Development hell นรกแห่งการพัฒนา สิ่งที่คนทำหนังไม่อยากพบเจอ โดย ตั๋วร้อน ป๊อปคอร์นชีส
Development hell คือศัพท์ทางเทคนิคที่คนในวงการหนังมักใช้กัน แปลตรงๆ ตัวได้ว่า "นรกแห่งการพัฒนา" หรือจะมีศัพท์เฉพาะในวงการสื่อคือ Development Purgatory หรือ Development Limbo แล้วแต่จะเรียกขาน
แต่สำหรับวงการหนัง Development hell มันถูกใช้เรียกโปรเจกต์ หรือแนวคิด ที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาในช่วงแรกๆ มาเป็นเวลาเนิ่นนาน จบไม่ลง ไม่ถูกเคาะให้สร้างซะที โดยมีเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่แนวคิดมันมีความท้าทายทางกฎหมาย ท้าทายทางเทคนิค หรือศิลปะ บางครั้งผู้ที่ริเริ่มก็โบกมือลาเพราะมันนรกดีๆนี่เอง โปรเจกต์อาจเปลี่ยนมือไปอยู่กับผู้กำกับหรือมือเขียนบทคนนั้นคนนี้ และหลายๆโปรเจกต์มันลงเอยด้วยการไม่ได้ถูกสร้าง และถูกทิ้งในที่สุด แต่ก็มีบางโปรเจกต์ถูกเอาไปรื้อเป็นหนังหรือซีรีส์เรื่องใหม่ไปเลยก็มี
มีหลายปัจจัยที่ทำให้โปรเจกต์นั้นๆ ตกอยู่ในภาวะ Development hell มันอาจเกิดขึ้นเมื่อผู้กำกับและสตูดิโอมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกนักแสดง ขัดแย้งกันเกี่ยวกับโครงเรื่อง หรืองบประมาณที่อาจจะสวนทางกับแนวคิด ตามบทถูกเขียนเป็นหนังไซไฟฟอร์มยักษ์ แต่สตูดิโอมีงบให้เท่านี้ แต่ที่เห็นว่าโปรเจกต์ถูกเก็บเข้ากรุเป็น Development hell ไม่ใช่ว่าผู้ริเริ่มจะไม่ได้อะไร เพราะค่าจ้างต่างๆได้ถูกจ่ายล่วงหน้าไปแล้วตามกระบวนการทำงานของสตูดิโอมืออาชีพ อย่างสมมติว่าสตูดิโอหนึ่ง มีแนวคิดจะทำหนังเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวหนึ่งเรื่อง พวกเขาก็โยนโปรเจกต์ให้มือเขียนบท พร้อมๆกับเม็ดเงินแรกเริ่มโปรเจกต์ แต่เมื่อโปรเจกต์ตกในภาวะ Development hell ก็ไม่ได้มีการคืนเงินแต่อย่างใด ทั้งนี้ไม่รวมกับที่ผู้เขียนบทเอาโปรเจกต์ไปเสนอเอง แล้วสตูดิโอเล็งเห็นว่าคนนำเสนอน่าจะเอาโปรเจกต์นี้ไม่อยู่ จึงต้องมองหาผู้กำกับหรือมือเขียนบทคนอื่นๆที่อาจจะแม่นกว่ามาช่วยกันทำให้หนังเกิดขึ้น ซึ่งสตูดิโอก็ได้ควักเงินจ่ายให้คนคิดโปรเจกต์เบื้องต้นแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นกัน แม้สุดท้ายแล้วหนังจะได้ทำหรือไม่ได้ทำก็ตาม ดังนั้นสตูดิโอจึงไม่ยอมทิ้งโปรเจกต์เหล่านั้นง่ายๆ
อีกประการคือการถอนตัวหรือปฏิเสธของดาราระดับแม่เหล็ก อย่างเช่นที่หนังอย่าง Deep Rising (1998) ประสบปัญหา ไม่สามารถคว้าตัว Harrison Ford มานำแสดงให้ได้ เดิมทีหนังถูกวางให้เป็นภาคต้นของ King Kong ฉบับใหม่ โดยมีงบประมาณกว่า 120 ล้านเหรียญให้ผู้กำกับ Stephen Sommers ละเลง แต่การปฏิเสธของ Harrison Ford หรือดาราดังหลายๆคน ทำให้สตูดิโออย่าง Hollywood Pictures มีตัวเลือกให้สองทางคือ หยุดไว้ก่อน ให้มันเป็น Development hell หรือไม่ก็สร้างบนพื้นฐานของงบเพียง 45 ล้านเหรียญ ผู้กำกับเลือกที่จะไปต่อโดยใช้ดาราเกรดรองทั้งหมด แน่นอนว่าหนังเจ๊งบ๊ง ปิดประตูภาคต่อที่จะเชื่อมไปหาตัว King Kong
ด้วยความเสี่ยงแบบนี้เองมันจึงมีโปรเจกต์ที่เรียกว่า Development hell ขึ้น โดยโปรเจกต์นั้นๆหลายๆเรื่องจะถูกเก็บเข้ากรุไว้ บางเรื่องก็ถูกส่งต่อไปยังสตูดิโออื่น บางเรื่องก็ถูกนำมารื้อใหม่ เพราะสตูดิโอมองเห็นแววมือเขียนบทหรือผู้กำกับบางคนที่อาจจะทำอะไรกับมันได้ บทหนังบางเรื่องได้ถูกรื้อใหม่จนกลายเป็นหนังอีกเรื่องก็มี เช่น โครงร่างของหนัง Deadpool 2 ที่ถูกเก็บเข้ากรุเพราะโปรดิวเซอร์ไม่ชอบใจเท่าไหร่นัก ถูกนำมาปัดฝุ่นให้เป็นหนัง 6 Underground ของ Netflix หรือเก่ากว่านั้นก็เป็น ET the Extra-Terrestrial (1982) ที่เดิมทีเป็นโปรเจกต์ของ Columbia Pictures และพวกเขาเก็บโปรเจกต์เข้ากรุ จนกระทั่ง Columbia Pictures ประสบภาวะล้มเหลวทางการเงิน ทำให้ Universal Pictures เข้ามาเจรจาขอซื้อ ET the Extra-Terrestrial มาทำจนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ก็ต้องมีดีลข้อตกลงกันหลายขั้นตอน
Production hell หรือ นรกแห่งการผลิต ก็คืออีกหนึ่งสิ่งที่คนทำหนังไม่อยากประสบพบเจอมัน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพราะ การเสียชีวิตของนักแสดงหรือสมาชิกคนสำคัญของหนังเรื่องนั้นๆก็ถือเป็น Production hell การนัดประท้วงหยุดงานโดยนักเขียนบท ทีมงาน หรือนักแสดง ก็ใช่ ปัญหาเกี่ยวกับข้อตกลงสิทธิและข้อพิพาทด้านสัญญาก็ใช่ หรือหากมีการปรับเปลี่ยนคนในองค์กรระดับผู้บริหารของสตูดิโอ และผู้นำคนใหม่มีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างออกไป โปรเจกต์อาจล่าช้าหรือไม่ก็ถูกสั่งระงับไปเลย อย่างเช่นหนัง Batgirl ที่ถูก Warner Bros. สั่งระงับ แม้หนังจะเกือบเสร็จพร้อมฉายแล้ว หนักหนาถึงขั้นที่ว่าไม่ให้ลงแม้กระทั่งสตรีมมิ่ง HBO
ด้วยความเสี่ยงแบบที่เกิดขึ้นกับ Deep Rising หรือหนังอีกหลายๆเรื่องนี้เองมันจึงมีโปรเจกต์ที่เรียกว่า Development hell ที่อาจจะรอการพัฒนาอยู่ บางเรื่องใช้เวลากว่า 73 ปี กว่าจะถูกสร้างขึ้นมา นั่นคือการ์ตูนอย่าง Frozen นั่นเอง หนังดังๆหลายเรื่องก็รอคอยการพัฒนาและเวลาที่เหมาะสมจึงจะถูกสร้าง James Cameron เคยรอคอยเทคนิคพิเศษ จนได้เทคนิคที่เหมาะสมจึงขุดบทหนัง Terminator 2: Judgment Day มาทำ เพราะหากเขาตัดสินใจทำในตอนที่เทคนิคยังไม่พร้อม หนังคงไม่เป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ อย่างน้อยๆคนก็พูดถึง CG หุ่น T-1000 อันน่าตื่นตะลึงในยุคนั้นว่ามันคือเทคนิคที่ดีที่สุด
อันที่จริง Development hell ไม่ได้ใช้แค่เฉพาะในวงการหนังเท่านั้น แต่มันครอบคลุมถึงโปรเจกต์ต่างๆ ในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้าง โครงการหนังสือ เกม พอดแคสต์ ฯลฯ ก็ถือว่าเข้าข่าย Development hell ได้หมด แต่สำหรับวงการหนัง มีหนังหลายๆเรื่องที่เคยตกอยู่ในภาวะ Development hell นรกแห่งการพัฒนา มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Frozen , Dune , Gangs of New York , Mad Max: Fury Road ฯลฯ ไว้บทความต่อไปจะมาเขียนให้อ่านกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับหนังเหล่านี้ กว่าจะได้สร้างกันต้องผ่านความนรกอะไรมาบ้าง