Addicted Heroin EP.5 : “รัก” ในวัยเรียน เปลี่ยนมุมมองของความแรด เป็นการเรียนรู้และเติบโต
Addicted Heroin รักร้ายนายเสพติด EP.5 เล่าถึงเรื่องราวของ ฮีโร่ (ออกัส วชิรวิชญ์) กับ ป๊อป (แม็ค ณัฐพัชร์) เด็กหนุ่มที่กำลังพัฒนาความสัมพันธ์ แต่กลับพังทลายเมื่อป๊อปรู้ว่าพ่อของฮีโร่คือสามีใหม่ของแม่ซึ่งคือ “แผลของครอบครัว” ของป๊อป ป๊อปได้ไล่ฮีโร่ออกไปจากชีวิต ซึ่งฮีโร่ที่รักป๊อปได้ใช้วิธี “ร้ายๆ” ดึงป๊อปกลับไปหาเขา
อีกด้านหนึ่งโอนลี่ (นิวเยียร์ นวพรรษ) ก็แอบชอบ ไทเกอร์ (เจ๋อ วศิน) แต่ทั้งคู่ไร้เดียงสากับความรักจนทำให้ไทเกอร์รู้สึกว่าโอนลี่คุกคามจนเขาหวาดกลัว
เสพติดความรัก (Love Addiction)
เมื่อตกหลุมรักสมองจะปล่อยสารโดพามีน (Dophamine) ทำให้เกิดความสุขคล้ายกับการเสพเฮโรอีน หากได้รับมากเกินไปจะทำให้เสพติดจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เมื่อเหินห่างหรือสูญเสีย จะเกิดอาการ “ลงแดง” หงุดหงิด กระวนกระวาย และต้องการความรักมากขึ้นเรื่อยๆ ในวัยรุ่นสมองจะหลั่งโดพามีนรุนแรงกว่าและการควบคุมอารมณ์ยังไม่สมบูรณ์ จึงเสพติดรักหนักกว่าวัยอื่น
บุคคลที่มีแนวโน้มจะเกิดความสัมพันธ์เสพติดมักมีปมในวัยเด็ก เช่น ขาดความรักจากพ่อแม่ หรือมีประสบการณ์เลวร้าย ทำให้ต้องพึ่งพาความรักเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางอารมณ์ อย่างเช่นฮีโร่ เมื่อสมองของฮีโร่ถูกกระตุ้นด้วยโดพามีนทุกครั้งที่อยู่ใกล้ป๊อป มันทำให้เขาต้องการมากขึ้น จนไม่สามารถควบคุมตนเองได้
รักร้าย (Toxic Love)
คนที่มีความผูกพันไม่มั่นคงในวัยเด็ก (Insecure Attachment) มักกลายเป็นตัวทำลายล้างความสัมพันธ์ อย่างเช่นฮีโร่ ซึ่งทำให้เขารู้สึกไม่มั่นคงและกลัวการถูกทิ้ง ความรุนแรงที่พ่อทำกับเขาตั้งแต่เด็กอาจเป็นสาเหตุให้เขาใช้วิธีการที่รุนแรงเพื่อควบคุมสถานการณ์ เรื่องเล็กทำเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่ทำเป็นเรื่องวินาศสันตะโร และลงเอยด้วยการทำร้ายทั้งตัวเองและป๊อป นี่เป็นลักษณะของความรักที่เป็นพิษ (Toxic Love)
ส่วนป๊อปอาจจะเสพติดความรักไม่ต่างกัน แม้ใน Addicted Heroin EP.5 ฮีโร่จะใช้ความรุนแรงกับตัวเอง และมีแนวโน้มที่ฮีโร่จะทำอีก ความรักครั้งนี้กำลังทำร้ายตัวเอง แต่เขาก็ยังเลือกที่จะอยู่ต่อ เพราะไม่อยากให้ฮีโร่จากไปเช่นกัน ป๊อปพยายามหาเหตุผลอธิบายการกระทำของฮีโร่ว่าเป็นเพราะเขาเติบโตมากับพ่อนายพลที่ใช้ความรุนแรง และยอมรับความเสี่ยงนี้
รักในวัยเรียน: การเรียนรู้และเติบโต
วัยรุ่นที่อยู่ในช่วงพัฒนาตัวตนและเข้าสังคมมักเผชิญความท้าทายในการจัดการอารมณ์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการเติบโต การรับรู้สัญญาณเสพติด เช่น การยึดติดจนไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีอีกฝ่าย เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงความสัมพันธ์ โดยการตั้งขอบเขต การสื่อสาร และการขอความช่วยเหลือหากจำเป็น การเปลี่ยนแปลง Toxic Relationship ให้เป็น Healthy Relationship จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเติบโตและพัฒนาตนเองในทางที่ดีขึ้น เช่น ป๊อปพยายามลดความรุนแรงในความรัก โดยให้ฮีโร่สนใจเรื่องการเรียนมากกว่าการหมกมุ่นในความสัมพันธ์อย่างเดียวและสนับสนุนความฝันซึ่งฮีโร่ไม่เคยได้รับจากพ่อของตัวเอง
เปลี่ยนรักว้าวุ่นเป็นรักมั่นคงแบบครอบครัว
เมื่อเสพติดความรักผ่านไป 2-5 ปี สมองจะปรับตัวและลดความต้องการโดพามีน ทำให้ความสัมพันธ์สุขภาพดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการสื่อสารที่ดี การเคารพกัน และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน นอกจากต้องรับมือกับปัญหารักเสพติดกับฮีโร่ ป๊อปยังต้องเผชิญกับความยึดติดในความรักของพ่อ (เป๊ป ณพสิทธิ์) ที่เขาไม่อยากแบ่งให้ใคร แต่เขาก็พยายามเติบโตด้วยการจัดการอารมณ์ และยอมให้พ่อแต่งงานใหม่ ระหว่างนั้น ความรักของฮีโร่และป๊อปได้เติบโตขึ้นจากความหลงใหลเป็นความรักที่สนับสนุนและเติมเต็มซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง
ติดตามความสัมพันธ์ที่อยู่ระหว่างการเรียนรู้และเติบโต กับการเผชิญหน้ากับความ “หวง” จาก ซีล (บอล ศรัณย์วุฒิ) พี่ชายของฮีโร่ และโดนกระตุ้นความ “หึง” จากไพลิน (นิ้ง ชุติมา) แฟนเก่าของป๊อป ทั้งหมดนี้ ได้ใน Addicted Heroin รักร้ายนายเสพติด EP.5 รับชม Uncut ver. ทุกวันอังคาร 20:00 ทาง WeTV Thailand เท่านั้น
เขียนโดย: อรฉัตร พรหมเศรณี
อ่านเพิ่มเติม:
- Addicted Heroin รักร้ายนายเสพติด เผยทำไมเด็กผู้ชายชอบ “แกล้ง” คนที่สนใจ?
- Addicted Heroin EP.2: เด็กรุ่นใหม่เหงามากขึ้น ภัยความ ”โดดเดี่ยว สู่ โรคซึมเศร้า"
- Addicted Heroin EP.3: หลีกเลี่ยงความจริง “โกหก” จนหยุดไม่ได้ สัญญาณของการป่วย
- Addicted Heroin EP.4: เสพติด "สัมผัส“ แห่งความหวังดี? skinship ผิด relationship พัง
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