พระเจ้าเสือ จาก "พรหมลิขิต" พระโอรสของพระนารายณ์ หรือ พระเพทราชา

พระเจ้าเสือ จาก "พรหมลิขิต" พระโอรสของพระนารายณ์ หรือ พระเพทราชา

พระเจ้าเสือ จาก "พรหมลิขิต" พระโอรสของพระนารายณ์ หรือ พระเพทราชา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระเจ้าเสือ หรือ หลวงสรศักดิ์ ที่ปรากฎตัวในละคร พรหมลิขิต ที่เคยเรียนกันมาบอกว่า เป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หากเช็กข้อมูลดูดีๆ อาจจะไม่แน่เสมอไปก็ได้

ต่อยอดจากละคร พรหมลิขิต ที่ทำให้คนไทยรื้อฟื้นความรู้ประวัติศาสตร์กันอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งเอาข้อมูลเก่าๆ มาวิเคราะห์กันใหม่ จนได้ทฤษฎีที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เราร่ำเรียนมา

เช่นเดียวกับเรื่องของ พระเจ้าเสือ หรือ หลวงสรศักดิ์ ที่หลายคนอาจจะจำได้ว่า ครูสอนว่า พระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ข้อมูลก็ยังไม่แน่นอนเสียทีเดียวเพราะมีสมมติฐานในเรื่องนี้ออกมาถึง 3 อย่างด้วยกัน

สมมติฐานเกี่ยวกับพระราชบิดาของพระเจ้าเสือ

  1. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช - พระราชบิดา, นางกุสาวดี พระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ - พระราชมารดา
  2. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช - พระราชบิดา, เจ้าจอมบุญ - พระราชมารดา
  3. สมเด็จพระเพทราชา - พระราชบิดา, พระราชมารดา ไม่ปรากฏนาม

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในละคร พรหมลิขิต

สมมติฐาน 1: พระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช - พระราชบิดา, นางกุสาวดี พระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ - พระราชมารดา

ข้อมูลในส่วนนี้มาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, ที่ระบุว่า พระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสที่เกิดจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ ภายหลังทรงให้พระเพทราชาไปดูแล ด้วยทรงละอายพระทัยที่เสพสังวาสกับนางลาว

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก ให้กาลเวลาเล่าเรื่องสยามแต่ปางก่อน ยังระบุอีกว่า ด้วยว่าตอนนั้นอยุธยายังเห็นล้านนาเป็นลาว พระนารายณ์เองก็ยังไม่มีพระโอรสคงกลัวว่าบัลลังก์จะตกเป็นของโอรสที่เกิดกับนาง และอาจทำให้เชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชมีอำนาจ จึงยกให้พระเพทราชา

แต่ รศ.(พิเศษ) นพ. เอกชัย โควาวิสารัช คุณหมอนักเขียนผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต เป็นกฎหมาย ไม่ว่าพระสนมจะเป็นชาวต่างชาติใดๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าละอายแต่อย่างใด

สมมติฐาน 2: พระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช - พระราชบิดา, เจ้าจอมบุญ - พระราชมารดา

คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่า เกิดจากพระราชชายาเทวี มีนามเดิมว่าเจ้าจอมสมบุญ ภายหลังได้มอบราชบุตรดังกล่าวกับพระเพทราชา เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงไม่ยอมรับเจ้าจอมสมบุญซึ่งเป็นคนโปรดของพระองค์ที่มีครรภ์อยู่ ทรงยกให้พระเพทราชา (เมื่อครั้งทรงเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์) แต่ไม่ทำลายครรภ์ เพราะเหตุที่พระศรีศิลป์กุมารซึ่งเป็นพระโอรสของเชษฐา (ที่ไม่ได้เกิดจากพระมเหสี) เคยเป็นขบถต่อพระองค์ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงขอให้ได้พระราชโอรสอันเกิดในพระครรภ์ของพระมเหสี ทั้งตรัสกับพระสนมทั้งปวงว่าใครมีครรภ์จะทำลาย

