ผีเข้า กับการหวนคืน จอเงินของช่อง 3
นับตั้งแต่บริษัทฟิล์มบางกอกปิดตัวไปพร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง คนระลึกชาติ ในปี 2548 ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ก็ยุติการผลิตภาพยนตร์เพื่อฉายในโรงหนังไปเป็นเวลานานหลายปี ทิ้งไว้เพียง บางกอกแดนเจอรัส ฟ้าทะลายโจร บางระจัน องคุลิมาล โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ ทวิภพ ฯลฯ ติดอยู่ในความทรงจำของคนดู
แต่ในปี 2554 นี้ บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และอยู่ภายใต้การดูแลของ คุณประชา มาลีนนท์ ก็ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้น โดยให้ คุณเทรซี แอนน์ มาลีนนท์ บุตรสาวของคุณประชา เข้ามาควบคุมในฐานะของผู้อำนวยการสร้าง โดยได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างบริษัทมายน์ แอท เวิร์คส์ ของ คุณณฤทธิ์ ยุวบูรณ์ ในการผลิตภาพยนตร์ ด้วยเงินลงทุนเฉลี่ยเรื่องละถึง 50 ล้าน ซึ่งหนังเรื่องแรกที่ประเดิมการกลับมาทำหนังในครั้งนี้ของช่อง 3 ก็ได้แก่ "ผีเข้า" ที่ดำเนินการผลิตโดยบริษัทภาคภูมิใจ และกำกับภาพยนตร์โดย เพื่อน ภาคภูมิ วงศ์จินดา แห่ง รับน้องสยองขวัญ และ Who are you? ใครในห้อง ที่กลับคืนสู่วงการภาพยนตร์อีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปทำหนังดังสุดสัปดาห์ป้อนช่อง 3 อยู่ระยะหนึ่ง
การกลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้งของช่อง 3 จะเป็นอย่างไร จะสร้างความสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นให้กับวงการภาพยนตร์ไทยมากน้อยแค่ไหน เราจะมาฟังรายละเอียดกันจากปากของผู้บริหารใหญ่อย่าง คุณเทรซี่ แอนน์ มาลีนนท์ แห่งเวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และคุณ ณฤทธิ์ ยุวบูรณ์ แห่ง มายน์ แอท เวิร์คส์
ทำไมทางเวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ถึงได้ก้าวเข้ามาผลิตภาพยนตร์ไทยในโรงใหญ่ครับ
เทรซี แอนน์: บริษัทเราได้ทำรายการทีวีมาแล้ว เราคิดว่าธุรกิจภาพยนตร์ยังมีโอกาสเติบโตได้มากทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ เราจึงเห็นโอกาสที่จะเริ่มทำภาพยนตร์ไทย ซึ่งเราก็ใช้รายการหนังดังสุดสัปดาห์มาศึกษาตลาดว่าผู้บริโภคต้องการภาพยนตร์แบบไหน
ทีนี้ถามทาง มายน์ แอท เวิร์คส์ ซึ่งก็เริ่มต้นการทำหนังทางทีวี จากรายการหนังดังสุดสัปดาห์
