วิจารณ์หนัง ความสุขของกะทิ
น้อยครั้งนักที่เราจะได้ดูภาพยนตร์ที่ถูกสร้างมาจากวรรณกรรมดีๆ สักเล่ม เอาชนิดที่ว่าเป็นวรรณกรรมที่ยอมรับกันมาก่อน (ไม่ใช่สร้างไปเขียนไปและออกมาพร้อมหนัง หรือมีหนังออกมาก่อนแล้วค่อยมีหนังสือออกตามมา) วรรณกรรมที่มีผู้อ่านมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ วรรณกรรมที่มียอดพิมพ์และยอดจำหน่ายสูงๆ วรรณกรรมที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายๆ ประเทศ และเรื่อง ความสุขของกะทิ ก็อยู่ในส่วนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ความสุขของกะทิ เป็นวรรณกรรมของคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ (เห็นนามสกุลก็รู้แล้วนะครับว่าเป็นญาติกับใคร) หนังสือเล่มนี้ไปได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2549 มา จึงทำให้โด่งดังมากในแวดวงของนักอ่าน ซึ่งมียอดตีพิมพ์ 58 ครั้ง ยอดจำหน่ายกว่า 250,000 เล่ม นอกจากนี้ยังถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 7 ภาษา และขายในต่างประเทศถึง 8 ประเทศด้วยกันคือ อเมริกา, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สเปน-คาตาโลเนีย, เกาหลี และลาวอีกด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจเลย เมื่อมีข่าวว่าเนื้อเรื่องจากหนังสือเล่มนี้จะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ขึ้นมา ในบรรดาคอนักอ่านที่เคยอ่านเรื่องนี้มาแล้วจะดีใจเฮฮาปาร์ตี้ขนาดไหน รวมไปถึงนักดูภาพยนตร์อีกหลายๆ คนด้วยที่อยากรู้ว่าเรื่องราวมันเป็นมายังไง
ในด้านผู้กำกับ คุณเจนไวยย์ ทองดีนอก ถ้าจะเรียกว่าผู้กำกับมือใหม่ก็คงไม่ถนัดนัก เพราะคุณเจนไวยย์เคยมีผลงานเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลมาหลายเรื่องแล้ว แล้วยังรั้งตำแหน่ง PRODUCTION SUPERVISOR ของบริษัท สหมงคลฟิล์ม อีกด้วย และได้มากำกับหนังใหญ่เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก หนังเรื่องนี้ก็ถูกกำหนดให้ฉายเป็นเรื่องแรกในปี 2552 ใกล้กับวันเด็กแห่งชาติพอดี
ความสุขของกะทิ กล่าวถึงเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุประมาณ 9 ขวบคนหนึ่ง ที่ต้องเสียแม่อันเป็นสุดที่รักไปก่อนวัยอันควร ทำให้กะทิต้องผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ที่จะได้รับ ความสุข ความทุกข์ ความผูกพัน และการพลัดพราก ความสมหวัง ความผิดหวัง และการสูญเสีย ที่มากเกินกว่าเด็กในวัยเดียวกันจะรับไหว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กะทิ ก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จาก "ลิ้นชักแห่งความทรงจำ" ที่แม่ของกะทิเตรียมไว้ให้ก่อนสิ้นลมหายใจ ว่าความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียนั้น ไม่สามารถพรากความสุขที่เกิดจากความรักและความผูกพันของแม่ที่มีต่อลูกได้...
ในตัวภาพยนตร์พยายามจะเก็บฉากบรรยากาศอันอบอุ่นต่างๆ ของเรื่องมาให้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นภาพของ สายลมที่พัดแรงจนผ้าปลิวไปไกล สายฝนโปยปราย แสงแดดยามเช้า ทุ่งหญ้าเขียวขจี แผงไม้ที่เรียงกันเป็นระเบียบของศาลาริมน้ำ น้ำไหลจากหลังคารั่ว ฯลฯ เรียกว่าเก็บบรรยากาศทุกช็อตเลย และเป็นภาพที่สวยมากอีกด้วย การถ่ายภาพเรื่องนี้ผมชอบมุมมองต่างๆ ที่ถ่ายออกมา ภาพสวย มุมกล้องดี มีมุมสูงบ้างต่ำบ้าง การเคลื่อนย้ายภาพอย่างช้าๆ ผ่านสิ่งกีดขวางต่างๆ ที่ดูมีมิติและให้ความรู้สึกร่วมในฉากนั้นๆ
บางช่วงบางตอนเมื่อเห็นแวบแรกก็ทำให้นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ที่มีตัวนำเรื่องชื่อ เจี๊ยบ กับ น้อยหน่า แม้จะไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่มุมกล้องก็ทำให้นึกถึง เช่น ฉากที่กะทิและทองถือถุงน้ำเดินคุยกัน, ตอนที่เล่นฟุตบอลกัน (ไม่รู้เป็นอะไรหนังเด็กส่วนมากมักจะมีฉากที่เด็กๆเล่นฟุตบอกกันเกือบทุกเรื่อง) ,หรือตอนที่มีรถจักรยานเยอะๆ เพียงแต่ในเรื่องนี้ไม่มีเสียงเพลง โอ้เย่ โอ้เย่ โอ้โอ้เย่ ก็เท่านั้นเอง
