วิจารณ์หนัง สามชุก

วิจารณ์หนัง สามชุก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สามชุก เป็นชื่อของอำเภอๆ หนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่อำเภอนี้มีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออยู่สถานที่หนึ่งคือ “ตลาดร้อยปีสามชุก” ก็อย่างที่ชื่อบอกนั่นแหละ เป็นตลาดเก่าแก่ที่มีมานมนานแล้ว ผมเคยมีโอกาสได้ไปเดินเที่ยวดูของที่ตลาดแห่งนี้ก็ 2-3 ครั้ง ตลาดแห่งนี้มีของที่ขายแปลกๆ กว่าตลาดทั่วไปหลายอย่าง เรียกว่าต้องมาที่แห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้นถึงจะได้เห็น ถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวเลยทีเดียว ชาวตลาดมีอัธยาศัยดีครับ ดีจนผมไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า เมื่อก่อนนี้ “สามชุก” เป็นแหล่งที่มีเยาวชนติดยาเสพติดเยอะมาก เยอะขนาดมาเมายาอาละวาดในตลาดแห่งนี้ ทันทีที่ผมได้ข่าวว่า คุณธนิตย์ จิตนุกูล (ปื๊ด) ผู้กำกับที่เคยมีผลงานออกมาให้เราชมมากมายหลายเรื่องด้วยกัน จะมากำกับหนังเรื่อง “สามชุก” (เรื่อง “สามชุก” น่าจะเป็นภาพยนตร์ในการกำกับของคุณปื๊ดลำดับที่ 20) หนังที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากเรื่องจริงของเด็กติดยาเสพติด 7 คน มา สร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ทำให้ผมสนใจขึ้นมาทันที เมื่อพูดถึงคุณธนิตย์ จิตนุกูลแล้ว หลังๆ ภาพยนตร์ของเขาไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จทั้งด้านรายได้ และคำวิจารณ์เสียเท่าไหร่ เริ่มตั้งแต่เรื่อง สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา, สะใภ้บรื๋อ, ลางหลอกหลอน, ขุนศึก, ขุนแผน, แรกบิน (รักสยามเท่าฟ้า) แม้แต่หนังที่ดูจากหนังตัวอย่างแล้วทำท่าจะดี อย่าง 102 ปิดกรุงเทพฯ ปล้น ก็แป้กสนิท แต่ในส่วนตัวของผมคิดว่านี่เป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น งานดีๆของคุณปื๊ดก็มีมากมายหลายเรื่อง และ สามชุก นี้น่าจะเป็นหนังอีกเรื่องของคุณปื๊ดที่เป็นหนังที่ดี ต้องยอมรับอีกเรื่องคือ “ยาเสพติด” นั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ เลย มันเคยหายหรือเบาลงไปพักหนึ่งเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันมันก็กลับมาทำลายลูกหลานของคนไทยกันอีก แม้ในตัวหนังเรื่องนี้ จะเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่งในสังคมไทยที่มีเยาวชนติดยา แต่เรื่องยาเสพติดนี้คิดว่ามีทุกภาคและทุกซอกทุกมุมแน่ๆ สำหรับบทของครูพินิจ ผมทราบว่ามีตัวตนจริงๆ (แสดงโดยคุณปรเมศร์ น้อยอ่ำ) ผมขอยกย่องคุณครูท่านนี้มาก จะมีครูสักกี่คนที่กล้าออกมาบอกกับคนในชุมชนถึงปัญหาของยาเสพติดเช่นนั้น จะมีครูสักกี่คนที่ยอมทะเลาะกับพ่อแม่ของเด็กติดยา ที่พ่อของเด็กบอกว่า “นั่นมันลูกผม” แล้วครูก็บอกกลับมาว่า “ นั่นมันก็ศิษย์ผมเหมือนกัน” การติดยาเสพติดเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง (ที่เขาไม่ติด) ถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นเด็กเหลือขอ เป็นเด็กไม่มีอนาคต แต่ครูพินิจกลับมองอีกมุม ครูมองว่าเด็กที่ติดยาพวกนี้คือลางที่บอกเหตุในชุมชน การที่จะตัดโอกาสหรือตัดอนาคตเด็กพวกนี้ เด็กที่ทำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างเช่น จับเข้าคุกหรือให้ย้ายออกจากโรงเรียนมันเป็นเรื่องง่าย แต่ก็จะมีลูกหลานรุ่นอื่นๆ หรือรุ่นต่อๆ ไปเป็นอย่างนี้อีก วันนี้เป็นเด็กพวกนี้ วันข้างหน้าอาจจะเป็นลูกหลานคุณก็ได้ ถ้าคุณไม่รีบหาทางป้องกัน ผมดีใจแทนทุกๆ คนในอำเภอสามชุกนะครับที่มีอาจารย์ดีๆ อย่างนี้ สำหรับด้านการแสดง คุณปรเมศร์ แสดงได้ดีมากครับ ผมติดใจในการแสดงของคุณปรเมศร์ในเรื่อง บอดี้ศพ 19 มาแล้วครั้งหนึ่ง กลับมาครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังเลยครับ และก็ต้องขอชมทีมคัดเลือกนักแสดงด้วย เด็กทั้ง 7 คน เล่นได้ดีมากครับ เริ่มตั้งแต่ตัวเอกของเรื่องเลยอย่าง วาล (ธีรภัทร์ แย้มศรี-หมู) ถึงแม้จะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ แต่ก็เล่นได้ดีมากครับ อาจจะเป็นเพราะน้องหมูเป็นคนสุพรรณด้วยก็ได้ สำเนียงเหน่อได้ใจเลยทีเดียว ในบทของวาลนั้นถือเป็นเมนหลักของเรื่อง เพราะวาลเป็นตัวที่นำยาเข้ามาในกลุ่มเพื่อนๆ ทั้ง 6 แต่ดูรวมๆ แล้วพื้นฐานของเด็กทั้ง 7 คนในเรื่องไม่มีเด็กคนไหนเป็นเด็กไม่ดีเลยนะครับ แต่บทของวาลนั้นจะค่อนข้างหนักหน่อย นักแสดงอีกคนที่เล่นกับบทของวาลได้ดีก็คงเป็นบทแม่ของวาล (ธนาภา ชีพนุรัตน์/แม่ของคุณตั๊กบงกช คงมาลัย) เล่นได้ดีจนผมน้ำตาซึมไปหลายฉากเหมือนกัน หลายคนที่ไปดูเรื่องนี้อาจจะสงสัยว่า ตัววาลเองรู้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและเกิดขึ้นกับครอบครัวเป็นอย่างดี แสดงออกว่ารักแม่มากไม่อยากให้แม่ผิดหวังหรือร้องไห้อีก แต่ถึงขนาดสัญญากับแม่แล้วว่าจะไม่ไปติดยาเสพติดอีก แต่จนแล้วจนรอดก็กลับไปติดซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายหน ทำไม? ผมกลับมาคิดหลายตลบเลยทีเดียว แล้วในที่สุดผมก็คิดได้ ผมว่าเด็กพวกนี้ต้องการคนที่เข้าใจเขาจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่พ่อแม่ แค่นั้นมันไม่พอ เขายังคงอยากได้ความรักและความเข้าใจจากคนรอบข้างด้วย กับแฟน กับเพื่อน กับคนที่อยู่รอบๆ เขา หรือเรียกอีกอย่างคือ “เขาต้องการพลังใจ” เป็นอย่างมาก การที่จะเลิกยาเสพติดสำหรับเด็กๆ อย่างพวกเขา ไม่ใช่เรื่องที่เลิกกันง่ายๆ เลย เรียกว่ายากที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ “กำลังใจ” และ “ความเข้าใจ” จากคนรอบข้างเท่านั้นที่จะทำให้เขาเลิกยาได้ บทของตัวละครอีกคนที่ทำให้ผมน้ำตาซึมๆ ก็คงเป็นบทของ พัน (พิเชษฏ์พงษ์ โชคประดับ) อาจจะเป็นเพราะพันไม่มีทั้งพ่อและแม่ กับคนที่อาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ได้ให้ความรักเขาเท่าที่ควร สงสารในตอนที่ต้องออกมานอนนอกบ้านบ่อยๆ ในยามที่คนในบ้านต้องทำกิจกรรมส่วนตัว สงสารในตอนที่พันพยายามหนีทุกสิ่งทุกอย่างท่ามกลางสายฝน แม้ว่าอาจารย์พินิจจะตามมาเรียกและสุดท้ายเขาก็รู้ว่าใครรักเขามากที่สุด สงสารตอนที่พันบอกกับคุณครูพินิจว่า “ครูเป็นพ่อผมอีกคนได้ไหมครับ” เรียกว่าฉากนี้น้ำตาซึมเลยทีเดียว คำถามที่ผมอึ้งเหมือนกันมีตอนหนึ่งคือ “ครูรู้ว่าผมเป็นเด็กไม่ดีแล้วครูมายุ่งกับผมทำไม?” เป็นคำถามที่แท่งใจมาก สำหรับคนที่ไปดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว ก็คงหาคำตอบอึ้งๆ กับคำถามนี้ได้แล้วนะครับ หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ผมบอกตามตรง ผมอิจฉาชุมชนสามชุกมาก ชุมชนสามชุกเป็นอีก 1 ตัวอย่างที่เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ทุกคนในชุมชนรักกันเป็นอย่างดี ดูแลซึ่งกันและกัน ดูแลเรื่องยาเสพติดในชุมชนไม่มีให้เข้ามารบกวนลูกหลานเป็นอย่างดี หนังเรื่องนี้ผมว่าเป็นหนังสีขาว เป็นหนังที่ช่วยรณรงค์เรื่องของยาเสพติด ไม่ใช่เป็นหนังที่เกี่ยวกับพวกค้ายาเสพติดที่ยิงกันสนั่นเลือดท่วมจอไม่ใช่หนังตลกโปกฮาที่มีอยู่เกลื่อนตลาดหนังทั่วไป แต่เป็นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด เป็นหนังที่ดีครับ แต่เรื่องรายได้ไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน อยากชวนให้ดูกันครับ คนที่เป็นพ่อแม่ยิ่งน่ามาดูใหญ่ ส่วนเด็กที่ดูดบุหรี่ติดยา ไม่รู้ว่าอยากมาดูหรือเปล่า แต่อยากให้มาดูอีกมุมมองหนึ่งที่ได้จากหนังเรื่องนี้ก็คือ การให้โอกาส ไม่ใช่ว่าคนที่พลาดติดยาเสพติดไปแล้วจะให้เขาพลาดไปเลย ขอเพียงแค่สังคมรอบๆ ที่เขาอยู่ให้โอกาสพวกเขาได้พิสูจน์ตัวเองบาง ว่าพวกเขาสามารถเลิกยาได้ อย่าปล่อยให้พวกเขาเป็นไปยามยถากรรม ถ้าเราปล่อยไปอย่างนั้นก็เท่ากับว่าปัญหามันไม่จบแน่นอน คนที่ติดยาคนต่อไปอาจจะเป็นลูกหลานของเราก็ได้ ส่วนคนที่กลับตัวกลับใจได้แล้วก็อาจจะกลายเป็นฟันเฟืองและเป็นกำลังที่สำคัญของชุมชนนั้นๆ ที่จะทำให้เข้มแข็งขึ้น และคุณก็คือส่วนหนึ่งในสังคมที่สามารถช่วยเหลือกันในเรื่องนี้ได้ครับ...

บทวิจารณ์โดย TCK E-mail :TCK05@sanook.com

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง สามชุก

วิจารณ์หนัง สามชุก
วิจารณ์หนัง สามชุก
วิจารณ์หนัง สามชุก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook