โลโก้นี้ท่านได้แต่ใดมา

โลโก้นี้ท่านได้แต่ใดมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
The Majestic Mountain Paramount Pictures พาราเมาท์ พิคเจอร์ส ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1912 โดย อดอล์ฟ ซูเคอร์ และพี่น้อง แดเนียล กับ ชาร์ล ฟรอห์แมน ชื่อ “พาราเมาท์” นั้นได้มาจากชื่ออพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในฮอลลีวูด ส่วนภาพภูเขาที่เป็นโลโก้ของสตูดิโอถูกร่างขึ้นครั้งแรกโดย วิลเลี่ยม วอดสเวิร์ธ ฮอดกินสัน โดยมีภูเขาเบน โลมอนด์ ในรัฐยูท่าห์เป็นต้นแบบ สำหรับดาวที่ล้อมรอบภูเขาเคยมีทั้งหมด 24 ดวง โดยมาจากจำนวนสาขาของสตูดิโอที่มีอยู่ทั่วอเมริกา แต่ต่อมาถูกลดเหลือ 22 ดวง เนื่องจากต้องปิดตัวลงไป 2 สาขา โลโก้ของพาราเมาท์เคยเปลี่ยนมาแล้วถึง 7 เวอร์ชั่น นับเป็นโลโก้ที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาสตูดิโอที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน สำหรับเวอร์ชั่นปัจจุบันนั้นเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2002 โดยเปลี่ยนภูเขาต้นแบบเป็นภูเขาอาร์เตซอนราจู ในประเทศเปรูแทน The Torch Lady Columbia Pictures สำหรับสตูดิโอโคลัมเบียนั้นถือกำเนิดครั้งแรกตั้งแต่ปี 1919 โดยพี่น้อง แฮร์รี่ และ แจ็ค คอห์น ภายใต้ชื่อ Cohn-Brandt-Cohn เป็นบริษัทที่สร้างแต่หนังทุนต่ำ จากนั้นก็พัฒนาเป็นโคลัมเบีย พิคเจอร์ในปี 1924 พร้อมเปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็น “เทพีคบเพลิง” โดยมีต้นแบบมาจาก เซเรเน่ เทพีแห่งดวงจันทร์ในเทพนิยายกรีก เหมือนกับต้นแบบของเทพีเสรีภาพ จากนั้นโลโก้เทพีคบเพลิงก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยมีหญิงสาวที่เป็นต้นแบบมาแล้วหลายคน จนกระทั่งในเวอร์ชั่นปัจจุบันที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1993 นั้นออกแบบโดย ไมเคิล เจ.ดิแอส ครั้งแรกที่โลโก้ถูกใช้ในหนัง มีข่าวลือว่าต้นแบบคือ แอนเน็ต เบนนิ่ง เพราะหน้าตาคล้ายกันเหลือเกิน แต่ความจริงแล้วต้นแบบคือ เจนนี่ โจเซฟ สาวแม่บ้านธรรมดาคนหนึ่งที่ดิแอสเลือกมา Leo the Lion Metro-Goldwyn-Mayer (MGM) สัญลักษณ์สิงโตคำรามถูกออกแบบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1916 โดยเป็นของบริษัท Goldwyn Pictures ต่อมาในปี 1924 ได้รวมบริษัทเข้ากับ Metro Pictures และ Mayer Pictures กลายเป็นสตูดิโอ Metro-Goldwyn-Mayer หรือ MGM และยังใช้โลโก้สิงโตคำรามเช่นเดิม สิงโตที่เป็นนายแบบในโลโก้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เคยใช้มาแล้วทั้งหมด 5 ตัว ตัวแรกชื่อสแลท เป็นสิงโตที่ไม่มีใครเคยได้ยินเสียง เพราะเป็นยุคหนังเงียบ ตัวที่สอง ชื่อ แจ็คกี้ เป็นตัวแรกที่มีเสียงคำราม ส่วนตัวที่สาม ชื่อ แทนเนอร์ เป็นตัวแรกที่ใช้ในยุคหนังสี ตัวที่ 4 เป็นตัวคั่นเวลา เนื่องจากไม่มีชื่อ และใช้อยู่เพียง 2 ปี (1956-58) สำหรับตัวที่ห้า ใช้มาตั้งแต่ปี 1958 จนถึงปัจจุบัน โดยมีชื่อว่าเจ้า ลีโอ The