วิจารณ์หนัง THE DAY THE EARTH STOOD STILL
นี่เป็นหนังฟอร์มยักษ์ส่งท้ายปีอีกเรื่องที่ผมอยากดูตั้งแต่เห็นหนังตัวอย่างเมื่อหลายเดือนก่อนที่ชวนน้ำลายสอมาก ดูเป็นหนังที่น่าจะมันส์สะบัดช่อ แถมมีคีอานู รีฟแสดงนำด้วย ในใจก็คิดว่าคงจะมีปรัชญาอะไรแอบแฝงอยู่แบบในเรื่อง The Matrix หรือเปล่า และยิ่งทำผมใจจดใจจ่ออยากดูขึ้นอีกเป็นกองเมื่อเห็นคนสนใจมาดูกันเต็มโรง เบียดเอาผมไปนั่งอยู่เกือบจะแถวหน้าสุดของจอ นั่งริมอีกต่างหาก ทำเอาเมื่อยคอไปเหมือนกัน เพราะหันอยู่ข้างเดียวกว่าหนังจะจบ
ผมเพิ่งมารู้ภายหลังหาข้อมูลก่อนจะไปดูภาพยนตร์เรื่อง THE DAY THE EARTH STOOD STILL ว่ารีเมคมาจากหนังไซไฟคลาสสิคชื่อเรื่องเดียวกันที่ออกฉายในปี 1951 ของผู้กำกับโรเบิร์ต ไวส์เจ้าของหนังเพลงรางวัลลออสการ์ที่โด่งดังสุดๆอย่างเรื่อง The Sound of Music ซึ่งเป็นผู้สร้างหนังระดับตำนานของฮอลลีวูดอีกคนหนึ่ง
เรื่องราวของ คลาทู (คีอานูฟ รีฟ) มนุษย์ต่างดาวที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ต่างจากชาวโลก เดินทางมากับวัตถุประหลาดทรงกลมขนาดใหญ่ ซึ่งทีแรกเหล่านักวิทยาศาสตร์เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอุกาบาตที่จะเข้ามาพังพินาศโลกให้ถึงจุดสิ้นสูญ จากนั้นก้อนกลมยักษ์ก็หยุดอยู่ที่สวนกลางเมืองหลวงสหรัฐอเมริกา ดร.เฮเลน เบนสัน (เจนนิเฟอร์ คอลเนลลี่)นักวิทยาศาสตร์สาวได้เผชิญหน้ากับคลาทู การโผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยของมนุษย์ต่างดาวช่วงต้นเรื่อง ได้สร้างความตกตะลึงกับผู้พบเห็น จากนั้นก็เกิดเหตุร้ายขึ้น เมื่อทหารคนหนึ่งยิงปืนใส่คลาทูด้วยความกลัว จนทำให้หุ่นยนต์ยักษ์ที่เปรียบเสมือนบอดี้การ์ดออกมาตอบโต้และปกป้องเขา เหล่าแพทย์จึบเร่งช่วยพยาบาลคลาทู และคุมเขาไว้ให้อยู่ในการดูแลของกองทัพ
การมาโลกของคลาทูมีความประสงค์หลักคือการนัดประชุมกับผู้นำทั่วโลกและกล่าวเตือนถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อโลก แต่กลับไม่เป็นผล ไม่มีใครรับฟังเขาเลย เฮเลนจึงช่วยเหลือเขาจากเงื่อมมือทหารที่ต้องการจับกุมเขาไว้เพื่อเค้นความจริง มีเพียงเฮเลนคนเดียวที่แสดงความเป็นมิตรและรับฟังเหตุผลการมาเยือนโลกของเขา และดูเหมือนว่าคลาทูเองก็จะรับฟังชาวโลกผ่านเฮเลนเช่นกัน
บทคลาทูในเรื่องเทียบได้กับผู้ตรวจข้อสอบว่าจะให้ชาวโลกว่าจะสอบผ่านหรือไม่ โดยทิ้งผู้สังเกตการชาวจีนไว้ เพื่อเรียนรู้ ศึกษา ลักษณะธรรมชาติของมนุษย์แล้วคอยรายงานผล ถ้าหากชาวโลกสอบไม่ผ่านขึ้นมา คลาทูก็จะเปลี่ยนหน้าที่จากตรวจสอบเป็นโนอาร์ผู้ช่วยโลกแทน
เมื่อเรื่องดำเนินไป ปมสงสัยต่างๆเกี่ยวกับการมาเยือนโลกของเอเลี่ยนก็ค่อยๆคลี่คลาย ก่อนจะสู่ไคลแม็กซ์ที่คอหนังแนว Disaster Movie อย่างผมรอคอย แม้หนังจะมีฉากภัยพิบัติโชว์สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ในวันพิพากษามนุษย์โลกน้อยกว่าที่คาดคิด แต่ก็ทำออกมาได้น่าตื่นตาตื่นใจระดับพอควร
ด้วยความที่ตัวหนังเองไม่ใช่ภาพยนตร์เน้นภัยพิบัติที่เสนอภาพทำลายล้างโลกวินาศสันตะโรอย่าง ID4 หรือ WAr of the Worlds แต่หนังเน้นไปที่เนื้อหาแฝงความหมายที่ต้องการสื่อ จะเรียกว่าเป็นหนังมนุษย์ต่างดาวแนวปรัชญาก็คงไม่ผิดเพี้ยนสักเท่าไร ที่เปิดประเด็นให้เห็นเรื่องความไม่ไว้วางใจ ความกลัว ความรุนแรง การรับฟังความคิดเห็น และความหวัง อันที่จริงแล้วคลาทูในเรื่องไม่ได้มาเพื่อทำลายโลก แต่กลับมาเพื่อปกป้องโลกจากมนุษย์ที่มีพฤติกรรมรุนแรง ชอบทำร้ายกันเอง เป็นอันตรายต่อโลก ในฉากหนึ่งที่รองประธานาธิบดีถามคลาทูว่าคุณมาทำอะไรที่ดาวของเรา แต่คลาทูถามกลับอย่างมีเชิงว่าดาวของคุณ? เหมือนกับจะตอบว่าแน่ใจหรือว่านี่เป็นดาวของคุณ แล้วทำไมมนุษย์โลกจึงทำร้ายที่ที่อาศัยอยู่ได้ลงคอขนาดนี้ และเมื่อไม่มีใครรับฟังคำเรียกร้องจากเขา เนื่องด้วยความไม่ไว้วางใจ คลาทูจึงหลบหนีเพื่อหาทางส่งสารเตือนแก่ผู้ที่มีอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้เอง
ในหนังฉบับรีเมคมีความแตกต่างในเรื่องบทของตัวละคร ในต้นฉบับคลาทูหนีไปปะปนกับชาวโลกและไปเช่าห้องพักในบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีคนเช่าอยู่ร่วมกันหลายคน หนึ่งในนั้นคือเฮเลนพร้อมลูกติดบ็อบบี้ เบนสัน คลาทูภายใต้ชื่อปลอม คือมิสเตอร์ คาเพนเตอร์ สนิทสนมกับเด็กชายบ็อบบี้อย่างดี แต่ตรงกันข้ามในฉบับสร้างใหม่ที่ลูกชายเฮเลนกลับไม่ชอบหน้าคลาทูเอาซะเลย ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครน้อยลง ทำให้ความเป็นดราม่าจึงลดทอนลงจากต้นฉบับด้วย อารมณ์ดราม่าดูขาดความสมจริง และถูกทดแทนด้วยความตื่นเต้นที่ขายได้กับตลาดผู้ชมกลุ่มใหญ่
ความไม่น่าเชื่อถือในอารมณ์ดราม่าประกอบกับฉากภัยพิบัติอันน่าตื่นเต้นน้อยไปนิด ทำให้หนังดูกลางๆไม่ดีเด่นไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่หนังยังรักษาคุณค่าทางความคิดจากต้นฉบับไว้แทบครบถ้วนไม่ต่างกัน
ในตอนท้ายของเรื่องที่เสนอภาพให้เห็นว่าคนทั่วโลกหยุดนิ่งแข็งทื่อเป็นตอไม้ เหมือนกับหนังจะบอกกับเราว่าควรหยุดสนใจเรื่องของตัวเอง แล้วหันมาเปิดใจรับฟังปัญหาส่วนรวมรอบตัวกันบ้าง ว่าวิกฤติแค่ไหนแล้ว ดูไปก็คล้ายๆกับสถานการณ์ปัจจุบันในเราที่ย้ำแย่เต็มกลืนซะจริงๆ ความเสื่อมโทรมของบ้านเมือง ถ้าเราไม่แก้ไข จะรอให้มนุษย์ต่างดาวมาช่วยหรืออย่างไร เหตุใดเราจึงไม่ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไป
หรือต้องรอให้ปากเหวมาอยู่ตรงหน้าเสียก่อน จึงจะรู้สำนึกแล้วเริ่มปรับปรุงสักที
บทวิจารณ์โดย Manasuk