ท้าวทองกีบม้า กับชีวิตที่กลับมารุ่งโรจน์หลังฟอลคอนตาย-โดนขังคุก “พรหมลิขิต”
จากละคร พรหมลิขิต ชีวิตของ ท้าวทองกีบม้า มีช่วงที่รุ่งโรจน์สุดๆ และจุดที่ตกต่ำที่สุด แต่ยังสามารถกลับมามีชีวิตที่สุขสบายดีได้อีกครั้งจนสิ้นอายุขัย เกิดอะไรขึ้นกับท้าวทองกีบม้าบ้าง
กลับพระนคร ทำงานในวัง
หลังจากที่ฟอลคอนโดนสั่งประหาร ท้าวของกีบม้าและลูกๆ โดนจับเข้าคุก ซ้ำหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นบาทบริจาริกา แต่เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต จนทำให้นางพยายามหาทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา จนได้รับความช่วยเหลือจากนายพลเดฟาร์ฌที่ประจำการที่ป้อมวิไชยเยนทร์ที่บางกอกได้ให้สัญญากับนางว่าจะพาออกไปพ้นกรุงสยาม แต่นายพลเดฟาร์ฌได้บิดพลิ้วต่อนาง นอกจากปฏิเสธนางแล้ว ยังได้กักขังหน่วงเหนี่ยวนางในหอรบ ควบคุมอย่างเข้มงวด และส่งตัวนางกลับอยุธยา
เมื่อท้าวทองกีบม้าได้กลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง สมเด็จพระเพทราชาให้นางปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องต้นในวัง
ส่งจดหมายทวงเงินให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ในปี 2249 ระหว่างที่ยังทำวานเป็นเครื่องต้นในวัง ท้าวทองกีบม้าส่งจดหมายหาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฝรั่งเศสที่สามีเคยเป็นผู้อำนวยการแก่นางบ้าง และพรรณนาความทุกข์ยากลำบากของนาง ว่าทำงานหนักตลอดเวลา ไม่มีที่ซุกหัวนอนเป็นหลักแหล่ง ได้แต่นอนบนดินชื้นๆ เฝ้าห้องเครื่อง
ทำขนมไทย
การทำงานเป็นเครื่องต้นในวัง เป็นจุดเริ่มต้นของท่านท้าวทองกีบม้าที่เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอด ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา ที่ชาวไทยรู้จักเธอในนาม “ราชินีแห่งขนมไทย” ในเวลาต่อมานั่นเอง
เรื่องของการทำขนมไทย ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าท้าวทองกีบม้าเป็นคนคิดสูตรขนมเองจริงๆ หรือเป็นสูตรขนมมาจากคนอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ท้าวทองกีบม้าก็ยังเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ขนมไทยเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จัก และเอกลักษณ์ของขนมไทยจนถึงทุกวันนี้
ขนมไทยที่เชื่อกันว่าท้าวทองกีบม้าอาจเป็นคนทำขึ้น
เมื่อครั้งที่ท้าวทองกีบม้า เข้ารับราชการในห้องเครื่องต้น กำกับเครื่องชาวพนักงานหวานในพระราชวัง ก็ได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมมารวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย ขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าได้ดัดแปลงเป็นขนมหวานของไทยนั้น มีดังต่อไปนี้
- ทองม้วน
- ทองหยิบ
- ทองหยอด
- ทองพลุ
- ทองโปร่ง
- ฝอยทอง
- กะหรี่ปั๊บ
- ขนมหม้อแกง
- สังขยา
- ขนมผิง
- สัมปันนี
- ขนมขิง
- ขนมไข่เต่า
- ลูกชุบ
ชีวิตกลับมารุ่งโรจน์ มีข้าราชบริพารในอำนาจมากมาย
หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์
ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง
ได้เงินส่วนของสามีจากรัฐบาลฝรั่งเศส ใช้ชีวิตอย่างสุขสงบจนถึงแก่กรรม
ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. 2265 สิริอายุขัย 63-64 ปี
- เปิดประวัติ "ท้าวทองกีบม้า" ราชินีขนมไทยใน "บุพเพสันนิวาส" จากสูงสุดสู่จุดต่ำสุดในชีวิต
- เปิดประวัติ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ สแตนติน ฟอลคอน ขุนนางตัวร้าย ใน บุพเพสันนิวาส
- เปิดประวัติ "พระเพทราชา" พระเอกหรือผู้ร้าย? "บุพเพสันนิวาส"
- เปิดประวัติ "พระเจ้าเสือ" หลวงสรศักดิ์ กษัตริย์อยุธยาผู้มีนิสัยไม่ธรรมดา "พรหมลิขิต"
อัลบั้มภาพ 19 ภาพ