ณฤทธิ์: จริง ๆ มันเริ่มจากการที่ผมทำรายการบันทึกกรรม กับเวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ มันเป็นไอเดียที่ผมคิดมาตั้งแต่เรียนอยู่เมืองนอกแล้วว่าอยากจะเอาผู้กำกับหนังมาทำงานที่มันเป็น film-look แล้วออกฉายทางทีวี ตอนแรกต้องเรียนตรง ๆ ว่าผมอยากทำเรื่องผีไปเลย แต่ทางช่อง 3 ยังไม่อยากให้เป็นผีเลย เขาอยากให้มีเนื้อหาที่ให้อะไรกับสังคมบ้าง เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ก็เลยเป็นบันทึกกรรม และตอนที่ทำทั้งสองรายการ ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับชั้นนำของประเทศหลายคน เราก็ได้ศึกษากันคุยกันตลอดว่าตลาดมันจะเป็นยังไง เลยคิดว่าเราน่าจะลองทำหนังใหญ่ได้แล้ว
การกลับมาทำหนังในครั้งนี้ จะแตกต่างจากตอนที่ช่อง 3 ทำเมื่อครั้งฟิล์มบางกอกไหมครับ
เทรซี แอนน์: ก็ยุคสมัยเปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยนไปน่ะค่ะ เราก็ต้องทำให้ถูกใจตลาด ต้องศึกษาตลาดให้ดี ต้องมองไปยังตลาดต่างประเทศด้วย ก็จะเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันกับที่ฟิล์มบางกอกเคยทำไว้ค่ะ
ณฤทธิ์: ตัวผมเองก็อยู่ที่ฟิล์มบางกอกมาก่อน คนอาจจะมองว่าหนังฟิล์มบางกอกไม่ค่อยได้กำไร แต่พอระยะเวลาผ่านไป หนังของเราไปขายต่างประเทศ เงินกลับมาหมด เราไม่ถือว่าฟิล์มบางกอกขาดทุนนะครับ
แล้วอย่างเวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ วางแนวทางการทำหนังเอาไว้อย่างไรบ้างครับ
เทรซี แอนน์: ปีนึงเราคงทำหนังประมาณ 3-4 เรื่อง แต่ละเรื่องจะมีแนวทางที่แตกต่างกัน คงไม่ใช่หนังผีทุกเรื่อง เราอยาก serve ตลาดทุก segment คนอาจจะชอบดูหนังผี แล้วก็อาจเปลี่ยนบรรยากาศดูหนังตลกบ้าง ดูหนังรักบ้าง เราคงทำหลาย ๆ แนวค่ะ
หนังจะมีอะไรที่พิเศษไปกว่าตอนที่ทำหนังดังสุดสัปดาห์ไหมครับ
เทรซี แอนน์: งบประมาณจะมากกว่าค่ะ เราวางงบสำหรับหนังโรงไว้เรื่องละ 40-50 ล้านบาท ซึ่งหนังดังสุดสัปดาห์จะมีงบจำกัดกว่าและมันเป็นฟรีทีวี ทุกคนเปิดขึ้นมาก็จะสามารถดูได้เลย แต่ว่าสำหรับหนังใหญ่ เราจะทำยังไงให้คนดูจ่ายเงินเพื่อจะไปดูหนังของเราในโรง ก็ต้องมาคิดกันตรงนั้น
เปิดมาเรื่องแรกก็เป็นหนังผีเลย
ณฤทธิ์: ชอบเป็นการส่วนตัว อยากทำหนังผีมาตลอด ตลาดต่างประเทศก็สนใจหนังผีไทย มันมีเสน่ห์
แล้วทำไมถึงเลือกคุณภาคภูมิ วงศ์จินดา มาทำหนังเรื่องแรกของทางบริษัทครับ
ณฤทธิ์: พี่เพื่อนเคยร่วมงานกับผมทำหนังดังสุดสัปดาห์กับบันทึกกรรมมาเยอะมาก และเป็นคนที่ทำเรตติ้งท็อปเท็นตลอด เราคุยกันรู้เรื่องเพราะหัวสมัยใหม่เหมือนกัน พี่เพื่อนเป็นคนที่เข้าใจตลาดมาก ๆ
"ผีเข้า" มีเรื่องราวประมาณยังไงครับ
ณฤทธิ์: เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง วันนึงผมไปนั่งทานข้าวกับผู้กำกับดัง ๆ เพื่อที่จะเอาเรื่องเรื่องนึงมาปรึกษากับเขา แล้วอยู่ดี ๆ น้องผู้หญิงที่ไปกับผมเขาก็เล่าว่า เขาเเวะไปบ้านเพื่อนที่ต่างจังหวัด และไปอยู่ในพิธีไล่ผี มีคนโดนผีเข้า แต่ต่อไปจะเป็นยังไงขอเก็บไว้ก่อน