ในส่วนของนักแสดง น้องพลอย (ภัสสร คงมีสุข) ที่เล่นเป็นตัวกะทิทำได้ดีมาก เป็นตัวเดินเรื่องเกือบทั้งเรื่อง เล่นได้ดีแม้จะเป็นเรื่องแรกก็ตาม ส่วนคนอื่นๆ ก็เล่นดีบ้างหลุดบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าโอเค
โดยรวมๆ แล้ว หนังเรื่องนี้ผมว่ายังขาดการนำเสนอสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้อ่านหนังสือเรื่องนี้มาก่อน ใครที่เคยอ่านเรื่องนี้มาแล้วอาจจะรู้เรื่องได้ดี แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่านเรื่องนี้ ก็อาจจะงงเป็นไก่ตาแตกอยู่บ้าง เช่น ตกลงแม่ของกะทิป่วยเป็นอะไร? น้ากันต์ (กฤษดา สุโกศลแคลปป์-น้อยวงพรู), น้าฎา (เข็มอัปสร สิริสุขะ) ลุงตอง (ไมเคิล เชาวนาศัย) น้าๆ ลุงๆ เหล่านี้เป็นใครมาจากไหนอยู่ๆ ก็โผล่มา หนังเหมือนทำเฉพาะกลุ่มสำหรับคนที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาแล้วเท่านั้น และถึงแม้จะมีฉากเศร้าฉากซึ้งบางฉาก แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้น้ำตาไหลได้ แค่รู้สึกร่วมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเป็นฉากซึ้งก็จะแค่รู้สึกอบอุ่นเบาๆ การดำเนินเรื่องของหนังก็ดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ มาเรียงๆ เหมือนกับการอ่านหนังสือไปทีละหน้าๆ ถ้าเป็นคนเบื่อง่ายสักหน่อยก็อาจจะทำให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ "น่าเบื่อมาก" จะพาลให้หลับกลางเรื่องเอาได้ หนังไม่มีจุดที่ต้องทำให้จดจำเป็นพิเศษ นอกจากภาพที่สวยๆ เท่านั้น
หนังเรื่องนี้เป็นหนังดราม่าแฟมิลี่ ถึงแม้ตัวเดินเรื่องจะมีอายุเพียง 9 ขวบ ก็ไม่น่าใช่หนังเด็กแต่ประการใด เพราะว่าเรื่องนี้ต้องดูไปคิดไป เด็กส่วนน้อยนักที่จะดูแล้วเข้าใจในทีเดียว ตัวหนังเสนอมุมมองของผู้ใหญ่ที่มองเด็กมากกว่าที่เด็กจะมองเด็กด้วยกัน จึงเป็นหนังที่จะเข้าใจยากสักหน่อยสำหรับเด็ก เพราะว่าในแต่ละแง่มุมนั้นเมื่อดูแล้วจะต้องคิดตามเสมอ สารที่ต้องการสื่อ ความสุข ความทุกข์ ความตาย การได้มา การเสียไปความอมอุ่นที่ได้รับจากคนรอบข้าง ล้วนแล้วแต่ต้องคิดทั้งนั้น เมื่อดูแล้วต้องคิดตามเสมอจึงจะอินตามหนังตามบท ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นัก (เด็กๆ มักชอบเรื่องที่สนุกๆ ตื่นเต้น เร้าใจ ) เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นหนังที่ไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน คนที่ดูและคิดตามได้ทันเท่านั้นจึงจะซาบซึ้งไปกับหนังเรื่องนี้ ดีหน่อยตรงที่ว่า ในหนังเรื่องนี้มีบทพูดเกี่ยวกับหลักธรรมไว้เยอะ
สรุปแล้ว ที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่ได้หมายความว่าหนังเรื่องนี้ไม่ดีแต่ประการใด เพียงแต่มองเห็นจุดเล็กๆ ที่สามารถบอกกันได้เท่านั้น มีภาพยนตร์อีกหลายๆ เรื่องของไทยเราในอดีตที่ทำดีและมีคุณภาพ แต่ไม่ค่อยมีคนดูหรือไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องของรายได้ แต่เรื่องรางวัลนั้นก็ได้มากพอสมควร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะจุดเล็กๆเหล่านี้ ก็แค่อยากบอกต่อกันฟัง ผมในฐานะที่เป็นคนที่ชอบดูหนังคนหนึ่งก็อยากจะเห็นหนังที่ดูแล้วเข้าใจง่ายๆ บันเทิง สนุก มีสาระมากน้อยตามประเภทของหนัง และเชื่อว่าหนังเรื่องความสุขของกะทินี้ ก็เป็นหนังที่มีคุณภาพดีอีกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ดูยากไปสักนิดสำหรับเด็กจริงๆ ไม่ผิดอะไรถ้าคนที่ไปดูหนังเรื่องนี้แล้วชอบขึ้นมาหรือไม่ชอบขึ้นมา ก็แล้วแต่คนๆไป แต่สำหรับผมหนังจะดีหรือไม่ดี ยังไงโดยส่วนตัวผมแล้วก็ยังสนับสนุนหนังไทยเต็มที่เหมือนเดิมครับ
บทวิจารณ์โดย TCK Email : TCK05@sanook.com