ประวัติ เจ้าฟ้านเรนทร หลานรัก พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บวชไม่สึก หลีกทางให้อาขึ้นครองราชย์
อีกหนึ่งตัวละครที่ถูกพูดถึงในละคร พรหมลิขิต ตอนล่าสุด จะได้เห็นฉากที่ เจ้าฟ้าพร หรือ พระเจ้าบรมโกศ (เด่นคุณ งามเนตร) ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ได้เจอกับ เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของ ขุนหลวงท้ายสระ (สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ) ในงานพิธีจองเปรียง เผยให้เห็นถึงสัมพันธ์อันดีของอาหลาน ที่เจ้าฟ้าพรถึงกับเอ่ยว่าเป็นหลานรัก
- เรื่องย่อ พรหมลิขิต (Love Destiny 2) ละครแนวพีเรียดอิงประวัติศาสตร์
- เปิดประวัติ "ขุนหลวงท้ายสระ" พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา "พรหมลิขิต"
- ประวัติ "เจ้าฟ้าพร" สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของอยุธยาใน "พรหมลิขิต"
โดยเจ้าฟ้านเรนทร มีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ ทรงออกบวชตลอดชีวิต หลีกทางให้ เจ้าฟ้าพร (กรมพระราชวังบวร) ขึ้นรับราชสมบัติ เพราะสิทธิที่จะขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐาอย่างถูกต้อง แต่เมื่อพระเจ้าท้ายสระใกล้สวรรคต กลับตัดสินพระทัยยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้านเรนทร (พระโอรสองค์โต) เจ้าฟ้านเรนทรไม่รับสืบราชสมบัติ ต้องยกให้เจ้าฟ้าลำดับถัดไปเจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง กินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยเจ้าฟ้านเรนทร ทรงออกผนวชตลอดชีวิต
เจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ หรือ เจ้าฟ้านเรนทร
เจ้าฟ้านเรนทร หรือ เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้านเรนทร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ) ที่ประสูติแต่สมเด็จพระอัครมเหสี พระองค์มีพระอนุชา 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร์
การออกผนวช และ ฉนวนการแย่งชิงบัลลังก์
ก่อนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 จะเสด็จสวรรคตนั้น พระองค์ได้แสดงพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชโอรสของพระองค์สืบต่อราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยา ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นเจ้าฟ้าพร พระอนุชาในพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ ในขั้นแรกนั้นสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 มีพระราชประสงค์ที่จะให้เจ้าฟ้านเรนทรเสด็จขึ้นครองราชย์แต่พระองค์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยเนื่องจากพระมหาอุปราชก็ยังคงมีพระชนม์อยู่ พระองค์จึงทรงออกผนวช ดังนั้น พระองค์จึงทรงยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัยสืบราชสันตติวงศ์ต่อ
เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับกรมพระราชวังบวรเป็นอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่การเกิดศึกกลางเมืองระหว่างวังหน้าและวังหลวงขึ้น โดยกรมพระราชวังบวรเป็นฝ่ายชนะและเสด็จขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากนั้น พระองค์มีพระราชดำรัสให้นำตัวเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามโบราณราชประเพณี
เจ้าฟ้านเรนทร (เจ้าฟ้าพระฯ) ดำรงเพศบรรพชิตออกผนวชตลอดมา โดยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงสถาปนาให้ทรงกรมที่ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ พระองค์ทรงสนิทกับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นอย่างยิ่ง จนทำให้ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกรมหลวงอภัยนุชิต เกิดความระเวง ลอบทำร้ายเจ้าฟ้านเรนทรจนจีวรขาด แต่ไม่ทรงได้รับบาดเจ็บ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระพิโรธเจ้าฟ้ากุ้งเป็นอย่างมาก
เจ้าฟ้ากุ้ง ลอบฟัน เจ้าฟ้านเรนทร
เนื่องจากเจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงสนิทกับพระราชบิดาของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง อย่างมาก ขณะทรงผนวชก็มักจะเสด็จมาเข้าเฝ้าอยู่เนืองๆ ทำให้ เจ้าฟ้ากุ้ง เกิดความระแวงขึ้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงประชวร ตรัสให้พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดไปนิมนต์เจ้าฟ้านเรนทรเข้ามายังพระราชวังหน้าเพื่อมาเยี่ยมพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อเจ้าฟ้านเรนทรเสด็จมาถึง เจ้าฟ้ากุ้งได้ใช้พระแสงดาบฟันเจ้าฟ้านเรนทร แต่ไม่ทรงได้รับบาดเจ็บเพียงถูกแต่ผ้าจีวรขาดเท่านั้น เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงเกรงพระราชอาญาแล้วจึงเสด็จไปยังตำหนักกรมหลวงอภัยนุชิต พระมารดาของพระองค์
หลังจากนั้น เจ้าฟ้านเรนทร เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และพระองค์ตรัสถามว่า เหตุใดผ้าจีวรจึงขาด เจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรว่า กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หยอกท่าน เมื่อเจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้ว กรมหลวงอภัยนุชิต ได้เสด็จมาอ้อนวอนและตรัสว่าถ้าท่านไม่ช่วยในคราวนี้เห็นที เจ้าฟ้ากุ้ง คงสิ้น เจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ จึงตรัสว่าคงมีแต่ร่มกาสาวพัตรเท่านั้นที่จะช่วยได้ กรมหลวงอภัยนุชิตจึงพากรมขุนเสนาพิทักษ์เสด็จออกผนวชทันทีที่วัดโคกแสง
ในครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธกรมขุนเสนาพิทักษ์มาก มีพระราชดำรัสให้ค้นหาตัวจนทั่วพระราชวัง แต่พบเพียงพระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดที่สมรู้ร่วมคิดเท่านั้น จึงมีพระราชดำรัสให้นำตัวทั้ง 2 พระองค์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ดับสูญทั้งสองพระองค์
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระพิโรธกรมขุนเสนาพิทักษ์มากและมีพระบรมราชโองการให้จับตัวกรมขุนเสนาพิทักษ์มาให้ได้ แต่ในระหว่างกรมขุนเสนาพิทักษ์ได้เสด็จออกผนวชจึงทรงพ้นจากภัยในครั้งนี้ได้
เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าสิ้นพระชนม์เมื่อใด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะทรงสถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อปี พ.ศ. 2284
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