Searchlight Logo 20th Century Fox ในปี 1935 บริษัท Twentieth Century Pictures และ Fox Film Company ได้รวมตัวกันก่อตั้งสตูดิโอ Twentieth Century-Fox Film Corporation และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Twentieth Century Fox Film Corporation (สังเกตดูเองว่าต่างกันตรงไหน) เดิมโลโก้นี้เป็นของ Twentieth Century Pictures เมื่อรวมเข้ากับ Fox Film Company ก็เล่นง่ายๆ ด้วยการใส่คำว่า Fox เข้าไปแทนที่คำว่า Pictures,Inc. ที่เป็นของเดิม โลโก้นี้ออกแบบโดย เอมิล โคซ่า ที่เคยออกแบบภาพซากเทพีเสรีภาพใน Planet of the Apes ฉบับปี 1968 ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์จริงๆ ของโลโก้นี้ก็คือดนตรีประกอบ 20th Century Fanfare โดยฝีมือของ อัลเฟรด นิวแมน คอมโพเซอร์ในตำนานของฮอลลีวูด The WB Shield Warner Bros. สตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอร์สก่อตั้งโดยสี่พี่น้องชาวยิวตระกูล วอนสโกลาเซอร์ ได้แก่ แฮร์รี่, อัลเบิร์ต, แซม และ แจ็ค ก่อนจะเปลี่ยนนามสกุลเป็น วอร์เนอร์ สำหรับวอร์เนอร์ บราเธอร์สนั้นเป็นสตูดิโอแรกๆ ที่เริ่มสร้างหนังมีเสียง (หนึ่งในนั้นคือ The Jazz Singer) ทั้งที่แฮร์รี่พี่ใหญ่ของตระกูลเคยพูดไว้ว่า “ใครจะไปอยากฟังเสียงนักแสดงพูดกันล่ะ” เอกลักษณ์ของโลโก้วอร์เนอร์ก็คือสัญลักษณ์รูปโล่ และมีตัวอักษร WB อยู่ข้างในมาตั้งแต่แรก แต่มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วถึง 11 เวอร์ชั่น โดยเวอร์ชั่นปัจจุบันนั้นเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1993 เป็นการย้อนกลับไปใช้รูปแบบโลโก้ที่สตูดิโอเคยใช้ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มีการพัฒนากราฟฟิคให้ทันสมัยขึ้น Boy on the Moon DreamWorks SKG สตูดิโอน้องใหม่ (เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว) ที่ก่อตั้งโดยสามเจ้าพ่อแห่งฮอลลีวูด สตีเว่น สปีลเบิร์ก, เจฟฟรี่ย์ แคตเซนเบิร์ก และ เดวิด เกฟเฟ่น โดยตอนที่คิดไอเดียโลโก้ของสตูดิโอ สปีลเบิร์กต้องการให้โลโก้มีกลิ่นอายของฮอลลีวูดยุคทอง แบบแรกที่คิดไว้คือผู้ชายตกปลาอยู่บนพระจันทร์เต็มดวง โดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิคสร้าง แต่ เดนนิส มูเรน จาก ILM ที่ร่วมงานกับสปีลเบิร์กมานาน เห็นว่าถ้าอยากให้ดูคลาสสิค ควรจะใช้ดินสอวาดมากกว่า หน้าที่นี้จึงตกเป็นของนักวาดภาพชื่อดัง โรเบิร์ต ฮันท์ เขาได้ดัดแปลงโลโก้ดั้งเดิมเสียใหม่ ให้พระจันทร์เหลือเพียงเสี้ยวเดียว แล้วก็เปลี่ยนจากผู้ชายมาเป็นเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็น วิลเลี่ยม ฮันท์ ลูกชายของเขานั่นเอง สปีลเบิร์กชื่นชอบโลโก้ฝีมือของฮันท์มากกว่าของเดิม จึงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสตูดิโอดรีมเวิร์คอย่างที่เห็น

เนื้อหาสนับสนุนจาก

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ โลโก้นี้ท่านได้แต่ใดมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook