเดียวกับที่ฉายในโรงภาพยนตร์
Dia Dipasupil/Getty Image
นักแสดงรายดังกล่าวมองว่าการกระทำนี้ละเมิดเงื่อนไขสัญญาที่ทำกันไว้ เพราะในสัญญาดังกล่าวรับประกันว่าจะฉายในโรงภาพยนตร์ก่อน ซึ่งรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์นี่เองเป็นส่วนแบ่งรายได้หลักที่ตนจะได้รับ ก่อนที่คดีนี้จะไกล่เกลี่ยกันได้ในที่สุด
ส่วนทนายความที่เป็นตัวแทนของทีเอสจีในคดีนี้ คือ นายจอห์น เบอร์ลินสกี ที่เคยเป็นทนายความให้กับสการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน ในคดีที่ฟ้องดิสนีย์