ก้านกล้วย กระหึ่มโลก
หลังภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น ก้านกล้วย คว้ารางวัลพิเศษ ภาพยนตร์ยอดนิยมแห่งปี (ภาพยนตร์ที่ทํารายได้สูงสุดประจําปี) และคว้ารางวัลเกียรติยศแห่งปี รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ประจําปี ๒๕๔๙ ครั้งที่ ๒๘ ที่ผ่านมา
ทําให้แรงกดดันตกอยู่กับ ตั้ม-จาฤก กัลย์จาฤก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จํากัด ในการส่งให้ ก้านกล้วย ๒ เปรี้ยงปร้างมากกว่าภาคแรก
"ทุนสร้างในภาคนี้ทุ่มทุนไปกว่า ๑๒๐ กว่าล้านบาท ซึ่งทุนไม่ได้ด้อยไปกว่าภาคแรกเลย ยิ่งไปกว่านั้นความหวังที่สําคัญอย่างหนึ่งในการที่จะดันให้ ก้านกล้วย ๒ คว้าการ์ตูนทําเงินด้วยการเก็บรายได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านในเมืองไทย ซึ่งมากกว่าภาคแรก ๑๐๐ ล้านบาท เพราะทั้งเนื้อหาและการนําเสนอสามารถดูได้ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่ และที่เคยเกิดเป็นกระแสฟีเวอร์การ์ตูน "แอนิเมชั่น" เมืองไทยก็จะกลับมาฮิตฮอตอีกในไม่ช้า"
สําหรับเทคนิคพิเศษมีการนำเอาโปรแกรม Massive (ซอฟท์แวร์) ระดับฮอลลีวู้ด ที่สามารถขยายภาพของตัวละครที่มีเป็นกลุ่มใหญ่ตั้งแต่จํานวนหลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น พร้อมเพิ่มช็อตให้ได้มากกว่า ๑๐๐ ช็อตได้อย่างง่ายดาย
ด้วยการผลิตงานคุณภาพไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ทําให้ทุกช็อตทุกเฟรมละเอียดและประณีตที่สุดแล้ว จนทําให้ตัวภาพยนตร์ที่มีเครดิตดีจากภาคแรกนั้น มีต่างชาติรุมให้ความสนใจซื้อลิขสิทธิ์อยู่หลายแห่ง อาทิ เช่น ไวด์สกรีน ผู้จัดจําหน่ายเดิม รวมถึง โซนี่ พิคเจอร์ส และวอร์เนอร์ บราเธอร์ส
ส่วนการคาดการณ์เรื่องรายได้ บิ๊กกันตนา กล่าวว่า เนื่องจากภาคแรกที่ทํายอดขายได้ต่างประเทศกว่า ๑ ล้านเหรียญ และในภาคนี้จะถูกขับเคลื่อนมากกว่าเดิม ซึ่งตัวเลขน่าจะอยู่ประมาณ ๑๐ ล้านเหรียญ ในตลาดต่างประเทศ
"ด้วยเหตุที่ ก้านกล้วย ภาคแรก ได้สร้างเครดิตอย่างดีเอาไว้ ทําให้หลายสตูดิโอในต่างประเทศ ต่างก็สนใจที่ไม่ใช่แค่ซื้อลิขสิทธิ์อย่างเดียว แต่ยังอยากร่วมลงทุนและต้องการให้ทางสตูโอผลิตงานการ์ตูนระดับชาติอีกในอนาคตอยู่หลายประเทศ ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการเจรจา" บิ๊กกันตนากล่าว และจากการประเมินสถานการณ์มีความเป็นไปได้สูงที่คนไทยจะได้รับฟังข่าวดีชิ้นนี้
"เรื่องลิขสิทธิ์ต่างๆ ของ ก้านกล้วย ๒ ที่ผลิตออกมาเป็นของพรีเมียร์ของเหล่าพันธมิตรในประเทศ คาดการณ์ว่าจะคว้ารายได้ประมาณ ๓๐ ล้านบาท โดยลิขสิทธิ์ที่เคยทําไว้ในตลาดปัจจุบันมีมูลค่าเกือบพันล้านบาท ผู้สนับสนุนรายใหญ่ๆ ตอนนี้มีแล้วถึง ๘ ราย เช่น ธนาคารกรุงเทพ เอไอเอส โออิชิ โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพียงรายเดียวที่สนับสนุนต่อเนื่องจากภาคแรก ซึ่งเดิมคาดหวังว่าจะมีถึง ๑๐ พันธมิตรหลัก" บิ๊กกันตนา จาฤก กัลย์จาฤก กล่าว