วิจารณ์หนัง A Christmas Carol
วันนี้เราเปลี่ยนบรรยากาศมาดูหนังอนิเมชั่นกันบ้างดีกว่านะครับ ไหนๆ ช่วงนี้ก็ใกล้ปีใหม่เข้ามาทุกที ก็อยากจะหาอะไรที่รื่นเริงดู ดีกว่านะครับ ก่อนจะถึงวันปีใหม่จะต้องถึงวันคริสต์มาสก่อน และเป็นประจำในทุกๆ ปี ที่จะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับวันคริสต์มาสออกฉายทั่วโลก ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน มีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับวันคริสต์มาสที่เด่นๆ อยู่เรื่องหนึ่ง นั้นคือเรื่อง อาถรรพณ์ วันคริสต์มาส หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า A Christmas Carol
ถ้าเป็นชาวต่างประเทศโดยเฉพาะพวกฝรั่ง คงจะรู้จักกับชื่อ A Christmas Carol เป็นอย่างดี ก็เพราะว่าเรื่องนี้นอกจากจะเป็นนิยายสั้นที่โด่งดังมากจนกลายเป็นเรื่องเล่าประจำวันคริสต์มาสไปแล้ว (เขียนและแต่งโดยชาร์ลส์ ดิ๊คเก้นส์) ยังเคยเป็นการ์ตูนอนิเมชั่น 2D อีกด้วย นิยายสั้นเรื่อง A Christmas Carol ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1843 และประสบผลสำเร็จเกินคาด จนได้รับการยกย่องว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวันคริสต์มาส ที่ยอดเยี่ยมที่สุด จนกลายเป็นเรื่องราวประจำวันคริสต์มาสไปเลย A Christmas Carol ถือเป็นงานเขียนเรื่องแรกที่มีการกล่าวถึงเรื่องของการย้อนเวลา และอาจจะเป็นเรื่องของผีเรื่องแรกที่มีคนรักมากที่สุดในโลกอีกด้วยก็ได้
โรเบิร์ต เซเมคกิส (Robert Zemeckis) ผู้ที่สร้างและเป็นผู้ลงทุนเขียนบทเรื่องนี้ รู้สึกว่าเขาจะติดอกติดใจกับการทำหนังอนิเมชั่นด้วยเทคนิคเพอร์ฟอร์แมนซ์ แคปเจอร์ เสียแล้ว เพราะว่าก่อนหน้านี้เขาก็ทำหนังอนิเมชั่นที่อิงผู้แสดงนำที่มีตัวตนจริงอย่างนี้มาแล้วถึง 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ The Polar Express และเรื่อง Beowulf (การใช้เทคนิคเพอร์ฟอร์แมนซ์ แค๊ปเจอร์ คือกระบวนการที่จะบันทึกการแสดงของนักแสดงด้วยกล้องคอมพิวเตอร์แบบ 360 องศา นักแสดงก็แสดงไปตามปกติตามบทที่เขาได้รับ จากนั้นก็จะบันทึกเข้าคอมพิวเตอร์แล้วนำไปปรับให้เป็นเหมือน ภาพอนิเมชั่นอีกที) แต่ถ้านับงานทั้งหมดของคุณ โรเบิร์ต เซเมคกิส แล้ว เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ 15 ของเขา ส่วนเรื่องที่ทำชื่อเสียงให้กับเขามากๆ น่าจะเป็นเรื่อง โง่อัจฉริยะ (Forrest Gump) และเรื่อง เจาะเวลาหาอดีต (Back to the Future) นั่นเอง
เรื่องย่อๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ (ถ้าใครยังไม่ได้ไปดูและไม่ต้องการทราบเรื่องย่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนเข้าชม ให้ข้ามย่อหน้านี้ไปเลย) A Christmas Carol เป็นเรื่องราวของตาเฒ่า เอเบนีเซอร์ สครูจ (ให้เสียงพากย์และต้นแบบการแสดงโดย จิม แคร์รี่ย์) ่าที่มีนิสัยไม่ดี ขี้งกเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว และโมโหง่าย โดยที่ตัวเขาเองไม่เชื่อว่า
วันแห่งความสุขอย่างวันคริสต์มาสที่เขาเฉลิมฉลองกันทั่วโลก จะเป็นวันแห่งความสุขจริงๆ เขาเริ่มต้นวันหยุดคริสต์มาสด้วยการพูดจาดูถูกถากถางคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเขาเหมือนที่เขาเคยทำเป็นประจำทุกวัน อนึ่งเหมือนว่าวันคริต์สมาสก็เป็นวันธรรมดาวันหนึ่งทั่วไปไม่เห็นจะเป็นวันพิเศษอะไร จากนั้นก็ไปตะคอกใส่เสมียนที่ซื่อสัตย์ของเขา (แกรี่โอลด์แมน / Gary Oldman) และหลานชายที่แสนดี (โคลิน เฟิร์ธ / Colin Firth) ของเขาอีกคนด้วย หลังจากที่เขากลับถึงบ้านในคืนนั้น เขาก็ได้พบกับวิญญาณของ เจค็อบ มาร์ลี่ย์ หุ้นส่วนทางธุรกิจของเขาที่เสียชีวิตไปนานแล้ว วิญญาณของมาร์ลี่ย์ต้องทนทุกข์ทรมานหลังจากเขาได้เสียชีวิตลง เพราะความเลวร้ายของตัวเขาเองในตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาจึงไม่อยากให้เฒ่าสครูจเป็นเหมือนเขา จึงบอกว่าจะมีวิญญาณสามตนมาเยือนเฒ่าสครูจ และเมื่อวิญญาณคริสต์มาสอดีต วิญญาณคริสต์มาสปัจจุบัน และวิญญาณคริสต์มาสอนาคต มาหาเฒ่าสครูจ และได้พาเขาสู่ห้วงเวลาแห่งความจริงที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนเขาได้เห็นความโหดร้ายและสยดสยองในสิ่งที่เขาเคยทำไว้เขาต้องเปิดหัวใจตัวเองเพื่อแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดที่เขาเคยกระทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาให้ได้
จิม แคร์รี่ย์ (Jim Carrey) ที่มารับบทตาเฒ่าสครูจในเรื่องนี้ ผมว่าเขาเป็นนักแสดงตลกชายเพียงคนเดียวในฮอลลีวู้ด ที่ไม่มีใครสามารถเลียนแบบการแสดงของเขาได้ ผมติดใจการแสดงของคุณจิม แคร์รี่ย์ มาตั้งแต่เขาแสดงเรื่อง นักสืบซุปเปอร์เก๊ก (Ace Ventura) ทั้งภาค 1 และ 2 รวมถึงเรื่อง หน้ากากเทวดา (The Mask) อีกเรื่องที่ทำให้ จิม แคร์รี่ย์ เป็นที่รู้จัก
และภาพยนตร์ที่พลิกบทบาทของเขาอีกเรื่องคือ The Number 23 ก็เป็นการพลิกคาแร็คเตอร์ครั้งสำคัญของจิม แคร์รี่ย์ ไม่น่าเชื่อว่าดาราตลกอย่างจิม จะสามารถเล่นบทดราม่าในภาพยนตร์ฆาตกรรมต่อเนื่องได้ การแสดงของจิม แคร์รี่ย์ ผมว่าน่าจะเรียกว่าเป็นการแสดงแบบ โอเวอร์ แอ็คติ้ง (Over Acting) ก็น่าจะได้ คุณจิม แคร์รี่ย์ มักจะแสดงอาการแบบเวอร์ๆ บ้าๆ ต๊องๆ ให้เห็นอยู่เป็นประจำ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีเสียด้วย มักจะเรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ดูอยู่เสมอ บางสิ่งบางอย่างที่เราคิดว่านักแสดงทั่วๆ ไปไม่น่าทำได้ แต่จิม แคร์รี่ย์ ทำได้ครับ เขาเลยกลายเป็นนักแสดงที่โดดเด่นของฮอลลีวู้ดมาก
ดูเรื่องนีวได้อะไร หลังจากที่ผมดูจบแล้วผมว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะกับคนที่มองโลกในแง่ร้ายๆ อยู่เสมอมาก ซึ่งแก่นแท้ของเรื่องถ้าเป็นพวกทางยุโรป ก็น่าจะเรียกว่าเป็นการ ไถ่บาป ถ้าเป็นภาษาไทยก็น่าจะเรียกว่า การกลับตัวกลับใจ บางสิ่งบางอย่างที่เราทำไปทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ก็ตาม
แต่ถ้าเราทำไปจนทำให้คนอื่นหรือคนรอบข้างต้องเดือดร้อน โดยที่เราไม่เคยแยแสใส่ใจกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากที่เราได้กระทำเอาไว้ นั้นคือสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ฉายให้เราเห็น คนที่มองเห็นทางสว่าง คนที่มองเห็นผลลัพธ์จากการกระทำของตนเอง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งผลดีและผลร้าย คนที่สามารถมองเห็นในสิ่งที่ไม่ดีที่ตัวเองทำไว้ แล้วกลับตัวกลับใจแก้ไขให้ถูกต้อง ผมว่ามันเป็นอะไรที่วิเศษมากๆ เลย ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ฝากเอาไว้เยอะเลยทีเดียว
สรุปแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากจะมีภาพอนิเมชั่นสวยๆ แล้ว ยังให้ข้อคิดกับผู้ดูอีกมากเลย ถึงแม้จะเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นหรือบางคนคิดว่าเป็นหนังการ์ตูนธรรมดาๆ แต่ถ้าคุณลองสัมผัสดูแล้ว จะรู้ว่าโลกของภาพยนตร์ที่สนุกๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพยนตร์ที่มีคนแสดงทั้งเรื่องเสมอไป ภาพยนตร์อนิเมชั่นก็เป็นอีก 1 ทางเลือกที่รอให้คุณได้สัมผัสมันและเข้าใจในโลกของภาพยนตร์มากขึ้น ตามปกติแล้วผมก็ไม่ค่อยได้ดูหนังอนิเมชั่นเท่าไหร่นัก จำได้ว่าล่าสุดที่ดูคือเรื่อง วอร์อี (Wall.E) สนุกดีครับ พอมาเรื่อง A Christmas Carol ผมก็เลยไม่อยากพลาด และถ้าคุณชอบภาพยนตร์อนิเมชั่นด้วยแล้วผมก็ไม่อยากให้คุณพลาดเหมือนกันครับ...
บทวิจารณ์โดย : TCK E-mail :TCK05@sanook.com