หนังดัง 8 เรื่องที่ติดในลูปของ Development hell นรกแห่งการพัฒนา จนสุดท้ายมันได้สร้าง
Development hell มันถูกใช้เรียกโปรเจกต์ หรือแนวคิด ที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาในช่วงแรกๆ มาเป็นเวลาเนิ่นนาน จบไม่ลง ไม่ถูกเคาะให้สร้างซะที โดยมีเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่แนวคิดมันมีความท้าทายทางกฎหมาย ท้าทายทางเทคนิค หรือศิลปะ บางครั้งผู้ที่ริเริ่มก็โบกมือลาเพราะมันนรกดีๆนี่เอง โปรเจกต์อาจเปลี่ยนมือไปอยู่กับผู้กำกับหรือมือเขียนบทคนนั้นคนนี้ และหลายๆโปรเจกต์มันลงเอยด้วยการไม่ได้ถูกสร้าง และถูกทิ้งในที่สุด แต่ก็มีบางโปรเจกต์ถูกเอาไปรื้อเป็นหนังหรือซีรีส์เรื่องใหม่ไปเลยก็มี
แม้แต่หนังที่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลอย่าง Dune, Avatar และ Frozen ก็ยังเคยผ่าน Development Hell มาแล้ว มันคือนรกที่ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้เขียนบท และในส่วนอื่นๆในงานโปรดักชั่น ล้วนไม่อยากประสบพบเจอ และในบางครั้งก็เป็นผู้สร้างผู้กำกับเองเสียด้วยซ้ำที่เป็นฝ่ายเลือกที่จะไม่สร้างเอง เพราะยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม
และนี่คือหนัง 8 เรื่องที่เคยเป็น Development hell ซึ่งพอมันถูกสร้างออกมา ก็กลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จสมการรอคอย
-
Frozen (2013)
ติดลูปนรกแห่งการพัฒนาอยู่ 73 ปี
Walt Disney ได้คิดไอเดียที่จะดัดแปลงการ์ตูนจากนิทานปรัมปรา The Snow Queen ของ Hans Christian Anderson ตั้งแต่ปี 1940 ทว่าเรื่องราวของราชินีหิมะนั้นมืดหม่นจนเกินไป ประกอบกับสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง Disney จึงเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อช่วยเยียวยาจิตใจผู้คนในช่วงสงคราม มีการโฆษณาชวนเชื่อด้านสว่างหลายๆชิ้นงานเพื่อให้คนยุคนั้นมีความหวัง โครงการ The Snow Queen ที่มีความมืดหม่นจึงถูกระงับไปอย่างไม่มีกำหนด
The Snow Queen เกือบถูกนำกลับมาในยุครุ่งเรืองขีดสุดของ Disney ใน ช่วงยุค 90 แต่ถูกยกเลิกไปเช่นกัน พวกเขาหันไปพัฒนา Tangled แทน และในที่สุด ผู้กำกับอย่าง Chris Buck ที่ประสบความสำเร็จกับ Disney ในการทำ Tarzan ก็เริ่มเข้ามารื้อโปรเจกต์ราชินีหิมะขึ้นมาอีกครั้ง เพราะต้องตีเหล็กตอนร้อนจากความสำเร็จของ Tangled นั่นก็ทำให้โปรเจกต์ The Snow Queen ต้องเริ่มเดินหน้าต่อไป โดยมีการประกาศชื่อใหม่ในปี 2011 เป็น Frozen แล้วประสบความสำเร็จระดับ 1.334 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างที่เห็น
-
Dune (2021)
ติดลูปนรกแห่งการพัฒนาอยู่ 50 ปี
นิยายวิทยาศาสตร์มหากาพย์ของ Frank Herbert ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1965 และมันมีศักยภาพในการถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ตลอดทศวรรษ 1970 สตูดิโอและโปรดิวเซอร์หลายๆเจ้า ล้วนพยายามทำให้โปรเจกต์นี้มีชีวิตขึ้นมา แต่ก็ไม่เกิดขึ้นใดๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ ใหญ่ๆเลยคือเทคนิคและงบประมาณ
ตลอดหลายทศวรรษต่อมา โปรดิวเซอร์อย่าง Richard P. Rubinstein และผู้กำกับ David Lynch ทั้งคู่ร่วมกันสร้างมันออกมาเป็นหนังได้สำเร็จ แต่หนังได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ดีนัก และมันขาดทุนย่อยยับ นิยาย Dune จึงถูกกาหัวไว้ว่ามันคือนิยายที่ไม่สามารถถ่ายทำให้ออกมาเป็นหนังได้ ไม่ว่าใครก็ตาม
แต่หลังจากนั้น ความสำเร็จของแฟรนไชส์ The Lord of the Rings และ Harry Potter ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 นั้นก่อให้เกิดกระแสการสร้างหนังจากนิยายมหากาพย์ขึ้นมาอีกครั้ง สตูดิโอต่างๆล้วนพยายามหานิยายมหากาพย์มาสร้างเป็นงานของตัวเองเพื่อตามรอยความสำเร็จ ในยุคที่เทคนิคต่างๆอยู่ในระดับที่สามารถเนรมิตรสิ่งใดก็ได้ การดัดแปลง Dune เป็นหนังจึงเริ่มต้นขึ้นอีก ค่าย Legendary ได้รับลิขสิทธิ์ในปี 2016 และผู้กำกับ Denis Villeneuve ที่สร้างชื่อจาก Incendies , Prisoners และ Sicario ก็เข้ามาในโปรเจกต์นี้ Villeneuve ต้องใช้เวลานานกว่าจะเคาะให้มันออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว เขาใช้เวลาระหว่างนั้นสร้างหนัง Arrival และ Blade Runner 2049 ในที่สุดเขาก็เริ่มหันมาจริงจังกับ Dune อย่างเต็มที่ จนในที่สุดหนังก็เสร็จสิ้นแล้วเข้าฉาย ทำเงินไป 402 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้รับการยกย่องในความซื่อสัตย์ต่อนวนิยายต้นฉบับ และตามมาด้วย Dune: Part Two ภาคต่อที่จะฉายปี 2024 นี้
-
Gangs of New York (2002)
ติดลูปนรกแห่งการพัฒนาอยู่ 32 ปี
หากเราจะมอบรางวัลอะไรสักอย่างให้กับ Martin Scorsese อีกซักรางวัล มันจะต้องเป็นรางวัล "เจ้าแห่งผู้กำกับโปรเจกต์นรกแห่งการพัฒนา" ให้เขาอย่างแน่นอน เพราะเมื่อไล่เรียงกันดูแล้ว หนังของเขาอย่าง The Irishman, Silence และ The Last Temptation of Christ ต่างติดลูปอยู่ใน Development Hell ทั้งสิ้น แต่งานนี้เราจะโฟกัสไปที่ Gangs of New York ปี 2002 ของเขา
ย้อนกลับไปในปี 1970 ผู้กำกับ Martin Scorsese พบหนังสือของ Herbert Asbury จากช่วงปี 1920 เกี่ยวกับอาชญากรนิวยอร์กในศตวรรษที่ 19 และจินตนาการไปว่าเขาจะต้องสร้างหนังเรื่องนี้ให้ออกมาเป็นมหากาพย์หนังแก๊งสเตอร์ให้จงได้ แต่เนื่องจากชื่อของเขายังไม่ได้โด่งดังมากนักในขณะนั้น แต่เขาก็คว้าลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 และวางแผนที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังมิวสิคัล แต่ท้ายที่สุดวิสัยทัศน์ของเขาก็เปลี่ยนไป จนกระทั่งเขาคิดว่าจะสร้างมันออกมาเป็นหนังไตรภาค จนท้ายที่สุดเขาคิดว่ามันควรเป็นแค่หนังเรื่องเดียว
การผลิตเริ่มต้นในปี 2000 และปิดฉากในปี 2001 แต่เหตุโจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน ทำให้การฉาย Gangs of New York ล่าช้าในที่สุด แต่หลังจากการพัฒนา การวางแผน และการผลิตมาหลายทศวรรษ Gangs of New York ก็ออกสู่จอภาพยนตร์ในเดือนธันวาคม ปี 2002 และทำรายได้ไป 193.8 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้าง 100 ล้านเหรียญ แม้ว่าหนังจะขาดทุนไปนิดหน่อย แต่มันก็ถูกขึ้นหิ้งให้เป็นหนังแก๊งสเตอร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งยุคสมัย
-
Dallas Buyers Club (2013)
ติดลูปนรกแห่งการพัฒนาอยู่ 21 ปี
ผู้เขียนบท Craig Borten เขียนร่างแรกของ Dallas Buyers Club ในปี 1992 หลังจากไปเยี่ยมและสัมภาษณ์ Ron Woodroof ในชีวิตจริง ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาเป็นเจ้าของเรื่องราวในบทความ The Dallas Morning News ที่เขียนโดยคอลัมนิสต์ Bill Minutaglio บทภาพยนตร์กว่า 10 เวอร์ชั่น ถูกเขียนขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมๆกับการพยายามหาเงินทุนสำหรับโปรเจกต์นี้
และเป็นเวลาอีก 9 ปีเต็มที่บทเขียนเสร็จแต่ยังหาทุนไม่ได้ ก่อนที่ Matthew McConaughey จะตัดสินใจเข้าร่วมโปรเจกต์นี้ และจัดการเรื่องต่างๆ ทั้งการหาแนวร่วมที่เป็นนักแสดงที่จะสามารถทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสตูดิโอ และเขายังไปตระเวนคุยกับค่ายต่างๆจนได้เงินทุน ในที่สุด 21 ปีต่อมาหลังจากที่ Craig Borten ใช้ความพยายาม มันก็สำเร็จ Dallas Buyers Club เข้าฉาย และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลามไปในทางที่ดี จนหนังทำรายได้ไป 55.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนสร้างเพียง 5 ล้านเหรียญ และยังส่งให้ดารานำอย่าง Matthew McConaughey กับ Jared Leto คว้ารางวัลออสก้าร์สาขาดารานำชายและสมทบตามลำดับ
-
Mad Max: Fury Road (2015)
ติดลูปนรกแห่งการพัฒนาอยู่ 16 ปี
ผู้กำกับ George Miller ได้สร้างหนึ่งในแฟรนไชส์ที่ดีที่สุดในโลกภาพยนตร์อย่าง Mad Max ในยุค 70-80 เดิมทีเขามีไอเดียสำหรับหนังภาคนี้ของเขามาตั้งแต่ปี 1999 ในตอนนั้นหนังเรื่องนี้ได้รับไฟเขียวจาก Warner Bros. Pictures และพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อสานต่อตำนานอีกครั้ง แต่เกิดความล่าช้าหลายอย่าง เช่น คิวนักแสดงนำอย่าง Mel Gibson ล้นจนไม่มีเวลา จนทำให้โปรเจกต์ต้องหยุดชะงัก และพระเอก Mel Gibson ก็เจอคดีจนวงการแบนเขาในที่สุด มันจึงถูกพับโครงการไปยาวไร้กำหนด
หลายปีหลังจากนั้น George Miller ยุ่งอยู่กับการสร้างการ์ตูน Happy Feet แต่ดูเหมือนเขาจะยังคงคิดถึงงานที่เป็นตัวจนของเขาจริงๆอยู่เสมอๆ จนกระทั่งเขาได้พบกับ Tom Hardy ผู้ที่จะก้าวมารับบท Max Rockatansky แทนที่ Mel Gibson โครงการจึงเริ่มต้นในปี 2010 และเริ่มถ่ายทำในปี 2012 แล้วออกมาเป็น Mad Max: Fury Road จนหนังเข้าฉายในในปี 2015 กวาดรายได้ไปกว่า 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แถมเข้าชิงรางวัลออสการ์แล้วคว้ารางวัลบนเวทีต่างๆมากมาย
-
Deadpool (2016)
ติดลูปนรกแห่งการพัฒนาอยู่ 16 ปี
เชื่อหรือไม่ว่าหนังฮีโร่ทุนต่ำ 58 ล้านดอลลาร์ ที่ทำรายได้ไป 782.6 ล้านดอลลาร์ อย่าง Deadpool ได้รับการประกาศสร้างในปี 2000 และ Ryan Reynolds ก็ได้รับเลือกให้รับบทนำตั้งแต่ปี 2004
Deadpool ถูกพัฒนาบทมานานหลายปี แต่การที่ Ryan Reynolds คว่ำสนิททั้งรายได้และคำวิจารณ์ไปกับ Green Lantern ในปี 2011 นั่นเกือบจะทำให้โปรเจกต์นี้ไม่เกิดขึ้น เพราะผู้สร้างหวาดกลัวที่จะทำงานกับ Ryan Reynolds เพราะถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีก Blade: Trinity ที่เขาร่วมแสดงก็เกือบเอาตัวไม่รอด แต่ผู้กำกับ Tim Miller ก็ไม่ย่อท้อ เขาควักทุนส่วนตัวเพื่อถ่ายทำหนังบางส่วนไปให้สตูดิโอพิจารณา ซึ่งคลิปนี้ได้รั่วไหลสู่สาธารณะในปี 2014 จนกลายเป็นไวรัล
ผู้คนต่างชื่นชอบการแสดงของ Ryan Reynolds ในฐานะตัวละครฮีโร่สายปั่นที่น่ารังเกียจอย่าง Deadpool มาก จนในที่สุดก็สามารถโน้มน้าวให้สตูดิโอ 20th Century Fox เดินหน้าโปรเจกต์นี้ต่อไป แล้วลงเอยที่ทั้งสตูดิโอ และตัว Ryan Reynolds เองก็รวยเละไปตามๆกัน
-
Avatar (2009)
ติดลูปนรกแห่งการพัฒนาอยู่ 15 ปี
หนังมหากาพย์ของ James Cameron เริ่มต้นจากบท treatment ความยาว 80 หน้าในปี 1994 และมีกำหนดถ่ายทำหลังจาก Titanic แต่ James Cameron รู้สึกว่าเทคโนโลยีฮอลลีวู้ดในยุค 90 ยังไม่เหมาะสมกับวิสัยทัศน์ของเขาสำหรับโปรเจ็กต์นี้ พูดง่ายๆว่าสิ่งที่เขาคิดในหัวมันทะเยอทะยานและใช้เทคนิคพิเศษต่างๆไปไกลกว่าเทคโนโลยีจะซัพพอร์ตเนื้อหา ดังนั้น James Cameron จึงระงับโปรเจกต์นี้ไว้เพื่อรอให้เทคโนโลยีตามทันหนังของเขาเสียก่อน
งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเวลาผ่านไป ท่ามกลางความอกสั่นขวัญหายของผู้สร้าง เม็ดเงิน 237 ล้านดอลลาร์ถูกละเลงไปกับหนังที่สตูดิโอแอบคิดในใจว่ามันจะไม่ได้กำไร แต่ในที่สุด Cameron ก็เริ่มดำเนินการผลิตในปี 2550 และภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในปี 2007 แล้วทำรายได้ไป 2.923 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สมกับที่เขาเป็น The King of the world จริงๆ
-
Superbad (2007)
ติดลูปนรกแห่งการพัฒนาอยู่ 12 ปี
เพื่อนซี้ในวัยเด็กอย่าง Seth Rogen และ Evan Goldberg เขียนบท Superbad เมื่อสมัยพวกเขาเป็นวัยรุ่นในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาสามารถเขียนบทภาพยนตร์ได้ พวกเขาแก้ไขสคริปต์ตลอดช่วงมัธยมปลาย แต่โปรเจ็กต์นี้ต้องพังทลายลงเมื่อ Seth Rogen เริ่มต้นอาชีพสายนักแสดงของเขา
หลังจากร่วมงานกับ Judd Apatow มาหลายปี Rogen และ Goldberg ก็เสนอโปรเจกต์ Superbad ให้เขาในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ทว่าหนังแทบไม่มีอะไรจะขายเลย มันจึงหาสตูดิโอหรือตัวแทนจำหน่ายได้ยาก เมื่อ
Columbia Pictures เข้ามาอุ้มโปรเจกต์นี้ไว้ เพราะมองเห็นศักยภาพว่ามันจะต้องเป็นหนังวัยรุ่นแห่งยุคอย่างแน่นอน พวกเขาจึงลงทุนกับมัน แต่ปัญหาคือ Seth Rogen แก่เกินกว่าจะรับบทนี้ตามที่เขาต้องการ ดังนั้นบทนี้จึงตกเป็นของนักแสดงโนเนมอย่าง Jonah Hill และ Michael Cera ซึ่งตัวของ Seth Rogen ก็ได้ร่วมแสดงในบทหนึ่งด้วย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า หนังที่หลายๆสตูดิโอบอกปัดว่าไม่มีจุดขายใดๆ มันกลับทำเงินไปกว่า 170.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนสร้างและโปรโมทแค่ 20 ล้านดอลลาร์ ส่งให้ผู้เกี่ยวข้องในหนังทั้ง Seth Rogen , Evan Goldberg , Jonah Hill และ Michael Cera มีอนาคตสดใสในวงการจวบจนทุกวันนี้
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