จะมีผู้กำกับท่านอื่นมาร่วมงานกับที่นี่อีกไหม
ณฤทธิ์: มีครับ ก็คุยกับทีมงานสับปะรดของ พี่อังเคิล คุยกับ คุณโขม ก้องเกียรติ โขมศิริ ไว้ครับ
ตอนนี้ตลาดภาพยนตร์ไทยดูค่อนข้างซบเซา ภาพยนตร์ไทยที่ไม่ค่อยทำเงินมีอยู่หลายเรื่อง
ณฤทธิ์: การทำหนังมันเสี่ยง แต่เราเต็มที่ ถ้าหนังมันดีจริง ๆ มันโดนจริง ๆ คนก็รับมันครับ
แล้วคาดหวังกับการทำหนังในครั้งนี้ไว้แค่ไหนครับ
เทรซี แอนน์: เราทำงานแบบเต็มที่ค่ะ ก็หวังว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของคนดูได้
ณฤทธิ์: คาดหวังที่สุดเลยครับ ขนาดพี่เพื่อนยังบอกเลยว่าเครียดอะไรทุกวัน มันเครียด เพราะมันใหญ่ และเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก ๆ
จะมีการใช้นักแสดงในสังกัดช่อง 3 มาแสดงหนังโรงของทางเวฟฯ ด้วยไหมครับ
เทรซี่ แอนน์: ไม่จำเป็นค่ะ แล้วแต่ว่าบทไหนเหมาะกับใคร เราก็อยากสร้างคนใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วย
หมายถึงว่าจะมีการเปิดโอกาสให้คนใหม่ ๆ เข้ามาร่วมงานกับทางบริษัท?
เทรซี่ แอนน์: ใช่ค่ะ เราเปิดให้คนใหม่ ๆ เข้ามาร่วมทำงานกับคนที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว
ณฤทธิ์: แต่ถ้าเป็นผู้กำกับอาจจะต้องมีประสบการณ์มานิดนึงนะครับ มันก็เหมือนบันทึกกรรมหรือหนังดังสุดสัปดาห์ ทั้งผู้กำกับหนังใหญ่ หรือผู้กำกับละครของช่อง 3 ผมก็จะคอยศึกษาไปด้วยว่าแต่ละคนมีวิธีการเป็นยังไง
มีหนังไทยเรื่องไหนในช่วงที่ผ่านมาดูแล้วชอบไหมครับ
เทรซี่ แอนน์: ในช่วงที่ผ่านมาก็ชอบเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นหนังคุณภาพนะคะ ภาพสวย ทุกอย่างดี
งั้นจะมีโอกาสไหมที่เวฟฯ จะสร้างหนังในลักษณะเดียวกัน
เทรซี่ แอนน์: ขอเราแข็งแรงนิดนึงแล้วค่อยไปถึงจุดนั้นดีกว่า (หัวเราะ) เราขอทำหนังตลาด ๆ ที่แมสมากก่อน
ณฤทธิ์: ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าเราไม่ได้จะมาทำหนังอินดี้ เราอยากให้มันสนุกที่สุด บันทึกกรรมก็อาจจะมีบางตอนที่ดูอินดี้ เพราะเราเพิ่งเริ่มทำงาน ได้มาเรียนรู้ ได้รู้จักผู้กำกับ บางทีเราก็เปิดโอกาสให้เขาได้ลอง แต่กับหนังดังสุดสัปดาห์ ผู้ใหญ่ทางช่องมองว่าตอนบ่ายวันอาทิตย์มันต้องเอาตลาดนะ อย่ามาลีลาเยอะ ส่วนการทำหนังโรงเราก็ขอแมสไว้ก่อน
มีอะไรอยากฝากถึงผู้ชมภาพยนตร์ไหมครับ
เทรซี่ แอนน์: ทีมงานของเรามีประสบการณ์ในวงการภาพยนตร์อยู่แล้ว เราขอพื้นที่ให้เราได้แสดงความสามารถ ได้ทำงานในสิ่งที่ทีมงานรักและก็ตั้งใจทำน่ะค่ะ