ในส่วนนี้ นพ. เอกชัย วิเคราะห์ว่า “ปกติการสืบราชสมบัติในสมัยอยุธยา จะสืบต่อทางพระราชอนุชาก่อน หากไม่มีจึงสืบทางพระราชโอรส และก็ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสีเท่านั้นจึงมีสิทธิในราชบัลลังก์ เช่น รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาทองก็ทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัยซึ่งมิได้ประสูติแต่พระมเหสี การทำลายครรภ์อันเกิดแต่พระสนมจึงไม่มีเหตุผลที่สมควร นอกจากนี้ยังอาจเป็นความคลาดเคลื่อนจาก คำให้การขุนหลวงหาวัด เพราะเป็นการแปลจากภาษารามัญ จึงอาจเกิดความเข้าใจผิดระหว่างภาษาได้”

สมเด็จพระเพทราชา ในละคร พรหมลิขิต

สมมติฐาน 3: พระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระเพทราชา - พระราชบิดา, พระราชมารดา ไม่ปรากฏนาม

ข้อมูลนี้อ้างอิงจากเอกสารชั้นต้นของชาวต่างชาติที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น จดหมายมองเซนเยอร์เดอซีเซ ถึงผู้อำนวยการคณะกรรมการต่างประเทศ ลงวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1703, จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ฯลฯ โดยบันทึกไปในแนวทางเดียวกันว่า สมเด็จพระเจ้าเสือทรงเป็นพระราชโอรสจริงของสมเด็จพระเพทราชา

นอกจากนี้ หากพิจารณา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล ตอนหนึ่งบันทึกเหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรหนัก พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ไปเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลว่า ถ้าพระองค์สวรรคตจะถวายราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมพระราชวังหลัง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกริ้วมาก ถึงกับตรัสว่าขอให้พระองค์มีพระชนมชีพอีก 7 วัน จะขอดูหน้ากบฏสองคนพ่อลูก นพ.เอกชัยท้วงว่า หากสมเด็จพระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์น่าจะทรงตัดพ้อ หรือตำหนิว่าเป็นทรพีที่ฆ่าทรพาผู้เป็นพ่อเช่นในรามเกียรติ์มากกว่า

แต่มีข้อมูลที่ค้านกันอยู่ ที่ทำให้เชื่อง่าพระเพทราชาอาจจะมิใช่พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าเสือ เพราะเมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงพระประชวรใกล้สวรรคต มิได้ทรงยกราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าเสือที่เป็นพระราชโอรสพระองค์โต แต่กลับทรงยกให้เจ้าฟ้าพระยอดขวัญ ซึ่งเป็นพระราชโอรสซึ่งประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ

ในส่วนนี้ นพ. เอกชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่เสมอไปที่พระราชบิดาจะมอบราชสมบัติให้กับพระราชโอรสองค์โต เช่น 

  • สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย แทนที่จะเป็นเจ้าฟ้านเรนทรพระราชโอรสองค์โต
  • สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงตั้งกรมขุนพรพินิต พระราชโอรสองค์เล็กสุดเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเพื่อเป็นองค์รัชทายาท

นอกจากนี้ เจ้าฟ้าพระยอดขวัญ เป็นพระราชโอรสที่ประสูติภายใต้พระเศวตฉัตร (พระราชบิดาทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว) หรืออาจจะเป็นความเสน่หาที่สมเด็จพระเพทราชามีต่อเจ้าฟ้าพระยอดขวัญก็เป็นได้

สรุป พระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสของใคร เป็นสิ่งที่ยังระบุได้ไม่ชัดเจน เมื่ออดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและจบไปแล้ว หลักฐานต่างๆ ไม่มากพอที่จะระบุได้อย่างชัดเจน จึงทำให้เราได้แต่ค้นคว้าหาข้อมูล นำมาวิเคราะห์ต่อ หรือรอนักวิชาการสืบค้นหาข้อมูลใหม่ๆ มาอัปเดตกันได้ในภายหลังเท่านั้น

 

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ พระเจ้าเสือ จาก "พรหมลิขิต" พระโอรสของพระนารายณ์ หรือ พระเพทราชา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook